เริ่มแล้ว! ปลัดสธ.หัวโต๊ะประชุมนัดแรกแก้ปัญหาภาระงาน 9 วิชาชีพ

ภาระงาน

ภาระงาน-เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เชิญทุกวิชาชีพมาประชุมหารือและหาแนวทางในการแก้ปัญหาบุคลากร โดยเฉพาะเรื่องภาระงาน ซึ่งมีตัวแทน 9 วิชาชีพที่เกี่ยวข้อง คือ แพทยสภา สภาเภสัชกรรม ทันตแพทย พยาบาล กายภาพบำบัด นักเทคนิคการแพทย์ สาธารณสุขชุมชน แพทย์แผนไทย นักวิชาการสาธารณสุขและนักรังสีเทคนิคการแพทย์ เพื่อหารือให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพโดยมีการให้บริการที่เป็นมาตรฐาน รวมทั้งบุคลากรก็ต้องมีเวลาทำงานที่เหมาะสม มีความสุขในการทำงาน โดยทุกวิชาชีพเองก็มีความสำคัญ มีการทำงานร่วมกันเป็นทีม และแต่ละวิชาชีพก็มีการทำงานหนักที่แตกต่างกัน โดยปกติการทำงานคือ 40 ชั่วโมง และในบางวิชาชีพก็ทำงานล่วงเวลาได้ถึง 40 ชั่วโมง ก็ต้องมีการปรับเวลาให้เหมาะสม

“เบื้องต้นทุกคนมีความเห็นพ้องว่าเราจะร่วมกันแก้ปัญหาไปด้วยกัน โดยควรมีการจัดรูปแบบเวลาทำงานที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้เราสามารถกำหนด คำนวณจำนวนบุคลากรที่เหมาะสมได้ โดยเบื้องต้นได้ขอให้วิชาชีพต่างๆ จัดทำข้อมูลรายละเอียด และนัดหารือกันอีกครั้งใน 2 สัปดาห์ ซึ่งแน่นอนว่าครั้งเดียวคงยังไม่จบ ต้องหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันให้ได้ โดยเมื่อได้ข้อมูลก็จะนำเสนอเชิงนโยบายต่อไป ซึ่งย้ำว่าเราจะมองทุกมิติร่วมกัน เพื่อกำหนดเป็นแผนพัฒนาบุคลากร และจะทำให้ทราบว่า รพ.ในแต่ละระดับควรมีบุคลากรเท่าไหร่ และควรจัดรูปแบบการทำงานเป็นทีมอย่างไร การกำหนดกลุ่มการทำงานอย่างเหมาะสม เป็นต้น” ปลัด สธ.กล่าว และว่า นอกจากนี้ สธ.มองว่าหลายวิชาชีพเองทำงานด้วยความเสียสละ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจากรถฉุกเฉินจนทำให้บุคลากรเสียชีวิต เรื่องนี้ทางกระทรวงก็พยายามปรับระบบ เราก็พยายามดูแลเพื่อให้บุคลากรมีความมั่นใจว่ารถพยาบาลมีความปลอดภัย และมีมาตรฐานในการส่งต่อผู้ป่วย รวมทั้งเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ทางกระทรวงก็พร้อมจะให้การดูแลเยียวยา ซึ่งกำลังหาทางในการช่วยเหลือให้เป็นระบบมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าสำหรับภาระงาน อย่างกรณีของหมอ จะยึดประกาศของแพทยสภาหรือไม่ นพ.สุขุมกล่าวว่า แพทยสภามีความชัดเจนอยู่ ซึ่งได้เสนอมาตรฐานแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือแพทย์ฝึกหัดว่าควรทำงานตามกรอบเวลาอย่างไร แต่เรามาเพิ่มเติมไม่ใช่แค่แพทย์ฝึกหัด แต่จะรวมแพทย์ทุกสาขา ทุกด้านให้หมด ซึ่งแพทยสภาก็รับปากว่าจะร่วมมือกับเราในการศึกษา สำรวจ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณอีก 2 สัปดาห์เพื่อนำข้อมูลมาเสนออีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่าสำหรับพยาบาลที่มีการเรียกร้องว่าควงเวรทำงานเยอะมาก นพ.สุขุมกล่าวว่า สธ.มีการดูภาระงานของพยาบาลเช่นกัน โดยจะพิจารณาว่างานไหนเป็นงานของพยาบาลที่แท้จริงก็ต้องทำ อันไหนเป็นบทบาทเสริมของข้าราชการหรือเป็นการเสริมช่วยวิชาชีพอื่นก็ต้องช่วยกันดูเพื่อให้เกิดความสมดุล ไม่ใช่ทุกอย่างต้องมาที่พยาบาลหมด ต้องเกลี่ยงานอย่างเหมาะสมด้วย

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ผ่านมามีการกระจุกตัวของแพทย์พยาบาล ปัญหาภาระงานต้องดูในเรื่องของการกระจายบุคลากร นพ.สุขุมกล่าวว่า อย่างที่เรียนว่าในกระทรวงสาธารณสุขได้มีการคำนวณค่า FTE หรืออัตรากำลังตามภาระงานอยู่แล้ว ก็จะมีการกำหนดว่าควรต้องทำงานที่ไหนอย่างไร แต่ปัจจุบันแพทย์ของหน่วยงานรัฐ มีทั้งแพทย์ที่อยู่ในกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศกับแพทย์ภาครัฐที่ทำงานในหน่วยงานอื่น เช่น โรงเรียนแพทย์ ซึ่งต้องอยู่ในจังหวัดใหญ่ๆ ก็อาจจะดูเหมือนแพทย์กระจุก แต่ขณะเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับภารกิจของแต่ละคน แต่ทั้งหมดทั้งปวง สธ.จะปรับปรุงโดยดูว่าจำนวนบุคลากรที่เราต้องการเป็นอย่างไรตามบริบทปัจจุบัน

เมื่อถามว่ากรณีที่ประชาชนมีความกังวลว่าหากมีการลดภาระงานแพทย์จะกระทบต่อการบริการหรือไม่ นพ.สุขุมกล่าวว่า การที่เราจัดภาระงานก็เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐานที่ดีขึ้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเวลาเข้ารับบริการจะมีแพทย์ที่มีความพร้อมในการให้บริการด้วย หากมีภาระงานมากไป บางทีแพทย์พักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะทำให้เสียเวลาในการดูแลคนไข้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image