‘เอ็มเทค’ วิจัยน้ำยางข้นสูตรใหม่ ลดสารแอมโมเนีย ใช้ผลิตหมอน-ที่นอน

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม จังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬ และหน่วยงานราชการและภาคเอกชน ร่วมจัด “งานวันยางพาราบึงกาฬ 2562” ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จ.บึงกาฬ บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชน เกษตรกรชาวสวนยาง นักเรียน นักศึกษาในจังหวัดบึงกาฬและจังหวัดใกล้เคียงทยอยร่วมงานและเข้าชมนิทรรศการในโซนต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะโซนบึงกาฬรวมใจ เทิดไท้องค์ราชา ซึ่งอยู่บริเวณทางเข้างาน มีการจัดแสดงสวนไฟเฉลิมพระเกียรติ พร้อมด้วยนิทรรศการ “ปกแผ่นดิน…บดินทร”, นิทรรศการภาพกิจกรรมจิตอาสาโครงการ “เราทำความดีด้วยหัวใจ” และภาพที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวบึงกาฬ ซึ่งล้วนเป็นภาพหาชมได้ยาก

เวลา 14.00 น. มีการจัดเสวนา “น้ำยางพาราข้นสูตรใหม่ เพื่อผลิตหมอนและที่นอนยางพารา” โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

น.ส.ปิยะธิดา สุวรรณดิษฐากุล ผู้ช่วยผู้วิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวว่า หนึ่งในงานวิจัยหลักของเอ็มเทคคือการพัฒนาสูตรสารรักษาสภาพน้ำยาง ซึ่งเปรียบเหมือนสารกันบูด โดยโรงงานผลิตภัณฑ์ต้องการที่จะยืดอายุยางเพื่อสามารถบริหารจัดการในการแปรรูปได้อย่างน้อย 3 เดือน หรือนานสุดคือ 6 เดือน โดยปกติน้ำยางข้นจะมีสารกันบูด คือ แอมโมเนีย และ TMTD ซิงค์ออกไซด์ หรือยาขาว ที่จะต้องใส่ลงไปในน้ำยาง ซึ่งแอมโมเนียมีกลิ่นฉุน ระเหยได้ ถ้าใช้ปริมาณมาก เช่น ในโรงงาน ไอระเหยของแอมโมเนียสามารถกัดกร่อนโครงสร้างของโรงงานได้ ส่วน ที่ TMTD ซิงค์ออกไซด์ สามารถแปลงสภาพเป็นสารก่อมะเร็ง ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์น้ำยางข้นที่เอาไปทำผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์หรือจุกนมเด็กก็จะหลีกเลี่ยงการใช้สารนี้

“เอ็มเทคมีงานวิจัยหลักคือ ทำสารรักษาสภาพน้ำยางข้นที่ปราศจากแอมโมเนีย โดยในตลาดจะมีน้ำยางข้นอยู่ 3 ระดับ คือ แอมโมเนียสูง แอมโมเนียกลาง และแอมโมเนียต่ำ แต่ของเราจะมีปริมาณแอมโมเนีย TMTD ซิงค์ออกไซด์ ต่ำกว่าตลาด”

Advertisement

นอกจากนี้ น.ส.ปิยะธิดายังกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการทำหมอนและที่นอนยางพาราว่า เริ่มจากสหกรณ์แพรกหา จ.พัทลุง ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่เกษตรกรชาวสวนยางรวมตัวกันผลิตภัณฑ์หมอนยางพาราเหมือนที่ จ.บึงกาฬ ซึ่งเดิมรับน้ำยางข้นจากโรงงานมาทำหมอน จากนั้นสมาชิกสหกรณ์จึงมีแนวคิดว่า ทำไมไม่ผลิตเอง เพราะต่างก็มีสวนยางอยู่แล้ว จึงกู้เงินเพื่อทำโรงงานน้ำยางข้นเอง และนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์โฟมยาง ทำให้ไม่ต้องเสียค่าการตลาด สามารถลดต้นทุนได้ส่วนหนึ่ง จากนั้นกลุ่มสหกรณ์ก็ติดต่อมาที่ ผอ.ศูนย์วิจัยของเราเพื่อขอให้นักวิจัยลงไปช่วย

“เราจะสอน 1.การแปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้น 2.ทดสอบน้ำยางสดและน้ำยางข้น ว่ามีคุณสมบัติอะไรบ้าง นี่คือขั้นต้นที่ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไร เพียงแค่สอนให้รู้ขั้นตอน แต่เรามีการวิจัยสารรักษาสภาพน้ำยางอยู่แล้ว จึงไปขอลองปั่นโฟมยางเป็นหม้อ แบบชาวบ้าน ไม่ได้ใช้เทคโนโลยี ว่าจะสามารถเป็นผลิตภัณฑ์โฟมได้หรือไม่ ระหว่างที่ปั่นหม้อก็มองเห็นว่า 1.เขาต้องการเอาน้ำยางมาลดปริมาณแอมโมเนีย ก่อนจะเอาไปใส่สารเคมีเพื่อทำหมอน 2.ถ้าวันไหนที่อุณหภูมิภายนอกสูงต่ำไม่เท่ากันก็จะเกิดปัญหาเรื่องกระบวนการผลิต เพราะแต่ละวันปริมาณแอมโมเนียจะระเหยได้ไม่เท่ากัน จึงส่งผลต่อกระบวนการผลิต ซึ่งจากที่ได้คุยกับผู้จัดการสหกรณ์ เขาบอกว่าขนาดโรงงานเล็กๆยังต้องสต๊อกน้ำยางเพื่อให้พอการผลิตต้องใช้เงิน 3 ล้านในการหมุนเวียน เพราะการผลิตน้ำยางข้นไม่สามารถใช้ได้เลยต้องบ่มไว้ 21 ซึ่งต้องใช้พื้นที่สำหรับเก็บน้ำยางข้น ถ้าหากวันไหนน้ำยางมากเกิน แท็งก์ที่เก็บเต็มก็ต้องมีภาระในการระบายน้ำยางด้วยการหาที่รับซื้อ”

Advertisement

น.ส.ปิยะธิดากล่าวอีกว่า ได้ไปคุยเพื่อเสนอว่าจะช่วยทำ 1.น้ำยางที่มีแอมโมเนียต่ำ เพราะไม่ต้องจัดการเรื่องอุณหภูมิที่มีความแปรปรวน ซึ่งจะส่งผลต่อกระบวนการผลิต 2.สามารถปรับเสถียรภาพของน้ำยางให้ผลิตแล้วสามารถใช้ได้เลย ไม่ต้องเก็บ 21 วัน และ 3.TMTD ซิงค์ออกไซค์ ต่ำกว่าปกติ 30 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นก็ได้ทดลองประมาณ 1 ปีแล้ว สามารถขึ้นรูปได้ ทำเป็นหมอนโฟมได้ เรียกได้ว่าหมอน 300ใบที่ผลิตในแบบเดียวกัน เสียอยู่แค่ 2-3 ใบ จากปกติจะสูญเสียประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image