‘หมอธีระวัฒน์’ ตั้งคำถามสำคัญการทำงานของ อย. หลังงานสัมมนาขรก.ตุลาการ

เมื่อวันที่ 26 เมษายน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก  ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha  ระบุว่า

การวางระบบกัญชาจะเป็นบทพิสูจน์ครั้งยิ่งใหญ่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าทำงานเป็นปัญหาที่ต้องเกิดขึ้นแน่ คือ หลังวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 คนป่วยที่ใช้อยู่แล้วได้ประโยชน์อยู่แล้ว จะไม่มีของใช้ เพราะของจะถูกริบเข้าระบบหมด  คนที่เพาะปลูกสกัดรายบุคคลที่เอาไปให้คนในครอบครัวหรือเพื่อนบ้านในพื้นที่จะผิดกฏหมาย

สิ่งที่ทางการฝันว่า จะเอาของที่ยึดมา เข้าระบบกลาง นำมาแจกจ่าย จะไม่มีวันพอแน่ และคนที่ปลูกสกัด รายย่อยอาจจะไม่มีปัญญาไปจับคู่เข้าสหกรณ์ชุมชนเอง

ท่านเลขาธิการ อย ประกาศแล้วในงานสัมมนาข้าราชการตุลาการกระทรวงยุติธรรมในวันที่ 26 เมษายน 2562 ว่า อย. มีเป้าหมายให้คนไทยทุกคนสามารถใช้กัญชาได้โดยปลอดภัยและถูกต้องผ่านบัตรทองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นการตัดพ่อค้านายทุนที่เอาเปรียบ โกงราคา ขายของไม่มีคุณภาพ

Advertisement

การที่จะทำได้เช่นนั้นจะต้องมีกระบวนการระบบออนไลน์ให้ผู้ป่วยและผู้เพาะปลูกสก้ด จะเป็นรายบุคคล รายย่อย รายใหญ่ก็ตามรายงานเข้าสู่ระบบ เป็น one stop service ตามที่ตกลงกันไว้ คือ สำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์
ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เสนอระบบของชาติทั้งเรื่องยาผลิตภัณฑ์และเรื่องกัญชา

และ อย. จะสามารถได้ข้อมูลจริงรวมทั้งสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของกัญชาและความสามารถกัญชาได้ในเวลารวดเร็ว และเป็นการเอาขึ้นบก ให้ถูกกฎหมายและอนุโลมให้สามารถปฏิบัติเพราะเป็นเรื่องของการช่วยเหลือการเจ็บป่วย ในขณะเดียวกันจับคู่บุคคลรายย่อยให้เข้ากับสหกรณ์โดยอัตโนมัติและจับคู่เข้ากับแพทย์แผนปัจจุบัน ทันต เภสัช ในพื้นที่ใกล้เคียง

แผนการของ อย. ต้องไม่หยุดชะงักเนื่องจากมีมหาวิทยาลัยบางแห่งออกมาแสดงตัวว่าจะทำการวิจัย ทั้งๆที่ไม่เคยรู้เรื่องกัญชา ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และยังจะมารื้อ ข้อบ่งใช้ของกัญชาซึ่งประกาศเป็นทางการแล้ว จากกระทรวงสาธารณสุข จากการสกัดจากกรมการแพทย์

Advertisement

การแยกตัวไม่ทำให้เป็นระบบกลางสมบูรณ์ทั้งประเทศแสดงให้เห็นถึงความไม่รู้เรื่องกัญชา ฉวยโอกาสเอาหน้า และทำให้กระบวนการใช้กัญชา ซึ่งรุดหน้าดีอยู่แล้ว ถอยหลังเป็นเหมือนเมื่อ 15 -20 ปีที่แล้ว

ถ้าอยากจะทำวิจัย ต้องมีความรู้ก่อนและต้องตระหนักว่าต้องเป็นการวิจัยต่อยอดเท่านั้น การวิจัยชนิดอื่นที่สามารถทำได้ คือ เก็บข้อมูลของผู้ป่วยขณะที่ใช้ และนำมาวิเคราะห์สังเคราะห์ให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และถ้านักวิชาการจะทำการวิจัยในเชิงลักษณะนี้ ต้องมีความรู้เรื่องตัวโรค สมุฏฐานของโรคอย่างดีไม่ใช่นั่งยกเมฆ ว่าเป็นโรคนั้น ทั้งๆที่ไม่เคยดูแลผู้ป่วย

ถ้าไม่รู้ว่าจะทำวิจัยต่อยอดอย่างไรน่าจะถอนตัวออกจากระบบ เพราะจะทำให้การขับเคลื่อนเรื่องกัญชาที่ถูกต้องปลอดภัยและมีประสิทธิภาพล่าช้าไปอีก

การสร้างมาตรการมาตรฐานระบบกัญชาประเทศ เป็นสิ่งที่สำนักอาหารและยาประกาศในแผนปฏิรูปประเทศตามราชกิจจานุเบกษา และกัญชาจะเป็นบททดสอบที่ดีว่าทำได้ทำเป็นและมีประสิทธิภาพอย่างที่ได้ประกาศไว้หรือไม่?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image