สธ.เล็งทำประกันให้ ‘หมอ-พยาบาล’ สกัดเหตุรุนแรงในห้องฉุกเฉิน จ่อจำกัดญาติคนไข้

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเสวนาปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉินและแนวทางแก้ไขปัญหาว่า ข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงในสถานพยาบาล ตั้งแต่ปี 2555-2562 มีจำนวนเพิ่มขึ้น สธ.จึงต้องดำเนินการเพื่อลดความรุนแรง เพิ่มความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา สธ.ได้สนับสนุนนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรง (Zero Tolerance Policy) โดยมุ่งหวังให้ขวัญกำลังใจแก่บุคลากรสาธารณสุข กำหนดจำนวนบุคลากรให้เหมาะสมกับภาระงาน และกำหนดเวลาทำงานของบุคลากรให้เหมาะสม พร้อมเร่งรัดให้สถานพยาบาลทุกแห่งดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยสถานพยาบาล โดยให้สถานพยาบาลทุกแห่งจัดทำแผนแนวทางป้องกันและจัดการความรุนแรง บูรณาการกับหน่วยงานด้านความปลอดภัย ชี้แจงให้บุคลากรเข้าใจและปฏิบัติตาม จัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะการป้องกันตัวเมื่อเผชิญเหตุ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ผู้รับบริการรับทราบ

นพ.สุขุมกล่าวว่า สำหรับมาตรการเพิ่มความปลอดภัยบริเวณห้องฉุกเฉิน คือจัดทำแนวทางปฏิบัติในการป้องกันและจัดการความรุนแรง ทบทวน ฝึกซ้อมและปรับปรุงเป็นประจำ โดยประสานกับตำรวจในท้องที่ จัดทำระบบควบคุมประตู (Double door with control Access) มีห้องหรือทางเข้า-ออกที่ปลอดภัยอย่างน้อย 2 ทาง จัดสถานที่สำหรับญาติจำกัดการเข้าออก ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และเพิ่มในจุดเสี่ยง เช่น บริเวณโถงทางเดิน ทางเข้า-ออกโรงพยาบาลในหอผู้ป่วยทุกแผนก จัดระบบคัดกรองผู้ป่วยสำหรับผู้ป่วยห้องฉุกเฉินทุกรายเพื่อการให้บริการที่เหมาะสม และมีการสื่อสารข้อมูลกับญาติผู้ป่วย จัดให้มีเวรยามรักษาความปลอดภัยประจำห้องฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง กริ่งสัญญาณเตือนภัย หรืออุปกรณ์ขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน มีช่องทางการสื่อสารรายงานเหตุด่วนแก่ตำรวจ เครือข่ายอาสาสมัคร มูลนิธิต่างๆ ในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาทำประกันพยาบาลและแพทย์ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ขณะปฏิบัติหน้าที่ในห้องฉุกเฉินอีกด้วย เช่นเดียวกับการออกมาตรการเยียวยารถฉุกเฉิน

“หากเกิดกรณีความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ ทรัพย์สินในสถานพยาบาล สถานพยาบาลมีสิทธิดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดกับผู้ก่อเหตุทันที โดยบังคับใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาด ม.360 ม.364 และ ม.365 โทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี นอกจากนี้ ขอความร่วมมือสื่อ สื่อสังคมออนไลน์ให้เสนอผลลัพธ์การลงโทษแทนการเสนอพฤติกรรม” นพ.สุขุมกล่าว

 

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image