กรมการแพทย์ จับมือ อภ.-แม่โจ้-มทร.ล้านนา พัฒนาสายพันธุ์ “กัญชา-กัญชง” เอ็มโอยู 8มิ.ย.

กรมการแพทย์-อภ.-แม่โจ้-มทร.ล้านนา จับมือพัฒนาสายพันธุ์ “กัญชา-กัญชง” “หมอธีระวัฒน์” หวั่นคนไข้ขาดแคลนระยะสั้น แนะปลดล็อกกัญชงแทนนำเข้าจาก ตปท. ชี้มีสาร “ซีบีดี” ไม่ต่างจากกัญชา

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการจัดหาสารสกัดน้ำมันกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ ว่า ในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ เวลา 10.30 น. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) รศ.วีระพล ทองมา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ รศ.ศิลศิริ สง่าจิตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา จะลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและกัญชงเพื่อใช้ทางการแพทย์ ที่กรมการแพทย์ สธ.

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานอยู่ระหว่างดำเนินการปลูกพืชกัญชา แต่ผลผลิตยังต้องรออีกหลายเดือน ส่วนกัญชาของกลางจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ล่าสุดมีการตรวจสอบคุณภาพแล้ว แต่พบว่าที่สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้มีจำนวนน้อยมาก อาจไม่เพียงต่อความต้องการของผู้ป่วยที่ใช้น้ำมันกัญชาในระยะสั้นนั้น เห็นว่าเรื่องนี้เป็นผลมาจากการที่ภาครัฐไม่ได้เตรียมการล่วงหน้า หลังออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7 ) พ.ศ.2562

“ดังนั้น ในการจัดหาน้ำมันกัญชามาใช้ในระยะสั้นๆ นี้ จำเป็นต้องพิจารณา 2 อย่าง คือ 1.แหล่งที่มาของน้ำมันกัญชาว่าสะอาดปลอดภัยหรือไม่ เพราะน้ำมันกัญชาใต้ดินมีคุณภาพ และประสิทธิภาพแตกต่างกัน มีทั้งเจือจางมากไปจนถึงเข้มข้นมหาศาล 30-50 เท่า และ 2.มีการใช้อย่างเหมาะสมกับแต่ละคนหรือไม่ มีข้อห้ามใช้หรือไม่ เช่น เป็นโรคทางจิตเวช ป่วยมีโรคประจำตัวที่ต้องใช้ยาบางตัว หรือยาหลายประเภท เพราะกัญชามีส่วนที่ทำให้ลดฤทธิ์ หรือเพิ่มฤทธิ์ของยารักษาได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวและว่า การจัดหาน้ำมันกัญชามาใช้ในช่วงระยะสั้น ในความคิดเห็นส่วนตัว ไม่ควรมีการนำเข้าอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะการนำเข้าสารสกัดกัญชาจากบริษัทที่เคยยื่นขอสิทธิบัตรกัญชาในประเทศไทย เพราะขณะนี้ทั้งกรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ก็มีการจัดหาสารสกัดน้ำมันกัญชาที่มีประสิทธิภาพอยู่เช่นกัน

Advertisement

นอกจากนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการปลูกพืชกัญชงในหลายพื้นที่ของประเทศไทยอยู่แล้ว ซึ่งกัญชงก็เป็นพืชที่ให้สารซีบีดี (CBD) ที่มีประโยชน์ต่อการรักษาโรค และคุณภาพไม่ได้แตกต่างจากสารซีบีดีที่ได้จากพืชกัญชา จึงเสนอว่าควรปลดล็อกกฎหมาย ให้สามารถนำพืชกัญชงมาสกัดเอาสารซีบีดีมาใช้ในระยะสั้นๆ ไปก่อนได้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการตามข้อเสนอนี้ อาจจะทำให้สังคมมองได้ว่ามีความตั้งใจจะนำเข้าสารสกัดกัญชาตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานใดต้องการจะนำเข้าน้ำมันกัญชาจริง จะต้องมีเหตุผลที่ดีพอด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image