จับตา ‘ฝน-ร้อน-ฝุ่น’ เขย่าโลก-กระหน่ำไทย

จะพูดว่า โลกนี้อยู่ยาก คงจะไม่ผิดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของดินฟ้าอากาศ ที่เรามักจะเจอความแปรปรวนอยู่เสมอๆ โดยความแปรปรวนของอากาศนั้นเกิดได้ทุกฤดูกาล

ศัพท์สภาพอากาศที่ได้ยินตามปกติ อาทิ “พายุฟ้าคะนอง” บางครั้งเรียกว่า “พายุไฟฟ้า” โดยทั่วไปเป็นพายุที่เกิดเฉพาะท้องถิ่น เกิดจากเมฆคิวมูโลนิมบัส มีฟ้าแลบกับฟ้าร้อง รวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ มักจะมีลมกระโชกแรงและฝนตกหนักเกิดขึ้น บางครั้งยังมีลูกเห็บตกลงมาด้วย พายุฟ้าคะนองนี้เป็นพายุที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาอันสั้น มีน้อยครั้งที่เกิดขึ้นนานกว่า 2 ชั่วโมง

หรือ “มรสุม” หมายถึง ลมประจำฤดู เป็นลมแน่ทิศ และสม่ำเสมอ เกิดจากสาเหตุใหญ่ๆ คือ ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของพื้นดิน และพื้นน้ำทำนองเดียวกับลมบกลมทะเล ในฤดูหนาวอุณหภูมิของดิน

ทั้งนี้ มรสุมที่มีกำลังแรงจัดที่สุด ได้แก่ มรสุมที่เกิดในบริเวณภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศเวียดนาม กัมพูชา ลาว ไทย มาเลเซีย พม่า บังกลาเทศ อินเดีย และปากีสถาน

Advertisement

โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของมรสุม ลมตะวันตกเฉียงใต้เริ่มต้นพัดเข้าสู่ภาคกลางของประเทศ ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงต้นเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระยะของฤดูฝน ต่อจากนั้นลมจะแปรปรวน และเริ่มเปลี่ยนเป็นทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณปลายเดือนตุลาคมไปจนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระยะเวลาของฤดูหนาว

“ฟ้าหลัว” หมายถึง ลักษณะของอากาศที่ประกอบด้วยอนุภาคของเกลือจากทะเลหรือมหาสมุทร หรือของควันไฟและละอองฝุ่นจำนวนมากมายล่องลอยอยู่ทั่วไปและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ทำให้มองเห็นอากาศเป็นฝ้าขาวในบรรยากาศที่มีฟ้าหลัวเกิดขึ้นจะทำให้ทัศนวิสัยลดลงแม้ในอากาศดี ฟ้าหลัวธรรมดาจะทำให้ทัศนวิสัยลดลงไปถึง 2 ใน 3 ของทัศนวิสัยปกติ

แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีคำศัพท์แปลกๆ ใหม่ๆ ซึ่งอธิบายถึงความไม่ปกติของอากาศ

Advertisement

ล่าสุด ที่กรมอุตุนิยมวิทยา และทางแบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ-รอม) ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) อธิบายเรื่องที่มาแห่งปรากฏการณ์ “ฝุ่นจิ๋ว” หรือฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน แพร่กระจายหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลอีกรอบ สาเหตุมาจากลมสงบ อากาศนิ่ง อันเป็นผลมาจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่แผ่ลงมาจากประเทศจีน

ทั้งที่ความจริงแล้ว ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงฤดูฝน จึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ความกดอากาศสูงหลงฤดู” หมายความว่า ปกติแล้วความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาช้ากว่านี้ และหลังจากที่ความกดอากาศสูงถอยกลับไปยังประเทศจีนช่วงปลายเดือนกันยายน ประเทศไทยตอนบนจะกลับมามีฝนตกอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง เพราะจะไม่มีตัวแปรอื่นๆ ที่ทำให้เกิดฝนตกหนักอีก

ช่วงเวลาที่อากาศนิ่งจากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศสูง ในขณะที่กิจกรรมต่างๆ อันก่อให้เกิดฝุ่น ทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น การก่อสร้าง การจราจรที่ติดขัดอย่างหนัก ยังเหมือนเดิม เมื่อไม่มีลมพัดพา อากาศแช่นิ่ง ฝุ่นก็ไม่ไปไหน ยังคงวนเวียนอยู่ในบรรยากาศนั่นเอง

เมื่อย่างเข้าฤดูหนาว หรือราวปลายเดือนตุลาคมต่อเนื่องพฤศจิกายน ที่จะเข้าสู่ฤดูฝน หลายๆ พื้นที่ยังคงมีฝนตกอยู่ ทั้งหนาวและฝนตกร่วมกัน เรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า “ฝนปนหนาว” ถือเป็นความแปรปรวนทางอากาศอีกรูปแบบหนึ่ง

พอถึงฤดูฝนเต็มตัว ซึ่งเมฆฝนส่วนใหญ่จะก่อตัวในช่วงเวลากลางวัน และฝนจะเริ่มตกในช่วงบ่ายถึงค่ำ เป็นปรากฏการณ์ปกติของฤดูฝน แต่บางช่วงเวลา ฝนจะตกทั้งวันทั้งคืนติดต่อกัน เรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า “ฝนแช่ตัว” ซึ่งหากปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ก็มีโอกาสสูงมากที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมขัง หรือ “น้ำรอระบาย”

ช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน อันเป็นฤดูร้อนของประเทศไทย ช่วง 10 ปีหลัง หลายพื้นที่จะพบกับอากาศร้อนมาก แบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน ร้อนแบบอบอ้าว เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนป่วย และผู้สูงอายุที่มีร่างกายอ่อนแอจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทาง สสน.อธิบายเรื่องคลื่นความร้อนว่า คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่สภาวะอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ มักเกิดในฤดูร้อน ที่มีอุณหภูมิอากาศสูงสุดและอาจมีความชื้นสูงร่วมด้วย ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นไม่เหมาะสมต่อสภาพร่างกายของผู้คุ้นเคยต่อสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น

การเกิดคลื่นความร้อนนี้อาจกินระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน หรือคงอยู่นานหลายอาทิตย์ ซึ่งอากาศร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่คลื่นความร้อน แต่เป็นอุณหภูมิของฤดูร้อน ที่สูงกว่าปกติ 1-2 องศาเซลเซียส

ยกตัวอย่าง เมื่อปี 2560 และปี 2561 มีฝนตกจากพายุฤดูร้อนบ่อยกว่านี้มาก จึงแทบจะไม่มีพื้นที่ใดมีภาวะภัยแล้งเลย แต่ปี 2562 ความกดอากาศสูงไม่มีความแรงมากพอ รวมทั้งกระแสลมใต้ และลมตะวันออกเฉียงใต้ ก็ไม่มีกำลังแรงมากนัก จึงมีปัจจัยไม่เพียงพอที่จะส่งให้พายุฤดูร้อนมาถึงกรุงเทพฯได้

พายุฤดูร้อนปีนี้ส่วนใหญ่จึงเกิดในแถบภาคอีสานลงมาไม่ถึงภาคกลางเท่าใดนัก ทั้งนี้ แม้บางวันจะเห็นท้องฟ้าครึ้ม ในพื้นที่กรุงเทพฯ คล้ายฝนจะตก แต่ก็ไม่ตก เป็นเพราะพื้นที่ในเมืองมีความร้อนค่อนข้างสูง ความชื้นจึงลอยตัวขึ้นสูงเร็วขึ้นและเคลื่อนที่ข้ามไปอยู่บริเวณ จ.ปทุมธานี หมด ฝนจึงยังไม่ตกในกรุงเทพฯ และคาดว่าตลอดทั้งเดือนเมษายน พื้นที่กรุงเทพฯ โอกาสที่จะมีฝนตกทั่วพื้นที่ยังมีน้อย หากเกิดฝนตกก็จะเป็นหย่อมๆ บางพื้นที่เท่านั้น

ความร้อนที่คนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนกรุงเทพฯ เผชิญที่ผ่านมานั้น จึงไม่ใช่ฮีตเวฟ หรือคลื่นความร้อน เพราะคลื่นความร้อนนั้นจะต้องมีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิปกติตั้งแต่ 5 องศาเซลเซียสขึ้นไป และต้องเกิดติดต่อกันตั้งแต่ 5 วันขึ้นไป

แต่คลื่นความร้อน เกิดขึ้นแล้วในประเทศแถบยุโรปหลายแห่ง เช่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร รวมไปถึงเอเชียอย่างญี่ปุ่น เป็นต้น

ปรากฏการณ์เกาะความร้อน หรือ “เกาะความร้อนเมือง” เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ คือการที่อากาศใกล้พื้นดินในเขตชุมชนเมืองที่มีอาคารบ้านเรือนและตึกสูงอยู่เป็นจำนวนมาก มีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณที่เป็นป่าไม้ที่อยู่ถัดออกไปรอบๆ

ทั้งนี้ กรุงเทพฯเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของโลก ที่มีโอกาสเกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อนได้โดยง่าย เนื่องจากการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น มีมลพิษที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงานเชื้อเพลิง และมีแหล่งไอเสียที่มาจากรถยนต์ ผลกระทบที่ตามมาที่สังเกตเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ความรู้สึกที่ร้อนขึ้นในแต่ละฤดูกาล

อาจจะยังไม่หมดแค่นี้สำหรับความแปรปรวนที่เราจะต้องเจอ เพราะพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของมนุษย์ทั่วโลก เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สมดุลของโลกเปลี่ยนไป ส่งผลให้ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เคยปกติก็เปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นทั้งความแปปรวน และหากความแปรปรวนนั้นมีความรุนแรงขึ้นก็จะกลายเป็นความวิกฤตในที่สุด!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image