ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกประสานเสียง เชื่อ! ไทย “เอาอยู่” คุม “ไวรัสอู่ฮั่น”

สัปดาห์ที่ผ่านมา คนไทยใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดผวา หลังประเทศถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มี “ความเสี่ยง” ลำดับต้นๆ ในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากสื่อระดับโลกหลายแห่ง เนื่องด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะจากเมืองอู่ฮั่น ที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยมากกว่า 20,000 คน

ด้วยระยะฟักตัวของโรคที่ใช้เวลานานกว่า 14 วัน และด้วยอาการของโรคที่ “ไม่แสดงออก” ทำให้ยากที่ระบบ “คัดกรอง” จะทำหน้าที่สแกนหาผู้ติดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้ผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน โดยไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในลำดับต้นๆ ตลอดเวลา ทำให้หลายคนเชื่อว่าในที่สุด ไทย จะไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ แม้ว่าไทยจะมี “ขีดความสามารถ” ในการจัดการกับโรคระบาดระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 โรคอีโบลา หรือโรคเมอร์ส มาแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกหลายคน กลับยังเชื่อมั่นศักยภาพของระบบสาธารณสุขไทย แบบเดียวกับที่ก่อนหน้านี้นิตยสาร CEOWorld ของไต้หวัน เคยจัดอันดับเมื่อปี 2561 ว่า ไทยมีขีดความสามารถ พร้อมรับมือกับโรคระบาดเป็นลำดับที่ 6 ของโลก

28 ม.ค.-2 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ซึ่งเป็นศูนย์รวมของผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสาธารณสุขทั่วโลกที่ประเทศไทย ท่ามกลางความ “เข้มงวด” ของระบบตรวจวัดไข้ และการคัดกรองโรค เพื่อลดความเสี่ยง ไม่ให้มีผู้ใด ได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ไปกระจายต่อ

Advertisement

หนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมคือ ศ.นพ.กาเบรียล เหลียงคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาระดับโลก ซึ่งเอ่ยปากชมประเทศไทยทันที หลังจากเข้าพบ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

“จากการติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผมคิดว่าไทยยังอยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ คือจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวัน ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก อย่างที่กลัวกันแต่แรก” กาเบรียลให้สัมภาษณ์

ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ ผู้ซึ่งเคยผ่านโรคระบาดทั้งโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก H5N1 ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ไข้หวัดนก H7N9 ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 5 ของการผ่านโรคเหล่านี้ เขาเชื่อว่าคนไทย มีประสบการณ์มากพอในการ “รับมือ” กับโรคระบาดระดับโลกแบบนี้

Advertisement

ก่อนหน้านี้ เขาประเมินแนวโน้มของ “ไวรัสอู่ฮั่น” ในทางที่ไม่เป็นบวกนัก โดยระหว่างการแถลงข่าวในฮ่องกง โมเดลคณิตศาสตร์ของกาเบรียลบอกว่า ระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค. อาจมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุดถึง 1.5 แสนราย ในเมืองใหญ่ทั่วจีน

แน่นอน การประเมินจำนวนผู้ติดเชื้อด้วยโมเดลคณิตศาสตร์ล่วงหน้า หมายความว่า โลกจะต้องเผชิญกับไวรัสชนิดนี้อีกนานหลายเดือน และเป็นไปได้สูงว่าการแพร่ระบาดจะยาวนานกว่าโรคซาร์ส ซึ่งเกิดในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เมื่อ 17 ปีก่อน โดยขนาดนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อได้แซงสถิติของโรคซาร์สไปเรียบร้อย

สำหรับความแตกต่างของไวรัสโคโรนา 2019 กับโรคซาร์ส เมื่อ 17 ปีก่อนนั้น ศ.นพ.กาเบรียลบอกว่า โรคนี้น่ากลัวกว่า เพราะไม่มีอาการ “ไข้” แสดงออกชัดเจนแบบซาร์ส และไวรัสโคโรนา 2019 ก็คล้ายคลึงกับ “หวัด” ปกติ คือเมื่อผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอ ก็สามารถแพร่เชื้อต่อได้ทันที ทั้งที่ก่อนหน้านี้ อาจไม่มีอาการอะไรบอกล่วงหน้า ซ้ำระยะเวลาการฟักตัวก็ยาวนานมาก

ขณะเดียวกัน ยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามใหม่ๆ อย่าง “ข่าวปลอม” ที่น่ากังวล และสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น ซึ่งกลายเป็น “ภาระ” ใหม่ให้กับบุคลากรสาธารณสุข ในการตั้งรับกับข่าวปลอมเหล่านี้ และต้องใช้เวลามากขึ้นกับการสื่อสารเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะตื่นตระหนก แทนที่จะใช้เวลาทั้งหมดที่มี ในการตั้งรับกับไวรัสอู่ฮั่น

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
 

ทั้งนี้ ในฐานะนักระบาดวิทยา สิ่งที่ ศ.นพ.กาเบรียลแนะนำกับประชาชนทั่วไปคือ ต้องล้างมืออย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงในที่ที่ผู้คนพลุกพล่าน ใส่หน้ากากอนามัย และที่สำคัญคือ “ห้ามจับมือ” หรือ “เชคแฮนด์”โดยเด็ดขาด

“สิ่งที่อยากแนะนำก็คือ ควรเปลี่ยนวิธี ‘ทักทาย’ ใหม่ ให้ใช้ข้อศอกแตะกันแทน เพราะข้อศอกสัมผัสกับเชื้อโรคน้อยกว่ามือ” ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาฮ่องกงระบุ

ขณะที่ ศ.นพ.ลินคอล์น เชน ประธาน China Medical Board ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระหว่างประเทศ และอดีตศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า โดยส่วนตัวเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของไทย เพราะมีการคัดกรองหลายระดับ มีความพร้อมทั้งในระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลจังหวัด ที่สามารถรับมือกับการเกิดโรคระบาดอย่างไวรัสโคโรนาได้แน่นอน

“ประเทศไทยนั้นยิ่งกว่าพร้อมในการรับมือปัญหาโรคระบาด เพราะโดยพื้นฐานนอกจากจะมีโรงพยาบาล มีสถานบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพแล้ว ยังมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวนมาก ซึ่งพร้อมทำงานทันที เอาเข้าจริง ผมไม่เป็นห่วงประเทศไทย แต่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และรอบๆ นี้ น่ากังวลมากกว่าว่าพวกเขาจะสามารถจัดการได้หรือไม่” ศ.นพ.ลินคอล์นกล่าว

ในฐานะแพทย์ และต้องเดินทางไป-กลับ ระหว่างจีนและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกสม่ำเสมอ ศ.นพ.ลินคอล์นบอกว่า สถานที่ที่ “น่ากังวล” ต่อการแพร่เชื้อมากที่สุดคือสนามบิน และบนเครื่องบิน ซึ่งเป็นศูนย์รวมของนักเดินทางทุกเชื้อชาติ โดยเฉพาะสนามบินในไทย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจีนทั้งประเทศ รวมถึงจากพื้นที่เสี่ยงอย่าง “อู่ฮั่น” และมณฑลหูเป่ย์ เข้า-ออก เป็นจำนวนมาก ย่อมเสี่ยงต่อเชื้อไวรัสมากกว่าพื้นที่สาธารณะอื่นๆ

“เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าออกสนามบิน หรือต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ก็ขอให้ใส่หน้ากากอนามัยไว้เสมอ เพื่อป้องกันการติดต่อทางสารคัดหลั่ง” ศ.นพ.ลินคอล์นกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image