สธ.วางระบบรับผู้ป่วยโควิด-19 ใช้ ‘รพ.ราชวิถี’ เป็นแม่ข่ายกรุงเทพฯ-ปริมณฑล รู้ยอดคนไข้-เตียงว่าง

วันที่ 19 มีนาคม นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำคณะไปตรวจเยี่ยมระบบบริหารจัดการรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่โรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี โดย รพ.ราชวิถี ได้เปิดศูนย์บริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ห้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อ (Cohort Ward) และ ARI Clinic เพื่อวางแผนล่วงหน้ารองรับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยด้วยแพลตฟอร์ม ผ่านเว็บไซต์ cov19bkkrm.dms.go.th/covid/ ซึ่งระบุทั้ง ชื่อโรงพยาบาล ยอดผู้ป่วยสะสม ทั้งชนิด Positive และ PUI รวมทั้งจำนวนเตียงผู้ป่วยที่แอดมิด และจำนวนเตียงในโรงพยาบาล

นายสาธิต กล่าวว่า เนื่องจากผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สธ.ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์จัดระบบการรักษาพยาบาล เตรียมความพร้อมสำหรับสถานพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในกรณีที่มีการระบาดเกิดขึ้น จึงได้ให้โรงพยาบาลในเครือข่ายขยายพื้นที่และบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม เพื่อการวินิจฉัยและตรวจทางห้องปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเตรียมการระบบส่งต่อผู้ป่วยและบริหารทรัพยากรเตียงร่วมกันอย่างรวดเร็วและทั่วถึง โดยบูรณาการความร่วมมือของโรงพยาบาลในสังกัด สธ. กรุงเทพมหานคร (กทม.) และโรงพยาบาลเครือข่าย UHOSNET ซึ่งจะมีปริมาณเตียงรองรับ ที่เพียงพอกับผู้ป่วย และหากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวดเร็ว จะมีการเตรียมแผนสำรอง เช่น ระบบโรงพยาบาลสนาม หรือผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงให้พักฟื้นในหอพักหรือโรงแรมทั้งตึก โดยมีทีมแพทย์พยาบาลคอยติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

Advertisement

“ขณะนี้ทราบว่าโรงพยาบาลเอกชนจะเข้ามาร่วมด้วย โดยสามารถเข้ามาใส่ชื่อโรงพยาบาล รหัส เตียงเพิ่มเติมได้ ขณะนี้มีประมาณ 400 เตียง มากกว่าจำนวนคนไข้ในสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้ง สธ.ยังได้มีการเตรียมแผนถัดไปไว้แล้ว โดยจะมีการเปิดห้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มเติม ซึ่งหากมีโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ เข้าร่วม ก็จะมีจำนวนเตียงรองรับผู้ป้วยเพิ่มขึ้น สำหรับ รพ.ราชวิถี มีห้องผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะ 22 เตียง ในหอผู้ป่วยแยกโรคติดเชื้อ 2 ซึ่งเป็นหอพิเศษที่มีระบบดูดอากาศ เครื่องมือแพทย์ และมีความพร้อมที่จะดูแลคนไข้อย่างเต็มที่” นายสาธิต กล่าวและว่า แพลตฟอร์มจะมีอัพเดทข้อมูลแบบเรียลไทม์ ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลร่วมเป็นจำนวนมาก รวมถึงโรงพยาบาลในต่างจังหวัด ซึ่งระบบยังแยกให้เห็นจำนวนเตียงภายในโรงพยาบาลทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด หลายสังกัด อาทิ รพ.เลิดสิน ของกรมการแพทย์ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช ของกองทัพอากาศ และ  รพ.ทหารอากาศ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เช่น วชิรพยาบาล รพ.ตากสิน ของ กทม. ฯลฯ ซึ่งประชาชนสามารถเลือกโรงพยาบาลได้ โดยขณะนี้ อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นแกนกลางในการประสานกับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อเตรียมรองรับการรักษาในกรุงเทพฯ สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่หนักเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับการคัดกรองในเบื้องต้น โรงพยาบาล ในสังกัด สธ.ทั่วประเทศ ได้จัดตั้งคลินิกไข้หวัด (Fever and ARI clinic) โดยใช้ระบบบริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว ไม่ให้ผู้ป่วยที่เข้าข่ายเฝ้าระวังไปปะปนกับผู้ป่วยทั่วไป เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ โดยจะใช้ รพ.ราชวิถีซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เป็นต้นแบบและหน่วยงานประสานหลักตั้งแต่จัดทำแผนรองรับ ระบบส่งต่อ คัดกรองผู้ป่วยซึ่งจะส่งผลให้เกิดแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

Advertisement

“หากพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จะใช้ระบบห้องแยกโรค เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อดังกล่าว โดยจะใช้วิธีจัดการสิ่งแวดล้อม สถานที่ รวมทั้งอุปกรณ์ในห้องผู้ป่วยให้เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ได้แก่ เป็นห้องแยกเดี่ยวหรือถ้าเป็นห้องรวมระยะห่างระหว่างเตียงไม่น้อยกว่า 3 ฟุต พื้นผิวสัมผัสต่างๆ สามารถทำความสะอาดได้ง่าย มีการระบายอากาศได้ดี บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลต้องใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง มีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการตรวจวินิจฉัยโรค เครื่องมือกู้ชีพที่จำเป็น เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดความดันโลหิต ชุดให้สารน้ำอุปกรณ์เจาะเลือดเพื่อการวินิจฉัยเครื่องช่วยหายใจ ชุดกู้ชีพผู้ป่วย เป็นต้น ซึ่งจะเป็นระบบการรักษาที่ครบวงจร เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยและความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image