กทม. เน้นซ้อมเผชิญเหตุ เสริมแกร่งทีมดับเพลิงในโรงงาน ช่วยระงับเหตุก่อนเจ้าหน้าที่เข้าถึง

กทม. เน้นซ้อมเผชิญเหตุ เสริมแกร่งทีมดับเพลิงในโรงงาน ช่วยระงับเหตุก่อนเจ้าหน้าที่เข้าถึง

(7 ก.ค. 64) เวลา 14.00 น. : นายขจิต ชัชวานิชย์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันเพลิงไหม้โรงงานอุตสาหกรรม โดยมี นายณัฐวัตถ์ ฤทธิ์เรืองนาม วิศกร 8 สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ผู้บริหารสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้บริหารสำนักเขตลาดกระบัง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เขตลาดกระบัง

รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เพลิงไหม้ภายในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังเมื่อวานนี้ (6 ก.ค. 64) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีความห่วงใยความปลอดภัยของประชาชนและผู้ประกอบการ จึงมอบหมายให้จัดการประชุมหารือแนวทางเฝ้าระวังและป้องกันเพลิงไหม้โรงงานอุตสาหกรรม โดยวันนี้เป็นการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ผู้แทนนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และเจ้าของโรงงานที่ถูกเพลิงไหม้ โดยมีการหารือเกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชนโดยรอบบริเวณนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง รวมถึงความปลอดภัยของบุคลากรและพนักงานที่ทำงานอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรม ในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้จะทำอย่างไรให้สามารถดับเพลิงได้อย่างรวดเร็ว เมื่อวานนี้ (6 ก.ค.64) กทม. ได้รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้เวลา 18.06 น. เนื่องจากการจราจรติดขัด ส่งผลให้รถดับเพลิงของ กทม. คันแรกเข้าถึงจุดเกิดเหตุเวลา 18.29 น. ทำให้เข้าทำการดับเพลิงได้ล่าช้าและจึงเกิดความเสียหายค่อนข้างมาก

Advertisement

ในกรณีนี้ได้หารือร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังถึงแนวทางการปฏิบัติให้สามารถดับเพลิงได้รวดเร็วขึ้น โดย กทม. จะทำการซักซ้อมแผนการดับเพลิงให้แก่โรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังทั้งหมด และซ้อมทบทวนทุก 6 เดือน โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. จะเป็นผู้อบรมแผนปฏิบัติการดับเพลิงและเป็นพี่เลี้ยงในการซักซ้อมวิธีปฏิบัติให้แก่บุคลากรของโรงงานทุกแห่ง เพื่อให้มีความพร้อมในการระงับเหตุเบื้องต้นก่อนที่ทีมดับเพลิงหลักจะเข้าถึงพื้นที่ ทั้งนี้บางแห่งมีหน่วยดับเพลิงของตนเองอยู่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมเดียวกัน ก็จะสามารถช่วยลดความเสียหายได้อยากมาก

ทั้งนี้ ภายในสัปดาห์หน้า กทม. จะตรวจความปลอดภัยโรงงานที่มีลักษณะความเสี่ยงทุกประเภท อาทิ โรงงานที่มีเชื้อเพลิงที่ติดไฟง่าย โรงงานที่มีวัตถุหรืออุปกรณ์ที่เป็นสารพิษ เพื่อแหล่งจัดเก็บวัตถุอันตราย และปริมาณที่จัดเก็บ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเฝ้าระวังและการเตรียมการณ์ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้เจ้าหน้าที่จะทราบทันทีว่าจะดำเนินการในรูปแบบใด ให้สามารถดับเพลิงและแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดความเสียหายและเกิดความปลอดภัยกับประชาชนมากที่สุด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image