จนท.เขาใหญ่สำรวจป่าดงพญาเย็น ตะลึง พบนกเงือกกรามช้างกว่า 200 ตัวบินว่อน

เขาใหญ่สำรวจป่าดงพญาเย็น ตะลึง พบนกเงือกกรามช้างกว่า 200 ตัวบินว่อน

ระหว่างวันที่ 23-26 กรกฎาคม 2564 นายอดิศักดิ์ ภูสิทธิ์วงศานุยุต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจ จำนวน 9 นาย ออกลาดตระเวนป่าตามระบบ SMART Patrol System ในพื้นที่ใจกลางผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ตั้งแต่บริเวณด่านช้าง-ฐานปฏิบัติการบึงไผ่-เขาสามยอด-สระอโนดาต-เขาหินล้าน-ฐานปฏิบัติการคลองอีเฒ่า เป็นระยะเวลา 4 วัน 3 คืน รวมระยะทางกว่า 35 กิโลเมตร พบว่าทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรสัตว์ป่า ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์สูงมาก พบรอยตีนของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ เช่น ช้างป่า กระทิง ฯลฯ ตลอดเส้นทาง พบนกเงือกกรามช้างรวมกลุ่มออกหากินเป็นฝูงขนาดใหญ่

Advertisement

นายอดิศักดิ์  กล่าวว่า ได้สนธิกำลังชุดเฉพาะกิจ ออกลาดตระเวนป่าทางเท้าในพื้นที่ใจกลางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยในช่วงวันแรกของการลาดตระเวนก็พบกับสิ่งมหัศจรรย์ ความงดงามของฝูงนกเงือกกรามช้าง ที่มารวมกลุ่มกันออกหากินบริเวณหุบเขาแห่งหนึ่ง นับรวมได้กว่า 200 ตัว ซึ่งนกเงือกกรามช้างถือเป็นดัชนีชี้ให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่เหมาะสมต่อการสร้างโพรงรังในฤดูวางไข่ของนกเงือก จนกว่าลูกนกจะโตและสามารถดูแลตัวเองได้ ต่อมา ในการลาดตระเวนวันที่สอง พบหมีควายขนาดใหญ่ระหว่างเส้นทางในระยะไม่เกิน 50 เมตร กำลังออกหากินพร้อมกันทั้งครอบครัว พ่อ แม่ และลูกหมีน้อยอีก 2 ตัว โดยหมีควายได้สอนให้ลูกหมีออกหากินน้ำผึ้งบนต้นไม้ขนาดใหญ่ กลายเป็นภาพที่ประทับใจของเจ้าหน้าที่ในการออกตรวจลาดตระเวนในครั้งนี้ และวันสุดท้ายของการลาดตระเวนผ่านทุ่งหญ้าของฐานปฏิบัติการคลองอีเฒ่า ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ปรับปรุงให้เป็นแหล่งทุ่งหญ้า แหล่งน้ำ แหล่งโป่งโดยการเสริมเกลือให้เป็นอาหารแร่ธาตุของสัตว์ป่า ปรากฏว่าพบรอยตีนของช้างป่าและกระทิงกระจายอยู่เต็มพื้นที่ บ่งบอกว่าการปรับปรุงทุ่งหญ้าและแหล่งอาหารของสัตว์ป่า บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ตั้งใจไว้”

นายอดิศักดิ์  ยังกล่าวอีกว่า “ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือ SMART Patrol System ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ ได้นำมาใช้อย่างจริงจังในช่วงที่นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คนปัจจุบันได้เข้ามาบริหารองค์กร โดยได้กำชับให้หัวหน้าหน่วยงานภาคสนามทุกแห่ง ต้องออกลาดตะเวนป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า เพื่อที่จะได้รู้ถึงขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบได้รู้ถึงปัจจัยเสี่ยง ปัจจัยคุกคามต่างๆ สำหรับนำมาวิเคราะห์เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ต่อไป”

Advertisement

ทั้งนี้ ในวันที่ 31 กรกฎาคมของทุกปี ในแวดวงการอนุรักษ์ทรัพยากรฯได้กำหนดให้เป็นวันผู้พิทักษ์ป่าโลก ซึ่งทุกปีที่ผ่านมา จะมีการจัดงานวันผู้พิทักษ์ป่าโลก หรือ World Ranger Day เพื่อระลึกถึงความเสียสละของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า ที่ได้อุทิศตนเพื่อปกป้องรักษาทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรสัตว์ป่าของประเทศชาติไว้ การลาดตะเวนป่า จึงถือเป็นภารกิจที่สำคัญของเจ้าหน้าที่ทุกนาย และถือเป็นความภาคภูมิใจของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าทุกคน ที่ได้ร่วมกันดูแลรักษาสมบัติของชาติไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image