เปิดยอดวัคซีนโควิด กทม. 2 เดือนได้รับจัดสรร 5.7 ล้านโดส สวนทาง ‘ผู้ว่าฯอัศวิน’ บอกได้แค่ 7 แสน

เปิดยอดวัคซีนโควิด กทม. 2 เดือนได้รับจัดสรร 5.7 ล้านโดส สวนทาง ‘ผู้ว่าฯอัศวิน’ บอกได้แค่ 7 แสน

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเด็นการบริหารวัดซีนโควิด-19 พื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (27 ก.ค.) โดยภายหลังการประชุมมีรายงานข่าวว่าเกิดข้อโต้เถียงกันเกิดขึ้นระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เกี่ยวกับวัคซีนที่มีการส่งมอบให้ กทม. โดยทาง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า กทม.เพิ่งจะได้รับวัคซีนจากกรมควบคุมโรคเพียง 7 แสนโดสเท่านั้น

ล่าสุดเวลา 12.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ต้องผ่านการพิจารณาของ ศบค.ชุดใหญที่มี พล.อ.ประยุทธ์ นั่งในฐานะผู้อำนวย ศบค. ซึ่งกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้รับไปปฏิบัติในการทยอยจัดส่งไปแต่ละพื้นที่ โดยตามขั้นตอนหลังจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการแต่ละจังหวัด จะเป็นผู้บริหารจัดการวัคซีนตามจำนวนที่ได้รับ ดังนั้น ศบค.จะรับทราบปริมาณวัคซีนที่มีการจัดสรรไปในแต่ละพื้นที่

แหล่งข่าวกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การจัดสรรวัคซีนตามคำสั่งของ ศบค. ระยะเวลาตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ค.64 เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้รับวัคซีนแล้ว 5.71 ล้านโดส แต่เป็นการจัดสรรในหลายภาคส่วนที่เข้ามาร่วมกันฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนและเพื่อควบคุมการระบาดของกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการจัดสรรวัคซีนที่กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการทยอยส่งไปแล้ว ช่วงเดือน มิ.ย.-28 ก.ค.64 เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร แบ่งออกดังนี้

Advertisement

เดือน มิ.ย.64 พื้นที่ กทม.ได้รับวัคซีนทั้งหมด 3.64 ล้านโดส

1.สำนักงานประกันสังคม 0.71 ล้านโดส

2.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) 0.46 ล้านโดส

Advertisement

3.สำนักอนามัยกรุงเทพฯ 1.34 ล้านโดส

4.อื่นๆ เช่น ทหาร ตำรวจ ผู้ทำงานด่านหน้าอื่น เจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วย 0.46 ล้านโดส

5.ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ 0.64 ล้านโดส ซึ่งช่วงแรกฉีดให้กลุ่มอาชีพขนส่งสาธารณะ ครู และอาชีพเสี่ยงที่อยู่ในพื้นที่ กทม.

เดือน ก.ค.64 พื้นที่ กทม.ได้รับวัคซีนทั้งหมด 2.07 ล้านโดส โดยข้อมูลนี้เป็นจำนวนจัดสรรวัคซีนที่ยังไม่หมดเดือน เพราะจะมีการทยอยส่งวัคซีนไปเพิ่มเติมอีกในสัปดาห์นี้

1.สำนักงานประกันสังคม 0.21 ล้านโดส

2.อว./ทปอ. ในเดือนนี้ยังไม่ได้รับเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นการนำวัคซีนไปฉีดในกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ

3.สำนักอนามัยกรุงเทพฯ 1.20 ล้านโดส

4.อื่นๆ 0.16 ล้านโดส

5.ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ 0.49 ล้านโดส

ดังนั้น หากดูตัวเลขการจัดสรรวัคซีน 2 เดือน คือ มิ.ย.-ก.ค.64 เฉพาะพื้นที่ กทม.ได้รับวัคซีนทั้งสิ้น 5.71 ล้านโดส จำแนกภาพรวมของ 2 เดือน ดังนี้

1.สำนักงานประกันสังคม 0.92 ล้านโดส ซึ่งเป็นการฉีดเฉพาะกลุ่มผู้ประกันตนที่อยู่ในพื้นที่ กทม.

2.อว./ทปอ. 0.46 ล้านโดส
3.สำนักอนามัยกรุงเทพฯ 2.54 ล้านโดส

4.อื่นๆ 0.64 ล้านโดส

5.ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ 1.13 ล้านโดส

“จะเห็นได้ว่าภาพรวมพื้นที่ กทม.ได้วัคซีนสูงถึง 5.7 ล้านโดสใน 2 เดือนแรก ซึ่งบางครั้งการจัดส่งวัคซีนที่กรมควบคุมโรค ดำเนินการก็เป็นการส่งตรงไปยังโรงพยาบาล แต่อย่างไร การฉีดวัคซีนเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกรุงเทพมหานคร ที่มีสำนักอนามัยกรุงเทพฯเป็นแม่งานใหญ่

“ดังนั้น การที่บอกว่าวัคซีนส่วนที่ส่งไปยัง รพ.ต่างๆ ไม่เกี่ยวกับโควต้าของ กทม.ก็ไม่ถูก เพราะการที่ รพ.เอกชน หรืออื่นๆ ฉีดวัคซีนให้ก็อยู่ในนามของ กทม. จะปฏิเสธว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ส่งให้จึงไม่ถูกต้อง เพราะตัวเลขที่เห็นก็จะพบว่าจำนวนวัคซีน 2 เดือนที่พื้นที่ กทม.ได้รับ 5.7 ล้านโดส ก็อยู่กับสำนักอนามัยกรุงเทพฯเยอะที่สุด ถึง 2.5 ล้านโดส

“ที่สำคัญคือ ทั้งหมดนี้เราก็ต้องการฉีดสร้างความปลอดภัยให้คน กทม. โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและเพื่อควบคุมการระบาด ทั้งหมดก็เพื่อลดการระบาดใน กทม. เป็นความรับผิดชอบร่วมกันในทุกภาคส่วน” แหล่งข่าวระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อมูลการจัดสรรวัคซีนที่กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการส่งให้ทาง กทม. ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. จนถึงวันที่ 27 ก.ค. 2564 รวมแล้วได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 5,757,255 โดส แบ่งเป็นวัคซีนซิโนแวคจำนวน 2,376,125 โดส และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 3,381,130 โดส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image