ปลัดสธ.แจ้ง ผู้ว่าฯ กทม.-นพ.สสจ.ทั่วไทย แนวทางฉีดไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสแรก

ปลัด สธ.ส่ง จม.ผู้ว่าฯ กทม.-นพ.สสจ.ทั่วไทย แจ้งแนวทางฉีดไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสแรก

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกข้อความถึง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1-12 สาธารณสุขนิเทศ เขตสุขภาพที่ 1-12 และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทั่วประเทศ เรื่อง ขอแจ้งแนวทางการให้บริการวัคซีนโควิด-19 (Pfizer) สำหรับวัคซีนบริจาคล็อต 1.5 ล้านโดส

โดยใจความระบุถึงคำสั่งคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนโควิดไฟเซอร์ ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ภายใต้คณะอนุกรรมการอนำวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งมีการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 2/2564 ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00-12.00 น.

มีมติกำหนดให้วัคซีนโควิดไฟเซอร์ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับภารกิจดูแลผู้ป่วยโควิดทั่วประเทศ ผู้มีภาวะเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากการติดโควิด-19 ที่มีสัญชาติไทย ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค อายุ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ในจังหวัดที่มีการระบาดสูง ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุ และโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้เดินทางไปต่างประเทศที่จำเป็นต้องรับวัคซีนไฟเซอร์ เช่น นักการทูต นักศึกษา รวมทั้งจัดสรรให้สำหรับทำการศึกษาวิจัย และสำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ รวมทั้งสิ้น 1.5 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าจะส่งวัคซีนถึงพื้นที่ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2564 นั้น

Advertisement

สธ.ขอแจ้งสรุปแนวทางการให้บริการวัคซีนโควิด-19 สำหรับวัคซีน 1.5 ล้านโดส ตามมติที่ประชุม เพื่อแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเป้าหมาย เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแนวทางดังกล่าวแบ่งออกเป็นทั้ง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์ ทั้งการเก็บรักษา การฉีด และการกำหนดให้วัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 3 สัปดาห์ ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป และการให้บริการกลุ่มเป้าหมายและแนวทางการให้บริการ แบ่งออกเป็น

1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่สัมผัสผู้ป่วยทั่วประเทศ ประกอบด้วย

Advertisement

-ผู้ที่รับวัคซีนซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม ให้ฉีดกระตุ้น 1 เข็ม

-ผู้ที่ได้รับวัคซีนใดๆมาแล้วเพียง 1 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2

-ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด และไม่เคยได้รับวัคซีน ให้สามารถรับไฟเซอร์ 1 เข็ม มีระยะห่างจากวันที่พบการติดเชื้ออย่างน้อย 1 เดือน

ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้วัคซีนไฟเซอร์ในบุคลากรที่รับวัคซีนซิโนแวค เข็มแรก และแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 หรือแอสตร้าฯ 2 เข็ม หรือ ซิโนแวค 2 เข็ม และกระตุ้นแอสตร้าฯไป 1 เข็มแล้ว เพราะบุคลากรดังกล่าวยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูง แต่ให้ลงรายชื่อไว้ จะมีการพิจารณาข้อมูลวิชาการและดำเนินการให้วัคซีนไฟเซอร์ตามข้อมูลวิชาการและจำนวนวัคซีนที่จะเข้ามาเพิ่มต่อไป

2.ผู้มีภาวะเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีสัญชาติไทย ในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข็มงวด 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม สมุทรปราการ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

โดยสำหรับผู้มีโรคเรื้อรัง 7 โรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะ 5 โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิด โรคเบาหวาน โรคอ้วนที่มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม ส่วนกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรังในเด็กตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ เช่น เด็กอายุ 12-13 ปีที่มีน้ำหนัก 80 กก. ในเด็กอายุ 13-15 ปี ที่มีน้ำหนัก 90 กก. หรือเด็กอ้วนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น เป็นต้น

3.ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผุ้สูงอายุ และโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และชาวไทยที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศที่มีหลักฐานแสดงความจำเป็นว่าต้องรับวัคซีนไฟเซอร์ ก่อนถึงประเทศปลายทาง เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต เป็นต้น

นอกจากนี้ แนวทางดังกล่าวยังให้หน่วยบริการบันทึกการให้บริการ และเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังรับวัคซีน อาทิ ขอให้หน่วยบริการเตรียมสถานที่ให้บริการที่มีแพทย์/พยาบาล ดูแล และสามารถให้การช่วยเหลือได้ ขอให้บันทึกผลการให้บริการวัคซีนโควิดของผู้รับวัคซีนในระบบ MOPH Immunization Center (MOPH IC) ทุกราย ทั้งกรณีให้บริการภายในและภายนอกสถานพยาบาล รวมทั้งประมวลผลข้อมูลการให้บริการ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image