สธ.ผวาโอไมครอน หวั่นล็อกดาวน์ซ้ำ จี้ ศบค.ทบทวนมาตรการเข้าไทยเร่งด่วน! (คลิป)

สธ.ผวาโอไมครอน หวั่นล็อกดาวน์ซ้ำ จี้ ศบค.ทบทวนมาตรการเข้าไทยเร่งด่วน!

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ว่าขณะนี้มีการพบสายพันธุ์ของโอไมครอนที่เป็นโอไมครอน ไลค์ (Omicron Like) สายพันธุ์ย่อย เท่าที่พบ 3 พันธุ์คือ BA.1 BA.2 และ BA.3 แต่ยังมีจำนวนค่อนข้างน้อย ภาพรวมทั่วโลกยังเป็นโอไมครอน BA.1 ที่เป็นพื้นฐานดั้งเดิมประมาณ 6,000 รายทั่วโลก ส่วน BA.2 พบ 18 ราย BA.3 อีก 5 ราย ส่วนคำถามเรื่องสายพันธุ์ย่อยว่าเราจะตรวจหาเจอหรือไม่ ยังยืนยันว่าโดยสูตรของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจเบื้องต้นด้วย 5 ตำแหน่งของไวรัสว่ามีการหายไปของตำแหน่ง HV69-70 ซึ่ง BA.2 ที่เป็นสายพันธุ์ย่อยที่หายไปตรงนี้กลับมาใหม่ ทำให้หลายคนกังวลว่ามันจะหลอกเรา ตรวจแล้วไม่เจอ แต่เรามีการตรวจตำแหน่งอื่นอีก คือมันไม่เหมือนเดลต้า จะไม่มี L452R และมีส่วนเพิ่มมากเป็น 478K กับ 501Y ซึ่งถ้าตรวจ 3 ตัวนี้ยังไงก็วินิจฉัยได้ว่าเป็นโอไมครอน ขอให้ความมั่นใจ

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า มีคำถามว่ามีการแพร่ระบาดมากน้อยแค่ไหน มีคนให้ข้อมูลมาเรื่อยๆ ทั้งที่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มีข้อจำกัดพอสมควร แต่มีที่ค่อนข้างสรุปแล้วว่า R0 คือ หากมีโรคเกิดขึ้นแล้วคนรอบๆ ในบริเวณนั้นไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคเลย ทั้งติดเชื้อธรรมชาติ หรือรับวัคซีนมาก่อน ว่าจากติดเชื้อ 1 คน จะแพร่ถึงคนอื่นได้กี่คน ซึ่ง R0 ของอู่ฮั่นอยู่ที่ 2.5 เดลต้า 6.5 และโอไมครอน 8.45 ดังนั้น โอไมครอนมีความเร็วกว่าเดลต้าและอาจจะเบียดเดลต้าออกไปได้ ขณะที่ความรุนแรง ข้อมูลจากแอฟริกาใต้ที่เจอการระบาดก่อนใครและมีคลัสเตอร์ค่อนข้างใหญ่พบว่า เชิงจำนวนการระบาดที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว แต่ไปดูอัตราการนอน รพ. การป่วยหนัก หรือเสียชีวิต ยังไม่เห็นอะไรไม่มากไปมากกว่าของเดิม ดังนั้น ยังมีข้อมูลค่อนข้างจำกัดว่าตกลงแล้วก็โอไมครอนร้ายแรงในเชิงทำให้ป่วยหนักหรือตายมากกว่าเดลต้าหรือไม่

“องค์การอนามัยโลกพูดชัดว่า ส่วนที่จะเกิดปัญหาต่อภูมิคุ้มกันไม่ว่าจะเคยติดเชื้อมา ติดเชื้อซ้ำ หรือฉีดวัคซีน อันนี้มีผลอยู่บ้างคือประสิทธิผลของวัคซีนลดลง แต่ว่าโอไมครอนไม่ได้กระทบต่อ T Cell และ B Cell ที่เป็นกลไกการต่อสู้ของร่างกาย ยังไม่มีผลกระทบในส่วนนี้” นพ.ศุภกิจกล่าว และว่า ดังนั้น วัคซีนบูสเตอร์จะช่วยเพิ่มศักยภาพ ประสิทธิผลวัคซีนชัดเจน ดังนั้น เราจึงให้คนมารับวัคซีนเข็ม 3 ซึ่งเป็นนโยบายที่มีความถูกต้องและน่าจะช่วยให้ลดปัญหาลง ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า หากมีการบูสเตอร์ก็จะเกิดภูมิคุ้มกันมากขึ้นและเพียงพอต่อการจัดการ

Advertisement

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ข้อมูลจากฮ่องกงพบว่า วัคซีน mRNA ดร็อปลงไป 30% เมื่อบูสต์ขึ้นมาก็เป็น 70% ใหม่ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์กำลังเพาะเชื้อไวรัสและเริ่มขึ้นมาเพื่อทดสอบกับเชื้อโอไมครอนตัวเป็นๆ ว่าสามารถยับยั้งเชื้อได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะนำมาทดลองกับผู้ที่ฉีดวัคซีนในสูตรของบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นสูตรไขว้ และอื่นๆ คาดว่าช่วงปีใหม่น่าจะได้ผลของการทดลองดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สธ.จะยกระดับมาตรการ หรือทบทวนมาตรการเข้าประเทศอย่างไร หลังจากต่างประเทศเริ่มพบว่าโอไมครอนรุนแรงขึ้น นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ในการประชุมอีโอซี สธ.เมื่อช่วงเช้าจากข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ อาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านเห็นด้วยว่า เราน่าจะพิจารณาทบทวนเพราะรู้ว่าระบบไม่กักตัว (Test and go) ตรวจ RT-PCR 72 ชั่วโมงก่อนเข้ามา อีก 1 ครั้งเมื่อถึงไทย มันมีโอกาสที่จะหลุดออกไปได้ และมีตัวอย่างที่หลุดออกไปให้เห็นแล้ว

“ดังนั้น น่าจะต้องมีการขยับมาตรการให้เข้มงวดขึ้น สุดท้ายแล้ว ศบค.ใหญ่ หรือ ศปก.ศบค.ต้องเป็นคนตัดสินว่าจะดำเนินการมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าหลุดมาเยอะ โอกาสที่ประเทศเราอาจต้องเข้มงวด หรือล็อกดาวน์ซ้ำก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ดักตั้งแต่ต้นทางไว้ก็น่าจะเป็นประโยชน์” นพ.ศุภกิจกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image