อนุทิน ปัดระบายสต็อกซิโนแวค ยัน อย.อนุมัติจากข้อมูล หมอชี้เด็กไม่ฉีดวัคซีนเสี่ยงมิสซี

อนุทิน ปัดระบายสต็อกซิโนแวค ยัน อย.อนุมัติจากข้อมูล หมอชี้เด็กไม่ฉีดวัคซีนเสี่ยงมิสซี

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่า กรณีวัคซีนซิโนแวคที่จะขยายกลุ่มอายุให้ฉีดในเด็ก 3 ปีขึ้นไป บริษัทผู้ผลิตส่งข้อมูลมาครบถ้วนแล้ว โดยในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะประชุมพิจารณาแนวทางการใช้ ซึ่งเป็นข้อดีอย่างหนึ่งคือ วัคซีนซิโนแวคขอขึ้นทะเบียนขยายกลุ่มเพิ่มในวัคซีนที่มีอยู่แล้ว ต่างจากวัคซีนไฟเซอร์ที่ขอขึ้นทะเบียนเป็นชนิดฝาส้ม สำหรับเด็กโดยเฉพาะ ดังนั้น กรมควบคุมโรคก็ต้องไปบริหารจัดการวัคซีนที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดทางเลือก เพราะผู้ปกครองบางคนยังไม่อยากให้ลูกฉีดชนิด mRNA แต่ย้ำว่า หากฉีดได้ ก็ขอให้ฉีด เพื่อป้องกันการติดเชื้อในเด็กและในวงกว้าง

“ยืนยันว่า วัคซีนที่จะเอามาฉีดให้เด็ก อย่างไรก็พอ มีเข็มแรกแล้ว ต้องมีเข็มที่ 2 ส่วนของซิโนแวค เราได้บริจาคจากประเทศจีนเกือบ 2 ล้านโดส และยังมีอยู่ในประเทศ แต่การฉีดนั้นขอสงวนสิทธิ์ให้เป็นตามดุลยพินิจของแพทย์ และความเพียงพอของวัคซีน อย่างผู้ใหญ่เรามีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอยู่แล้ว เราก็ฉีด ส่วนเด็กที่มีซิโนแวค ไฟเซอร์ เราก็เน้นในเด็ก เป็นการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด” นายอนุทิน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการนำเอาวัคซีนซิโนแวคมาใช้ในเด็ก เป็นการระบายสต็อกวัคซีนหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ผู้ที่ออกมาพูดเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ หากไม่ใช่ ไม่ต้องพูด เพราะเรามีคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันวัคซีนฯ เป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นคณะกรรมการวิชาการที่ สธ. และ รัฐบาลเชื่อถือว่ามีความรู้ มีประสบการณ์ทางการแพทย์มากเพียงพอในการให้คำแนะนำแนวทางการใช้วัคซีนให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ดังนั้น คนที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องมาให้ความเห็นอะไร

Advertisement

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนซิโนแวคที่มีในคลังทั่วประเทศ ประมาณ 4-6 ล้านโดส รวมถึงที่จีนบริจาคด้วย ขณะนี้ วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนจาก อย. แล้วคือ ไฟเซอร์ ส่วนซิโนแวคต้องรอ อย.อนุมัติ อย่างไรก็ตาม โดยหลักการที่มีการพิจารณาแนะนำจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันวัคซีนฯ คือ ฉีดไฟเซอร์กับไฟเซอร์ หรือฉีดซิโนแวคกับซิโนแวค หรือฉีดซิโนแวคกับไฟเซอร์ ก็ได้ ซึ่งมีให้เลือกโดยกุมารแพทย์เป็นผู้พิจารณาร่วมกับผู้ปกครอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปแล้วเด็กต้องรีบฉีดวัคซีนหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า อยากให้รีบฉีด เพราะโรคกำลังระบาด แม้เด็กอาการจะไม่มาก แต่หากติดเชื้อแล้ว จะมีอาการหนึ่งที่เรียกว่า มีการอักเสบทั่วตัวในเด็ก หรือเรียกว่า มิสซี ซึ่งจะมีผลข้างเคียงได้ และมีข้อมูลบ่งชี้ว่าระหว่างติดเชื้อกับฉีดวัคซีน การฉีดวัคซีนมีประโยชน์มากกว่า

“อีกอย่างเจอเด็กหลายคนเอาเชื้อไปติดผู้ใหญ่ ซึ่งอาการจะหนักและเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่าต้องรีบหรือไม่ ก็อย่าช้า แต่ไม่ต้องรีบมากจนไม่ฟังอะไรเลย” นพ.โอภาส กล่าวย้ำ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image