สธ.ชี้โควิด 4 จว.กรุงเทพฯ-ปริมณฑล เตียงป่วยหนักเริ่มตึงมือ จ่อปรับแผนรับมือผู้ป่วย

สธ.ชี้โควิด 4 จว.กรุงเทพฯ-ปริมณฑล เตียงป่วยหนักเริ่มตึงมือ จ่อปรับแผนรับมือผู้ป่วย

วันนี้ (18 กรกฎาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงอัพเดตสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า สำหรับสถานการณ์โควิด-19 หลังวันหยุดยาว ซึ่งขณะนี้ ประเทศไทยเข้าสู่ปีที่ 3 ของการระบาด หลายประเทศเปลี่ยนระบบรายงาน เช่น รายงานเป็น 0 หรือไม่ได้รายงานรายวัน แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูงอยู่ วันนี้รายใหม่ 482,377 ราย แต่เสียชีวิตน้อยลงเหลือ 592 ราย ดังนั้น สถานการณ์ภาพรวมทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นแบบทรงตัว โดยเฉพาะแถบยุโรป อเมริกา ขณะที่ เอเชีย เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ แนวโน้มติดเชื้อเพิ่ม แต่ผู้เสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยวันนี้ พบเสียชีวิต 17 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 794 ราย ใส่ท่อหายใจ 369 ราย ผู้ติดเชื้อใหม่ 1,814 ราย ซึ่งต้องย้ำว่า ปัจจุบันเน้นตรวจในผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาล (รพ.) ส่วนผู้ป่วยนอก (OPSI) ซึ่งรวมกับประชาชนที่ตรวจ ATK เอง และการตรวจในคลัสเตอร์ สัปดาห์ที่ผ่านมา 143,827 ราย

“แต่ข้อมูลที่เราเน้นย้ำคือ ผู้ป่วยอาการรุนแรง ใส่ท่อหายใจและเสียชีวิต แนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย พบมากในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ฉะนั้น เราต้องจับตาเหตุการณ์หลังหยุด เพราะมีประชาชนเดินทางไปต่างจังหวัดมากขึ้น รวมถึงเด็กกลับมาเปิดเทอมอีกครั้ง ก็จะอาจเกิดการติดเชื้อมากขึ้น ทาง สธ.ก็จะจับตาสถานการณ์อยู่ แต่แนวโน้มป่วยหนักก็จะไม่รุนแรง” นพ.โอภาส กล่าวและว่า สำหรับผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิต ระลอกโอมิครอน พบว่า ร้อยละ 98 เป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับหรือรับวัคซีนไม่ครบถ้วน แต่ระยะหลังเริ่มพบว่า กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวและผู้สูงอายุที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) นานเกิน 3 เดือน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น จึงเป็นที่มาของคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ว่า ควรฉีดเข็มกระตุ้นห่างจากเข็มล่าสุดประมาณ 3-4 เดือน เพราะเมื่อได้รับวัคซีนมานาน ภูมิคุ้มกันจะลดลง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตที่พบว่า มีสัดส่วนเสียชีวิตมากที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังถึง 36 ราย จาก 152 ราย

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โควิด-19 รายจังหวัด ที่มีอัตราครองเตียงระดับ 2-3 หรือเตียงสีเหลือง และสีแดง ภาพรวมอยู่ในกลุ่มสีเขียว แปลว่า ความสามารถรองรับผู้ป่วยหนักใน รพ.ต่างๆ ได้ค่อนข้างดี แต่ในกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี สัดส่วนครองเตียงผู้ป่วยหนักเริ่มตึงตัว แต่ยังรองรับได้ สาเหตุจากการติดเชื้อมากขึ้น และมีการปรับเตียงไปใช้ในผู้ป่วยโรคทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นก็สามารถขยายเตียงเพิ่มได้ จึงให้ความมั่นใจว่าการยังสามารถดูแลผู้ป่วยหนักได้ ทั้งนี้ ตัวอย่าง จ.ชลบุรี พบผู้ป่วยจากการตรวจ ATK และ RT-PCR เพิ่มขึ้น แต่ผู้เสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม แต่การลดผู้เสียชีวิตยังมีความจำเป็น เพราะหากติดเชื้อมาก ผู้ที่มีอาการหนักก็จะมากขึ้นด้วย

Advertisement

“ที่สำคัญในวันนี้ ปลัด สธ. ในฐานะ ผอ.ศปก.สธ. ของ ศบค.ด้านสาธารณสุข ได้เชิญทาง กรุงเทพมหานคร (กทม.) หารือประเด็นการรักษาผู้ป่วยในช่วงบ่ายวันนี้” นพ.โอภาส กล่าวว่าและว่า สำหรับต่างจังหวัดที่มีการครองเตียงสูง ปลัด สธ.ประสานไปแล้ว ซึ่งสามารถจัดการรองรับได้ ก็จะเหลือแต่ กทม. ที่ต้องหารือกัน

ทั้งนี้ นพ.โอภาส กล่าวว่า อัตราเสียชีวิตจากโควิดต่อประชากรแสนราย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 – วันที่ 16 ก.ค. 2565 พบว่าอัตราเสียชีวิตสูงสุดในช่วงเดือน ธ.ค.2564 ที่เป็นการระบาดเชื้อเดลต้า และในช่วงเดือน เม.ย. 2565 ที่ระบาดจากโอมิครอนเริ่มลดลง และล่าสุดในช่วงโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 การเสียชีวิตน้อยลง เนื่องจากมีความรุนแรงน้อยกว่าเชื้อเดลต้า รวมถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มากขึ้นกว่า 140 ล้านโดส ทำให้มีภูมิคุ้มกัน และลดเสียชีวิตได้อย่างดี ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญของการเข้าถึงการรักษาโรคกลุ่มเสี่ยงเพื่อลดการเสียชีวิตให้มากที่สุด

Advertisement

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับฉากทัศน์สถานการณ์ข้างหน้า ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ที่เข้า รพ. ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด ที่ควบคุมไม่ได้หรือเส้นสีแดง แต่ถ้าควบคุมสถานการณ์ได้จะอยู่ในเส้นสีเขียว ซึ่งขณะนี้ ยังอยู่ในเส้นสีเขียว แสดงว่าระบบสาธารณสุขยังดูแลผู้ป่วยอาการหนักได้ ส่วนผู้ป่วยที่ใส่ท่อหายใจแนวโน้มยังสูงอยู่ แต่ยังอยู่ระหว่างสีแดงและสีเขียว ซึ่งสถานการณ์จะคลี่คลายและเบาลง และผู้เสียชีวิตไต่ระดับเส้นแดงและเขียวอยู่ จะต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดต่อไป

“หลังสถานการณ์หยุดยาว ต้องย้ำมาตรการ 2U (Universal Prevention-Vaccination) คือ ป้องกันส่วนบุคคลและวัคซีน ตรวจ ATK เมื่อมีอาการคล้ายไข้หวัด อาการเด่นของเชื้อโอมิครอน คือ ระคายและเจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดตัว และการตรวจในกลุ่มผู้ต้องดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุตรวจเชื้อสม่ำเสมอได้ ส่วนการติดเชื้อโควิด-19 อาการน้อยให้แยกตัวอยู่บ้าน 7 วัน และออกมาใช้ชีวิตได้โดยต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาอีก 3 วัน” นพ.โอภาส กล่าวย้ำ

นพ.โอภาส กล่าวถึงยาลองแอนติบอดี้ (Long-acting Antibody หรือ LAAB) ว่า จะให้กลุ่มผู้ป่วยโรคไตที่ต้องฟอกไต และกลุ่มผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป สามารถฉีดให้หญิงตั้งครรภ์ได้ ซึ่งจะช่วยลดการเสียชีวิตได้ดี ฉีด 1 ครั้ง จะอยู่ได้ 6 เดือน โดยการฉีดแต่ละครั้งใช้ยา 2 เข็ม ฉีดเข้าที่สะโพก 2 ข้าง ทั้งนี้ ยาล็อตแรกจะเข้ามาสัปดาห์หน้าประมาณ 7,000 โดส และทยอยมาให้ครบ 250,000 ราย คาดว่าจะครอบคลุมผู้ป่วยโรคไตในประเทศ เมื่อยาเข้ามาแล้วจะกระจายไปในแต่ละจังหวัดตามรายชื่อผู้ป่วยที่ส่งเข้ามา สัปดาห์นี้จะมีการอบรมสถานพยาบาลทั่วประเทศเพื่อเตรียมความพร้อม อย่างไรก็ตาม จะต้องพิจารณาความเสี่ยงในการให้ยาโดยแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยรายนั้นๆ โดยคำนึงถึงความเสมอภาคและความเป็นไปได้ในการจัดบริการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวโน้มครองเตียงจะมากเหมือนช่วงเชื้อเดลต้าระบาดหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า จากข้อมูลอัตราเสียชีวิตไม่ได้มาก สาเหตุจากวัคซีนที่มาก ไทยเราฉีดกระตุ้นในระดับประเทศได้เร็ว และสายพันธุ์โอมิครอนที่ความรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า ทั้งนี้ BA.4 และ BA.5 ดูเหมือนความรุนแรงมากกว่า BA.2 เล็กน้อย แต่วัคซีนทุกชนิดก็ยังสามารถป้องกันได้ แม้จะลดลงแต่ไม่ได้หมดไป ลดการป่วยหนักเสียชีวิตได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image