สธ.ประสานกัมพูชา ตามตัวผู้ป่วยฝีดาษลิงหลบหนีจากไทย สกัดระบาดข้ามประเทศ

สธ.ประสานกัมพูชา ตามตัวผู้ป่วยฝีดาษลิงหลบหนีจากไทย สกัดระบาดข้ามประเทศ ชี้ โรครุนแรงต่ำ ฉี่กระเด็นใส่ไม่อันตราย ติดยากกว่าเอดส์

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคฝีดาษวานร หรือ โรคฝีดาษลิง(Mokeypox) ในประเทศไทย ว่า องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ประชุมหารือวานนี้ (22 ก.ค.) เบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าโรคฝีดาษลิงยังไม่เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (public health emergency international concern) ซึ่งข้อบ่งชี้ในการประกาศโรคฉุกเฉินจะต้องเป็นโรคที่รุนแรง แพร่ระบาดง่าย และจำเป็นต้องจำกัดการเดินทางทั่วโลก โดยฝีดาษลิงยังไม่เข้าเกณฑ์บ่งชี้ ยังพบผู้ป่วยโรคนี้ 14,000 กว่ารายเท่านั้น

ส่วนใหญ่หายได้เอง ผู้เสียชีวิตน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ตามที่รายงานพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงรายแรกของไทย เป็นชายชาวไนจีเรีย ข้อมูลจาก จ.ภูเก็ต ระบุว่า เดินทางมาจากเมืองอาร์บูจา ไนจีเรีย ให้ข้อมูลว่าจะมาเรียนภาษใน จ.เชียงใหม่ แต่ลักษณะไม่ค่อนเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป ที่เมื่อป่วยก็จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ รวมถึงมีพฤติกรรมหลบหนี ข้อมูลล่าสุด ระบุว่าพบสัญญาณโทรศัพท์ใกล้จังหวัดชายแดน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จ.สระแก้ว ประสานไปยังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประเทศกัมพูชา เพื่อติดตามผู้ติดเชื้อรายดังกล่าว

“นักท่องเที่ยวคนนี้ ไม่ธรรมดา น่าจะมีคนช่วยเหลือให้การหลบหนีในประเทศ ไทย ซึ่งขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพราะมีกฎหมายอื่นที่ต้องใช้ร่วมกัน ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค ร่วมกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จ.ภูเก็ต ส่วนกลางและจังหวัดชายแดน ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า อาจหลบหนีผ่านช่องทางธรรมชาติที่ชายแดน จึงขอความร่วมมือกระทรวงการต่างประเทศ ประสานประเทศที่คาดว่าจะหลบหนีไป เพื่อติดตาม ป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า ย้ำว่าโรคฝีดาษลิงไม่ได้เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายของประเทศไทยตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง มาตรการสำคัญคือ จัดระบบเฝ้าระวัง ให้ความรู้ประชาชน ติดตามสถานการณ์ ตัวอย่างผู้ป่วยรายแรก เมื่อพบแล้วก็ค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และการค้นหาเชิงรุก คล้ายกับโควิด-19 แต่ด้วยความสามารถแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิงค่อนข้างต่ำกว่า ฉะนั้นมาตรการที่ทำจะไม่กักตัวเข้มข้น

Advertisement

แต่จะให้สังเกตอาการผู้ที่มีความเสี่ยงใกล้ชิด และตรวจหาเชื้อเป็นระยะจนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค 21 วัน จากประวัติเบื้องต้น คณะกรรมการโรคติดต่อจ.ภูเก็ต ค้นหาเชิงรุกในสถานบันเทิง 2 แห่ง คัดกรองพนักงาน ผู้ใช้บริการในกลุ่มอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีตุ่มขึ้น รวม 142 ราย พบมีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดตามตัว 6 ราย แต่ไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ส่งตรวจ 5 รายไม่พบเชื้อ อีก 1 รายเดินทางไปต่างประเทศแล้ว ส่วนที่เหลือไม่มีตุ่มขึ้น มาตรการคือ ติดตามอาการจนครบ 21 วัน

อีกมาตรการคือ ต้องมีการค้นหาเชิงรุก จากผู้ป่วยโรคผื่นผิวหนังอื่นๆ รวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่รับบริการในโรงพยาบาล 3 แห่ง และคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 3 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล และมีการสุ่มตรวจ เบื้องต้นมี 183 ราย อันนี้ ไม่ได้หมายความว่า 183 รายเป็นผู้สัมผัส แต่เป็นมาตรการค้นหาเชิงรุก นอกจากนี้ มาตรการค้นหาผุ้สัมผัสใกล้ชิดรวม 33 ราย ซึ่งไม่มีอาการป่วย มีตั้งแต่ตรวจที่พักอาศัย ในชุมชน โรงแรม โรงพยาบาล ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ โดย 19 รายเหมือนมีประวัติเสี่ยงสูง แต่อีก 14 รายไม่มีความเสี่ยง ทั้งหมดต้องสังเกตอาการ 21 วัน

Advertisement

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ได้มีการค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ส่งตรวจหาเชื้อแล้วทั้งหมด 38 ราย ตรวจไม่พบเชื้อฝีดาวานร 7 ราย และอยู่ระหว่างการตรวจหาเชื้อ 31 ทั้งนี้ ข้อแนะนำสำหรับประชาชนขอให้ใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคล(Universal Prevention)เน้นการล้างมือบ่อยๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะหว่าง แต่หากมีไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต มีตุ่มน้ำตุ่มหนอง ให้รีบพบแพทย์ ไม่ควรหลบหนี เพราะการพบแพทย์จะได้รับการรักษา การหลบหนีเป็นการทำผิดกฎหมายประเทศไทย

“บางคนถามปัสสาวะมากระเด็นใส่เราจะติดหรือไม่ ไม่ติดหรอก โรคนี้ไม่ได้ติดง่ายๆ เชื้ออยู่ตามตุ่มตามหนอง ต้องสัมผัสใกล้ชิด เดินเฉียดกันไม่ติดแน่นอน ติดยากกว่าโรคเอดส์ ซึ่งเป็นโรคเพศสัมพันธ์จริงๆ ตุ่มขึ้นภายใน 2 สัปดาห์จะแห้งแล้วหายไป ไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า สรุป คือ องค์การอนามัยโลก ยังไม่ประกาศให้เป็นโรคภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข และสถานการณ์อยู่ในการควบคุม ส่วนผู้ติดเชื้อรายแรก ต่อไปก็จะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ ส่วนผู้สัมผัส ผู้มีความเสี่ยงขณะนี้อยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ เบื้องต้นไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม และมีการยกระดับการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และคลินิกอื่นๆ หากพบสงสัยก็จะมีการวินิจฉัยต่อไป ส่วนประชาชนทั่วไป ไม่มีความเสี่ยงให้ใช้ชีวิตตามปกติ และปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง เป็นต้น

เมื่อถามว่า ต้องระวังจังหวัดไหนเป็นพิเศษหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ไม่ต้องระบุจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ทุกจังหวัดควรมีความตื่นตัว เพราะการเฝ้าระวังก็จะมีสถานพยาบาล เนื่องจากเมื่อผู้ป่วยมีตุ่มขึ้นก็จะไปรพ. เราจึงให้สถานพยาบาลมีความตื่นตัวเฝ้าระวัง ส่วนภูเก็ต เป็นจังหวัดคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาไม่พบความเสี่ยงมาก คิดว่ามาตรการเหมาะสมกับสถานการณ์

ส่วนการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ มีกฎระเบียบของนานาชาติ ต้องอาศัยความร่วมมือหลายหน่วยงาน อย่างกระทรวงต่างประเทศช่วยดูว่า ประเทศต้นทางมีการระบาดมากน้อยแค่ไหน และเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เป็นด่านเบื้องต้น และด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ และกระทรวงคมนาคม ในฐานะเจ้าของช่องทาง ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานรับทราบเรื่องนี้ และร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด

เมื่อถามว่าฝีดาษวานรในเด็กเล็กอันตรายหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคนี้ โดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ความรุนแรงน้อย ผู้เสียชีวิตไม่มาก แต่ทุกโรค โดยเฉพาะโรคติดต่อ โรคติดเชื้อ กลุ่มเปราะบางที่เมื่อติดเชื้อและส่วนใหญ่อาการจะรุนแรง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัว ก็ต้องระวังหลีกเลี่ยงติดเชื้อ แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ติดจะเป็นชาย อยู่ในช่วงวัยรุ่น วัยกลางคน เด็กเล็กไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แต่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหลีกเลี่ยงอย่าให้คนมีตุ่มขึ้นมาสัมผัสใกล้ชิดกับเด็ก

เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าชายไนจีเรียอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2564 อาจจะมีการติดเชื้อภายในประเทศหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เนื่องจากเราไม่เจอตัวชายคนดังกล่าว ซึ่งประวัติชัดๆ ก็ไม่มี และเป็นคนที่มีพฤติกรรมไม่ตรงไปตรงมา บางข่าวบอกว่ามีการเดินทางเข้าๆ ออกๆ เป็นต้น

เมื่อถามว่าจะต้องมีการตรวจเชิงรุกในกลุ่มใดเป็นพิเศษหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ก็มีการเฝ้าระวังคัดกรองอยู่ แต่ขอไม่พูดถึงกลุ่ม เพื่อไม่ให้มีการบูลลี่กัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image