ชายฝรั่งเศสพบหมอช้า ยังไม่ชัดติดฝีดาษลิง ลุ้น! ผลแล็บต่อ สธ.รับอาสาสมัครเช็กภูมิฯ

ชายฝรั่งเศสพบหมอช้า ยังไม่ชัดติดฝีดาษลิง ลุ้น! ผลแล็บต่อ สธ.รับอาสาสมัครเช็กภูมิฯในร่างกาย 

วันที่ 8 สิงหาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงอัพเดตสถานการณ์โรคฝีดาษวาร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox) ในประเทศไทยว่า ขณะนี้การติดเชื้อฝีดาษลิงทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งจะมี 2 สายพันธุ์ใหญ่ คือ B.1 และ A.2 ที่พบมากคือ B.1 ที่ล่าสุดทำให้เกิดการติดเชื้อทั่วโลกกว่า 30,000 ราย

“ส่วนประเทศไทย ยังพบผู้ติดเชื้อ 4 ราย ถือว่าจำนวนยังน้อย ซึ่งประเทศไทยพบเป็น A.2 มากกว่า โดยใน 4 ราย มีจำนวนถึง 3 ราย โดยมี B.1 เพียงรายเดียว คือรายที่ 2 ที่เป็นชายไทย รักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) วชิรพยาบาล ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาอะไร เพราะเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกเหมือนกัน อาการจะไม่รุนแรง ต่างกับสายพันธุ์คองโกที่จะอาการรุนแรงมากกว่า ทั้งนี้ ทั่วโลกมีผู้ป่วย 30,000 กว่าราย ยืนยันเสียชีวิต 5 ราย ถือว่าสัดส่วนน้อย สาเหตุส่วนใหญ่คือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ บางรายมีอาการหนักเพราะติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ร่วมด้วย” นพ.ศุภกิจกล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯกล่าวว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์ฯเพาะเชื้อฝีดาษลิงได้จำนวนมากพอที่จะนำไปทดสอบกับภูมิคุ้มกันจากผู้ที่เคยได้รับวัคซีนฝีดาษ (Smallpox) ซึ่งคนสุดท้ายในประเทศไทยน่าจะปลูกเมื่อ 40 ปีที่แล้ว หรือราวๆ ปี 2523-2524 ฉะนั้น กรมวิทยาศาสตร์ฯจะเปิดรับอาสาสมัครใน 3 กลุ่ม คือ ผู้ที่อายุ 40, 50 และ 60 ปีขึ้นไป จำนวนกลุ่มละ 10 คน

“ก็จะอยู่ราวๆ 30-40 ตัวอย่าง ที่มั่นใจว่าได้รับการปลูกฝีดาษมาแล้วจริงๆ โดยเมื่อได้รับเลือดมาแล้ว ก็จะนำมาทดสอบ ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะทราบผลว่าภูมิคุ้มกันในร่างกายจะป้องกันเชื้อฝีดาษลิงได้มากน้อยอย่างไร ต่างกันอย่างไรในแต่ละช่วงอายุที่เคยได้รับวัคซีน ซึ่งจากข้อมูลระบุว่า สามารถป้องกันได้ร้อยละ 85 จะยังโอเคหรือไม่ โดยจะนำมาเป็นฐานข้อมูลของคนไทย อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทั่วประเทศ สามารถตรวจหาเชื้อได้แล้ว ส่วนห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ใน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป ในจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวมากๆ สามารถแสดงเจตจำนงไปที่กรมวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อทดสอบความชำนาญของแล็บตามเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อได้รับอนุญาตให้ตรวจได้ในแล็บระดับ 2+ ป้องกันเชื้อรั่วไหล แต่ย้ำประชาชนว่า ไม่มีความจำเป็นต้องไปตรวจว่ามีฝีดาษลิงหรือไม่ เพราะจะเสียเงินเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์ ยกเว้นแต่มีความเสี่ยง เป็นผู้สัมผัสเสี่ยง ก็ให้ตรวจได้ แต่ด้วยต้นทุนที่ยังสูงอยู่ ก็จะหารือกันเพื่อลดต้นทุนในระดับที่เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด” นพ.ศุภกิจกล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีผู้ป่วยสงสัยชายชาวฝรั่งเศส จ.ตราด ที่มีแผลคล้ายฝีดาษลิง และไปเข้ารับการตรวจหาเชื้อเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ผู้ป่วยมีประวัติไข้ ร่วมกับมีแผลที่อวัยวะเพศมานานแล้วมากกว่า 1 เดือน ทาง รพ.จึงเก็บตัวอย่างจากเลือดและช่องคอมาตรวจ ผลเป็นลบ ส่วนตัวอย่างจากแผล ตัวอย่างแรกไม่สมบูรณ์ ให้ค่าที่แปลไม่ชัด จึงต้องเก็บมาตรวจใหม่อีกครั้ง

“อย่างไรก็ตาม รายนี้ไปพบแพทย์ค่อนข้างช้า มีอาการเป็นเดือนแล้วเพิ่งมา หากมีเชื้อจริง ก็ไม่อยู่ให้ตรวจแล้ว จึงต้องเก็บตัวอย่างบางส่วนมาทำ Genome sequencing เพื่อยืนยันว่าเคยติดเชื้อหรือไม่ แต่เบื้องต้นก็คาดว่าจะเป็นลบ เพราะตัวอย่างจากช่องคอกับเลือด เป็นลบ” นพ.ศุภกิจกล่าว และว่า ขอย้ำว่าทั้ง 4 ราย ที่ป่วย มีวิธีการติดเชื้อชัดเจน คือ นัวเนีย ใกล้ชิดมาก ไม่ใช่กินข้าวแล้วติด ดังนั้น หากไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง ก็อย่าวิตกกังวลมากนัก

ด้าน นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับประชาชนวิตกกังวลมาก อย่างเช่น มีผื่นขึ้น ก็ไปขอตรวจ จริงๆ ต้องไปพบแพทย์ เพื่อประเมินลักษณะผื่นที่เกิดขึ้น และดูประวัติเสี่ยงด้วยว่าสมควรตรวจหรือไม่ ทั้งนี้ หากเป็นขึ้นมา ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรคด้วย

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image