‘ชัชชาติ’ แจงพยากรณ์ไม่แม่น ยันไม่ได้รู้ดี-เชื่อแก้ท่วมถูกทาง ไม่ใช่แค่สูบน้ำ ต้องบูรณาการ

‘ชัชชาติ’ แจงพยากรณ์ไม่แม่น ยันไม่ได้รู้ดีกว่าฝ่ายระบายน้ำ-เชื่อแก้ท่วมถูกทาง ไม่ใช่แค่สูบน้ำ ต้องบูรณาการ เล็งเพิ่มผตข.ลอกท่อ

เมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2565

โดยเนื้อหาการประชุมวันนี้ มี 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังสำนักงานเขตเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในกรุงเทพมหานครเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 2.ญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องทุนส่งเสริมการวิจัย และ 3.ญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การให้เงินรางวัลประจำปีแก่ข้าราชการกรุงเทพมหานคร และลูกจ้างกรุงเทพมหานคร พ.ศ. …

อ่านข่าว : ส.ก.อภิปรายเห็นพ้องจัดตั้งฝ่ายระบายน้ำ 50 เขต ไฟเขียวร่างข้อบัญญัติทุนหนุนวิจัยทางการแพทย์

ส.ก.ลาดกระบัง บอกดู ‘ท่อ-คลอง’ ก่อน ไม่ต้องมองถึงกรมชลฯ ชูตั้ง ‘ฝ่ายระบายน้ำ’ งานเยอะไม่ไหว แค่ 46 คน

Advertisement

ลูกจ้างกทม.เฮ สภาฯฉลุย ‘ให้โบนัสประจำปี’ เฮียล้านปลื้ม เติมกำลังใจคนทำงานหนัก 4-5 ปีไม่เคยได้รางวัล

ส.ก.ผงะท่อ ‘ดินทั้งนั้น’ โอด ‘ดอนเมืองอ่วม’ ฝากชัชชาติสร้างเขื่อน-รองปธ.สภา ลั่น ชาติเดียวในโลกน้ำท่วมเครื่องบิน

กทม.เร่งระบายรับฝนหนัก จัดรถ-จนท.ช่วยปชช.- จับตาวันนี้ หนองแขม-บางขุนเทียน-บางเขน-หลักสี่

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้าย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในที่ประชุมสภา กทม.ว่า กล่าวว่า ขอบคุณสมาชิกทุกท่านที่ให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับน้ำท่วม

โดย นายชัชชาติชี้แจงเรื่องน้ำท่วมภาพรวมว่า ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมหลายจุด ปัญหาหลักคือ มีฝนตกรุนแรงเป็นหย่อมๆ มากขึ้น เมื่อวานสูงมากเกือบ 170 มม. ที่เขตบางเขน แทบไม่เคยเห็นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขในรอบ 20 ปีรุนแรง และมีพิกัดเป็นจุดๆ เป็นการท่วมแต่ละพื้นที่ แต่ละเขตไป ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศด้วย

จากนั้น นายชัชชาติชี้แจง ดร.รัตติกาล แก้วเกิดมี หรือ ดร.เอ๋ ส.ก.เขตสายไหม เรื่องการพยากรณ์อากาศ ว่า เราสามารถพยากรณ์ได้ 2 ส่วน คือ 1.กรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งจะให้ตัวเลขในภาพรวม ระดับ 2-3 วัน ว่าร่องความกดอากาศจะพาดมาถึงเมื่อไหร่ อย่างวันนี้ มีการพยากรณ์ว่าจะมา 2 ช่วง ประมาณ 15.00 น. และช่วง 18.00 น. บอกพิกัดไม่ได้ ถ้าให้ละเอียดขึ้น ต้องเอา 2.เรดาร์ ของ กทม. ที่เขตหนองจอก และหนองแขมมาบอกพิกัด

“แต่ก็ต้องเรียนว่า เรดาร์เองก็ไม่สามารถให้รายละเอียดที่ถูกต้อง บางครั้ง ลมที่เปลี่ยนไป ฝนที่ก่อตัวขึ้น ทำให้การพยากรณ์อาจไม่แม่นยำมาก แต่อย่างน้อยรู้คร่าวๆ สัก 1-2 ชั่วโมง หลักการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทำตั้งแต่เส้นเลือดใหญ่ ยันเส้นเลือดฝอย เส้นเลือดใหญ่ที่ผ่านมา ทำไปได้หลายโครงการ เช่น อุโมงค์ระบายน้ำ ซึ่งเป็นงานที่สำนักงานระบายน้ำ แต่เส้นเลือดฝอย เรื่อง ท่อระบายน้ำ คลอง เรายังมีความอ่อนแออยู่

ที่ผ่านมา ทางสภาได้เห็นงบประมาณที่ผ่านไปว่า เราให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอยมากขึ้น การไปขุดลอกท่อระบายน้ำ ซึ่งหลายแห่งอาจไม่ได้ขุด หรือขุดแล้วไม่มีประสิทธิภาพ ส.ก.เอาภาพมาให้เห็น บางท่อตัน บางท่อไม่ได้ขุดนาน ซึ่งผู้ต้องขังที่มาช่วย ทำงานได้ดี แต่อาจมีปัญหาว่าล่าช้า ก็จะไปเร่งรัดดำเนินการ อาจต้องใช้จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มมากขึ้น แต่ผมเชื่อว่าเขาทำได้คุณภาพดี และมีงานที่ละเอียด” นายชัชชาติระบุ

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า จากท่อระบายน้ำ ก็ลงมาที่คูคลอง ซึ่งก็ต้องทำเขื่อนกั้นน้ำเป็นตัวสำคัญ ถ้าเขื่อนกั้นน้ำไม่มี จะไม่สามารถขุดลอกลึกได้ เพราะตลิ่งจะพัง ต้องทำคลองให้ไหลได้ดี มีระบบสูบน้ำที่ได้ประสิทธิภาพ อย่างที่ ส.ก.หลายท่านให้ข้อแนะนำว่า ควรใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ติดเซ็นเซอร์ ก็ดำเนินการอยู่ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น

การที่ผู้บริหารลงพื้นที่ ต้องเรียนว่า เราไม่ได้รู้ดีกว่าฝ่ายระบายน้ำ แต่การที่ลงไป มี 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ทำให้เราเข้าใจปัญหาได้ดีขึ้น เพราะสุดท้ายจะต้องมาจัดสรรงบประมาณ 2.เป็นการให้ขวัญและกำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน 3.เชื่อว่าการแก้น้ำท่วมในพื้นที่ ไม่ใช่แก้การสูบน้ำ ต้องบูรณาการหลายหน่วย เป็นเรื่องการนำประชาชนไปสู่บ้าน ดูรถ ซ่อมรถเสีย มีหลายมิติ ทั้งการจราจรที่เกี่ยวข้องด้วย ไปดูเพื่อบูรณาการ และนำจุดอ่อนไปปรับปรุงให้ดีขึ้น

ก็น้อมรับทุกคำแนะนำ เป็นโจทย์ที่ท้าทายของเมืองในสภาพโลกที่เปลี่ยนไป แต่ผมเชื่อว่าเรามาถูกทางแล้ว การเน้นระบบเส้นเลือดฝอย ให้สัมพันธ์กับเส้นเลือดใหญ่ และภาพรวมการระบายน้ำ จะทำได้ดีขึ้น นายชัชชาติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image