‘ชัชชาติ’ ชี้ บางทีต้องสู้ที่ด่านหน้า หันถาม ‘เจ้าพ่อนวัตกรรม (ไม้ไผ่)’ มั่นใจรับไหว ‘พายุโนรู’

‘ชัชชาติ’ ชี้ บางทีต้องสู้ที่ด่านหน้า หันไปถาม ‘เจ้าพ่อนวัตกรรม’ มั่นใจ ‘พายุโนรู’ รับไหว ถ้าตก 3 ชม.รวดไม่เกิน 60 มล.

เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ ห้องประชุม ชั้น 19 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 21/2565 โดยพูดคุย 3 เรื่องหลัก คือ 1.การบริหารจัดการน้ำ สำหรับพายุโนรูที่จะเข้าไทย 2.เรื่องการเตรียมรับมือกับ สปสช.ที่ยกเลิก 9 โรงพยาบาลตามโครงการบัตรทอง และ 3.เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้น

(อ่านข่าว : ‘ชัชชาติ’ อึ้ง พายุยังไม่เข้า ฝน 2 เท่ารอบ 30 ปี สั่งแผนรับ ‘โนรู’ หวั่นเทมาทางเจ้าพระยา-เขื่อนป่าสักฯ เพิ่ม 2.5 ล้านกระสอบ)

ชัชชาติ หวาดเสียว ฝนคาดการณ์ยาก ก.ย.พุ่งทะลุกราฟ แต่พร่องน้ำไว้เยอะ รับมือ ‘โนรู’

ในตอนหนึ่ง เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงแผนรับมือน้ำเฉพาะหน้า ช่วง 28-29 กันยายน จะมีการเพิ่มเติมอะไรให้เห็นความชัดเจนมากขึ้นอีกหรือไม่ ?

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวว่า ความจริงแล้ว 1.เราพร่องน้ำเต็มที่ 2.เพิ่มกระสอบทรายจาก 200,000 ลูก เพิ่มอีก 2,500,000 ลูก และเพิ่มปั๊มสูบ ซึ่งการเพิ่มปั๊ม ได้ขอจากหน่วยงานอื่นๆ เพิ่มเติม

“ผมว่า บางทีไม่ได้สู้ที่เรา ต้องไปสู้ที่ด่านหน้า หรือนอก กทม. คือมีการประสานงานกับกรมชลประทาน เช่น ท่านที่ปรึกษาฯ อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ก็ประสานงานกับกรมชลฯ อยู่ตลอด เช่น จะระบายน้ำผ่านด้านนอกอย่างไร น้ำจะไปออกที่คลองพระองค์เจ้าฯ เท่าไหร่ เป็นการช่วยจัดการน้ำ โดยหน่วยงานอื่นด้วย” นายชัชชาติกล่าว และว่า

ปัจจุบัน เรามีการเพิ่มเครื่องผลักดันน้ำจากหน่วยงานภายนอก รวม 32 ตัว ก็จะติดตั้งเพิ่มสำหรับการรองรับ

Advertisement

3. เรื่องการช่วยชุมชนดูแลตัวเอง ต้องช่วให้ประชากรที่อยู่ในพื้นที่ ช่วยกันดูแลชุมชนเพิ่มขึ้น

“ตอนนี้รู้แล้วว่า น้ำมาปุ๊บ ชุมชนไหนจะโดนก่อน ก็ไปช่วยปรับ ในสถานการณ์ปัจจุบัน น้ำมาแล้ว ให้เช่วยตัวเองได้ในระดับหนึ่งก่อน ดีกว่าปล่อยให้ท่วมแล้วไปกู้ทีหลัง หลายอย่างทำย้อนหลังไป เรื่องการปรับปรุงสภาพคลอง เป็นนวัตกรรมเร่งด่วน” นายชัชชาติระบุ

จากนั้น นายชัชชาติ หันไปกล่าวกับ นายอรรถเศรษฐ์ ว่า “อธิบายหน่อย เจ้าพ่อ Innovation” (นวัตกรรม)

ด้าน นายอรรถเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ต้องเรียนว่า เราคาดการณ์ไว้ว่า การเกิดปรากฏการณ์ลานีญา สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ฝนตกต่อเนื่อง 2 เดือนเต็ม น้ำสะสมในคลองมากขึ้น การระบายน้ำออกทำได้ไม่เหมือนเดิม ดังนั้น เราต้องพยายามทำให้ประสิทธิภาพของอุโมงค์ยักษ์ที่คนมักบอกว่า ไม่ทำงาน ทำงานได้มากขึ้น ทั้ง 3 อุโมงค์ คืออุโมงค์พระราม 9, อุโมงค์มักกะสัน และอุโมงค์บางซื่อ

อินโนเวชั่นนี้ ก็คือ การต้องกักน้ำกลางรายทาง ให้ออกทางขวามากที่สุด คือตั้งแต่คลองลาดพร้าว ตัดคลองบางซื่อ และคลองชวดใหญ่ ไปจนถึงพระราม 9

อีกส่วนที่ทำเสริมเข้าไป คือ กักยอดน้ำของคลองเปรมประชากร ให้ออกทางคลองบางเขน ก็เป็นจุดหนึ่ง ส่วนด้านล่างที่เราทำคือ คลองประเวศบุรีรมย์ ที่สถานีพระโขนง บางจุดเราก็มีไฮโดรโฟลว์ อีก 4 เครื่อง เพื่อกดน้ำให้อยู่ต่ำกว่าระดับควบคุม

หลายคนบอกว่า เมื่อมียอดน้ำสะสม เราจะออกทันไหมถ้าพายุเข้า โดยปกติแล้ว การลบน้ำ 1 ซม. ของคลองขนาดใหญ่ ใช้เวลา 1 ชม. ต่อ 1 ซม. แต่หลังจากที่เราทำอินโนเวชั่น เราทดลงมาได้ 3 ซม./ 1 ชม. ซึ่งจะเร็วขึ้น แม้ว่าปริมาณน้ำสะสมจะมีอยู่ในคลอง เราคิดว่าถ้าฝนตก 60 มล. ในระยะเวลา 3 ชม.ต่อเนื่องกัน กทม. รับอยู่ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร” นายอรรถเศรษฐ์ ชี้

ด้าน นายชัชชาติอธิบายเพิ่มเติมว่า น้ำวิ่งจากเหนือลงใต้คลองเปรมประชากร ลงคลองลาดพร้าว แต่ว่าจะมีอุโมงค์อยู่ทางตะวันออก ตะวันตก เช่น คลองบางซื่อ คลองบางเขน แต่บางทีน้ำไม่ได้เลี้ยวขวา น้ำวิ่งตรงๆ ถ้าอย่างนั้น ทำอย่างไรเราจะตัดน้ำให้เลี้ยวขวา ออกมาที่อุโมงค์ที่มีอยู่ให้มากขึ้น ไม่ต้องลงไปที่อุโมงค์พระราม 9 อย่างเดียว (อ่านข่าว : ชัชชาติไม่รอโปรเจ็กต์พันล้าน อะไรลุยได้ ทำเลย โชว์เทคนิคปักไม้ไผ่ช่วยน้ำไหลลงอุโมงค์บางซื่อไวขึ้น)

ก็ง่ายๆ ใช้ไม่ไผ่ปัก เอากระสอบทรายลง เป็นเหมือนที่ดักน้ำไว้ น้ำก็ไหลลงอุโมงค์มากขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของอุโมงค์ที่มีอยู่ ได้ค่อนข้างดี ที่ผ่านมาฝนมากกว่าปีที่แล้ว 2 เท่า ของเดือนกันยาน แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ของ กทม. ยังแห้งอยู่ ถือว่าที่ผ่านมา เรามาได้ถูกทาง ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทีมงาน ต้องขอบคุณมากๆ มีบางจุดที่หนักจริงๆ เช่น ลาดกระบัง บางเขน ดอนเมือง แต่ก็บรรเทาได้ พื้นที่ส่วนใหญ่ใน กทม. ยังไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำฝนที่เพิ่มถึง 2 เท่ากว่าในเดือนกันยายน” นายชัชชาติกล่าว

เมื่อถามว่า ประเมินแนวโน้มพายุโนรู ในพื้นที่ กทม.อย่างไร จะหนักขนาดไหน ?

นายชัชชาติ เผยว่า ตัวน้ำฝนเอง ถ้าดูจากแผนที่ฝน ไม่น่าเยอะ แต่ที่กังวลคือ น้ำที่ตกจากด้านบน ไหลมาตามม้ำเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ น่าจะไปตกภาคกลาง กับภาคอีสานเยอะ ทางด้าน จ.ลพบุรี สระบุรี ซึ่งอาจจะมีผลกระทบ เพราะสุดท้ายปลายทางก็กรุงเทพฯ อยู่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image