นักเคลื่อนไหว-นักวิชาการ พูดคุยปมสิ่งแวดล้อม แนะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกทม.

นักเคลื่อนไหว-นักวิชาการ พูดคุยปมสิ่งแวดล้อม แนะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกทม.

นักเคลื่อนไหว-นักวิชาการ พูดคุยปมสิ่งแวดล้อม แนะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกทม.

เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการจัดงาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่สุดในอาเซียน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตรของชั้น G และชั้น LG ศูนย์สิริกิติ์

เมื่อเวลา 13.00 น. ที่เวที Talk Stage มีกิจกรรม Panel Discussion ในหัวข้อ Bangkok Green Link เราจะเชื่อมกรุงเทพฯ และเมืองไทยด้วยพื้นที่สีเขียวในมิติต่างๆ ร่วมพูดคุยโดย น.ส.อนันตา อินทรอักษร ผู้ร่วมก่อตั้ง Big Trees Project, นายอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น.ส.ปารีณา ประยุกต์วงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Bangkok Rooftop Farming และนายยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ we!park

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า พื้นที่สีเขียวเป็นสิ่งที่จำเป็นกับมนุษย์โลก กับคนที่อยู่ในเมือง ชนบท และกับทุกๆคน หากถามว่ากรุงเทพฯมีพื้นที่สีเขียวมากพอหรือไม่ ตอบว่า ยังไม่เพียงพอ และถ้าถามว่าเราต้องการเพิ่มหรือไม่ ต้องตอบว่าต้องการเพิ่มเพราะการใช้ชีวิตประจำวันเราไม่สามารถเดินไปพื้นที่สีเขียวแบบแค่ 5 นาทีก็ถึงสวนได้

สำหรับมนุษย์กรุงเทพฯเราต้องเตรียมตัวตั้งแต่เย็นวันศุกร์ว่าพรุ่งนี้จะออกไปสวนสาธารณะ ปัจจุบันในกรุงเทพฯมีพื้นที่สีเขียว 76 ตรม.ต่อคน ถ้าเราจะมองว่ากรุงเทพฯจะเขียวได้อีกเรามาดูว่าเราจะเขียวแค่ไหน ถ้าตามมาตรฐานที่ WHO กำหนดไว้ที่ 9 ตรม.ต่อคน โจทย์คือเราจะให้คำจำกัดความแค่ไหนว่าเป็นพื้นที่สีเขียว แค่ไหนที่เรียกว่าเป็นพื้นที่สีเขียวที่ฮีลใจหรือฮีลสายตา แต่ถ้าเราแบ่งตามตัวชี้วัดของเมืองที่ดีมันต้องเป็นสีเขียวที่คนสามารถเข้าไปทำกิจกรรมได้

Advertisement
นายอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ถ้าเราเทียบกับปารีสที่มีพื้นที่สีเขียวประมาณ 13 ตรม.ต่อคน เราต้องไปปรับปรุงพื้นที่สีเขียวอื่นๆเช่นพื้นที่ราชการซึ่งกระจายตัวเยอะมาก อย่างในประเทศจีนเขามีนโยบายในการประกาศห้ามใช้สนามกอล์ฟในเมือง ดังนั้นอยู่ที่ว่าเราต้องการให้อีกใน 5-10 ปีเราเขียวแค่ไหน แล้วตรงนั้นถึงจะเป็นตัวแอคชั่นที่จะให้ทุกคนมาช่วยกัน พื้นที่ศักยภาพในเมืองของเรามีมากมาย เพียงแต่ว่าตอนนี้มีหลายคนที่ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเขียวที่ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนที่มีขนาดใหญ่เท่าสวนลุมพินีหรือสวนเบญจกิติ แต่เป็นเขียวเล็กๆที่ฮีลใจหรือฮีลสายตา ได้มองเห็นก็ดีแล้วแค่นี้ก็อาจจะพอแล้ว

ด้านนายยศพล กล่าวว่า ตนเคยเข้าไปคุยกับภาคีต่างๆ ซึ่งการทำโปรเจ็คใหญ่ๆต้องใช้พลังมหาศาลและไม่ใช่แค่เราแต่ต้องรวมถึงภาครัฐด้วย ตนรู้สึกว่าจริงๆกรุงเทพฯเกิดการพัฒนามาโดยตลอด สิ่งที่น่าคิดคือทุกครั้งของการโตของเมืองนั้นสิ่งที่หายไปคือพื้นที่สีเขียว มันเหมือนเป็นสิ่งที่ต้องเลือก ตนเคยคุยกับชาวบ้านและเขาบอกว่า พื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่ของคนชนชั้นกลาง

แต่จริงๆนี่เป็นปัญหาของสังคมโดยรวมเลย เรื่องอากาศหายใจ มลพิษ ความร้อน เพราะมันคือความสูญเสียธรรมชาติไป หากเราไปมองพื้นที่สีเขียวที่เกิดขึ้นเราก็ค้นพบว่ามันไม่ได้ตอบโจทย์ ชาวบ้านอาจไม่ได้อยากได้สวนไว้จ็อกกิ้ง แต่อยากได้สวนอย่างอื่นไว้ทำการค้าหรือตลาดนัดชุมชน

Advertisement

“เรื่องของพื้นที่สีเขียวคือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวของเมือง คำนี้สำคัญมาก ที่ผ่านมาเราพูดถึงการสร้างโครงสร้างที่เป็นวิศวกรรม โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ แต่โครงสร้างสีเขียวเราไม่เคยพูดถึงมาก่อน คุณวางแผนเรื่องการตัดถนนได้แต่ทำไมคุณวางแผนเรื่องโครงสร้างสีเขียวไม่ได้ โครงสร้างสีเขียวสามารถอยู่ได้ทุกที่เพียงแต่เราต้องรู้ว่านี่คือการแก้ไขปัญหาของเมือง

นายยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ we!park

แต่สิ่งที่ we!park กำลังโฟกัสคือพื้นที่ขนาดเล็ก เพราะว่าพื้นที่ขนาดใหญ่หาไม่ได้อีกแล้ว พื้นที่สีเขียวนอกจากในเชิงปริมาณแล้ว การกระจายตัวก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าใช้ระยะทาง 400 เมตร ใช้เวลา 10 นาทีในการเดินไปถึงกำลังดี เหมือนนโยบายสวนสาธารณะ 15 นาที ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ซึ่งอยู่ในระยะเดินที่เราเกิดการเข้าถึงได้ทุกคน” นายยศพล กล่าว

ด้านน.ส.อนันตา กล่าวถึงประเด็นเรื่องลมหายใจของต้นไม้ เมื่อต้นไม้สื่อสารไม่ได้ ผู้ที่จะสื่อสารกับเราแทนคือรุกขกร โดยรุกขกรจะดูแลทั้งสวนใหญ่และสวนเล็กหรือแม้กระทั่งสวนในบ้าน คนตัวเล็กๆเหล่านี้ต้องมีทั้งความรู้ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการอบรมต่างๆ แต่มันจะไม่เกิดขึ้นถ้าต้นไม้ไม่ถูกปลูกในใจคน นี่คือคนที่เข้ามาดูแลตัดแต่งต้นไม้หรือจะมาสื่อสารแทนต้นไม้

เมื่อเรารู้ว่าต้นไม้ต้องได้รับการดูแลและดูแลให้ถูกวิธี การจะตัดแต่งต้นไม้ไม่ใช่แค่ตัด แต่ต้องเข้าใจว่านิสัยและธรรมชาติเป็นแบบไหน ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับการรดน้ำ การเก็บเมล็ดพันธุ์มันเกิดขึ้นได้อย่างไร เรื่องนี้เลยทำให้เกิดโรงเรียนต้นไม้แห่งแรกของประเทศไทย โดยถ้าคุณจะมาเรียนตกแต่งต้นไม้ใจต้องมาก่อน

ในส่วนของน.ส.ปารีณา กล่าวว่า เมื่อเราปลูกต้นไม้เรารู้สึกว่าสิ่งที่ได้คือพลัง เราได้พลังดีๆจากต้นไม้เยอะที่ทำให้เรามีพลังชีวิต และเรารู้สึกว่าทุกคนมีความรับผิดชอบ วันนี้เราต้องแสดงความรับผิดชอบต่อโลก วันนี้ไม่ใช่ภาวะโลกร้อนแต่เป็นโลกรวน และเราจะแก้ไขได้อย่างไรในฐานะคนตัวเล็กๆ

อีกเรื่องคือความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งไม่ใช่ว่าจะต้องให้พรรคใดพรรคหนึ่งเป็นคนรับผิดชอบ แต่ต้องดูว่ารัฐมีหน้าที่อย่างไร ประชาชนมีหน้าที่อย่างไร ซึ่งทุกวันนี้สังคมไทยมาในจุดที่วิกฤตมากๆ ไม่มีใครตั้งหลักที่จะแก้ปัญหา ซึ่งตนเองได้มีการทำ Wastegetable ที่ห้างสรรพสินค้า Center One ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ปรากฏว่า ช่วงก่อนโควิดเมื่อ 4 ปีที่แล้ว มีเศษอาหารประมาณ 400 กิโลกรัม

สิ่งที่เจอคือเราจะจัดการกับมันอย่างไร ห้างเล็กๆนี้ก็ลงทุนซื้อเครื่องกำจัดเศษอาหาร ซึ่ง 1 ปีสามารถกำจัดเศษอาหารได้ 22 ตัน ปัญหาเรื่องเศษอาหารของประเทศเรา 55% ไม่ได้ถูกแก้อย่างถูกต้อง ซึ่งต้องแก้ด้วยการแยกขยะก่อนทิ้ง ตนจึงมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างมูลค่าให้ Food Waste และภาคธุรกิจหันมาสนใจ จึงทำเป็นโมเดลธุรกิจ ฟาร์มเล็กๆ 200 ตารางเมตรบนดาดฟ้าห้างสรรพสินค้า Center One เราสามารถปลูกผักได้ 240 กิโลกรัมต่อเดือน

น.ส.อนันตา อินทรอักษร ผู้ร่วมก่อตั้ง Big Trees Project

สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราสามารถจัดการ Food Waste ได้หมด สิ่งที่สองคือเราได้ปุ๋ยหมัก เมื่อเราทำไปเรื่อยๆก็มีการชวนชุมชนมาร่วม โมเดลธุรกิจตัวนี้ 2 ปีที่ผ่านมาเราสามารถจัดการ Food Waste ไปได้ 220 ตัน คำนวณ carbon footprint ออกมาได้ 80 ตัน ซึ่งเราทำรายงานให้กับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และได้ทำหนังสือออกมาเพื่อให้คนลองไปทำเพื่อที่จะนำไปสร้างรายได้ สร้างอาหาร พวกเราก็คงเป็นคนตัวเล็กๆคนหนึ่งที่จะสร้างพื้นที่สีเขียวที่กินได้

น.ส.ปารีณา ประยุกต์วงศ์

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image