ส.ก.ลาดกระบัง ทวง ‘เยียวยาท่วม’ ถกปัญหาแก้ไม่ตก ‘คนไร้บ้านไม่อยากอยู่ที่พัก’ หรือต้องมีกฎบังคับ ?

ส.ก.ลาดกระบัง ทวง ‘เยียวยาท่วมลาดกระบัง’ 1 เดือน ยังไม่ได้-ถกปัญหาแก้ไม่ตก ‘คนไร้บ้านไม่อยากอยู่บ้านพัก’ หรือต้องมีกฎบังคับ ?

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 ครั้งที่ 3 ประจำปีพุทธศักราช 2565

ทั้งนี้ น.ส.ศศิธร ประสิทธิ์พรอุดม ส.ก.เขตพระนคร พรรคก้าวไกล เสนอญัตติเรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (อ่านข่าว : ส.ก.เขตพระนคร วอนชัชชาติ ฟื้น ‘บ้านอิ่มใจ’ ช่วยคนไร้บ้านมีที่พึ่ง เลี่ยงปมก่อเหตุในสังคม)

ต่อมา นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา หรือ ดร.จอห์น ส.ก.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย ร่วมอภิปรายพร้อมกับฉายสไลด์ในประเด็นดังกล่าว ความว่า ปัญหาคนเร่ร่อนเป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาที่แก้ไม่ตก เทศกิจรวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนา ลงพื้นที่ตรวจสอบขอความร่วมมือ สุดท้ายคนไร้บ้านก็ย้ายจากจุดหนึ่งมาอีกจุดหนึ่ง ระยะทางห่างกันประมาณ 15 เมตร

Advertisement

“คนไร้บ้านกล่าวว่า ‘ผมอยู่ตรงนี้ผมสบายดี ผมไม่เดือดร้อนอะไร ผมไม่อยากได้รับความช่วยเหลือ’ ซึ่งในความคิดของเขา เขาไม่ต้องการความช่วยเหลือ และไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ตรงนี้เองถ้าเขาไม่ยินยอม เราไม่สามารถทำอะไรเขาได้ เพราะกฎหมายไม่มีการบังคับ สิ่งที่ทำได้คือการเกลี้ยกล่อมให้ทำสัญญา แล้วพอได้บ้านพักชั่วคราว ซึ่งกลุ่มคนเร่ร่อนไม่ชินกับสถานที่ใหม่ เพราะไม่มีความเป็นอิสระ และหนีออกมา

ท้ายที่สุด ถ้าโชคดีหน่อย ที่กลุ่มคนเหล่านั้นเป็นคนต่างจังหวัด เจ้าหน้าที่ก็จะนำตัวกลับไปส่งยังต่างจังหวัดโดยติดต่อญาติ ซึ่งถ้าเขาคุ้นชินกับสถานที่ ก็อยู่ได้ แต่ถ้าไม่คุ้นชินเขาก็หนีออกมาอีก ซึ่งการหนีออกมาก็คือการกลับมาที่เดิม หรือการไปตั้งรกรากในจังหวัดอื่นๆ กลับกัน ถ้าคนเร่ร่อนเป็นคน กทม. เข้าบ้านพักแล้วไม่คุ้นชิน ไม่อิสระ ส่วนใหญ่ก็จะหนีออกมาหมด ไม่กลับมาที่เดิมก็ไปตั้งรกรากที่เขตพระนคร ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร

Advertisement

เมื่อสักครู่ตนได้รับรายงานจากทีมงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนา เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจ เจ้าหน้าที่ศูนย์คนไร้ที่พึ่ง กทม. และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ลงพื้นที่เยี่ยมคนไร้บ้านที่ตนได้ยกตัวอย่างในสไลด์ไป บริเวณไฟแดง ถ.ร่มเกล้า เจ้าหน้าที่ได้สอบถามเพื่อให้เข้าไปอยู่ในบ้านพักคนเร่ร่อน แต่เขาไม่ประสงค์ที่จะเข้าไปอยู่” นายสุรจิตต์กล่าว และว่า

ตนมั่นใจว่าปัญหานี้เป็นปัญหาในหลายๆ พื้นที่ของ กทม. จึงฝากไปยังท่านประธานถึงคณะผู้บริหาร โปรดหามาตรการที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว ดูแล้วการทำสัญญากับคนเร่ร่อนเป็นไปได้ค่อนข้างยาก หรืออาจจะมีข้อกฎหมายบังคับเพิ่มเติม และอยากฝากเรื่องเงินเยียวยาอุทกภัย เพราะตอนที่ลงพื้นที่ประชาชนได้แจ้งว่ายังไม่ได้รับเงินเยียวยาในจุดนี้เลยมา 1 เดือนกว่าๆ แล้ว

อ่านข่าว :

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image