‘ชัชชาติ’ ลั่น บริหารแบบเดิมไม่ได้ โลกร้อนเร่ง ‘วัฏจักรน้ำ’ ทั่วโลกยก ‘วิกฤตอันดับ 1’ – หารือแนวทางสวีเดน

‘ชัชชาติ’ ลั่น บริหารแบบเดิมไม่ได้ เผย โลกร้อนเร่ง ‘วัฏจักรน้ำ’ ทั่วโลกประเมิน เป็นวิกฤตอันดับ 1 – แลกเปลี่ยนแนวทางสวีเดน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ ห้อง Auditorium ชั้น 2 ศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเปิดงานสัมมนาว่าด้วยน้ำและการจัดการน้ำเสียระหว่างไทยกับสวีเดน (Thai-Swedish Water and Wastewater Seminar) ซึ่งจัดโดย เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย โดยมี นายยูน ออสเตริม เกรินดาห์ล (Jon Åström Gröndahl) เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย และนายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมกล่าว

อ่านข่าว :  ‘ชัชชาติ’ เชื่อ ประปาไม่ไหลตายทั้งเมืองแน่ จ่อถก ‘ผู้ว่าฯ กปน.’ เพิ่มความมั่นคงน้ำ เล็งเก็บค่าบำบัด-พลิกระบบใหม่

นายชัชชาติกล่าวว่า น้ำเป็นพื้นฐานทุกด้านของชีวิต ซึ่งมักถูกกล่าวถึงในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ เนื่องจากปัญหาน้ำเป็นหนึ่งในความเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเวทีโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้บางส่วนของ “วัฏจักรของน้ำ” เร็วขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นทำให้อัตราการระเหยทั่วโลกเพิ่มขึ้น การระเหยมากขึ้นทำให้เกิดฝนเพิ่มขึ้น World Economic Forum ได้จัดอันดับให้วิกฤตการณ์น้ำเป็นอันดับ 1 ในการประเมินความเสี่ยงทั่วโลกในปี 2558 ซึ่งการบริหารจัดการแบบเดิมไม่สามารถตามทันผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่อแหล่งน้ำทั่วโลกได้

Advertisement

 

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กรุงเทพฯ ได้พบเจอปัญหาน้ำทั้งน้ำท่วม และน้ำเสีย ซึ่งปัญหาน้ำท่วมเกิดจากปริมาณน้ำฝนในเดือนกันยายน 65 (801.5 มม.) ซึ่งมีปริมาณ 1.5 เท่าของค่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 30 ปีของเดือนกันยายน (322.6 มม.) เพื่อรองรับสถานการณ์ กทม. ได้ขุดลอกท่อระบายน้ำและคูคลองเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น กทม.ต้องการสร้างทางน้ำใหม่ เพื่อลดระยะห่างระหว่างท่อระบายน้ำและแม่น้ำ เพื่อเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำสำหรับเมือง

“อีกปัญหาน้ำในกรุงเทพฯ ที่มีมานาน คือปัญหาน้ำเสียของแหล่งน้ำในธรรมชาติ เช่น แม่น้ำและลำคลอง ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ โครงสร้างหรือบ้านที่ไม่มีการควบคุมจนรุกล้ำคูคลอง บ้านเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีระบบบำบัดน้ำและถังบำบัดน้ำเสีย โดยจะทิ้งสิ่งปฏิกูลลงแหล่งน้ำธรรมชาติโดยตรง รวมทั้งเครือข่ายโรงงานบำบัดน้ำเสียที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพน้ำยังไม่สมบูรณ์ โดย กทม.มีโรงงานบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ จำนวน 8 แห่ง ครอบคลุมเพียง 22 เขต จาก 50 เขต ซึ่ง กทม.จะให้ความสำคัญกับการบำบัดน้ำเสียจากบ้านเรือน การติดตั้งระบบบำบัดน้ำที่จุดรวมน้ำเสียในพื้นที่ เช่น ตลาดสดใหญ่ๆ ในชุมชนต่างๆ เช่น ตลาดคลองเตย เป็นต้น”

Advertisement

 

“เชื่อว่าการสัมมนาในวันนี้ ที่รวบรวมผู้มีส่วนร่วมสำคัญจากไทยและสวีเดน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อแบ่งปันการแก้ไขปัญหาและเทคโนโลยีการจัดการน้ำและน้ำเสีย ประสบการณ์ และความท้าทายต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมสัมมนาในการค้นหาพื้นที่สำหรับการทำงานร่วมกันที่อาจเกิดขึ้น กทม.พร้อมเปิดรับความร่วมมือกับพันธมิตรทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหา เพราะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของ กทม.เพื่อที่จะนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน” นายชัชชาติกล่าว

ทั้งนี้ งานสัมมนาว่าด้วยน้ำและการจัดการน้ำเสียระหว่างไทยกับสวีเดน มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 11 พฤศจิกายนนี้ ณ ศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ความท้าทาย แนวทางการแก้ไขปัญหา และการถอดบทเรียนเรื่องการบริหารจัดการน้ำระหว่างไทยและสวีเดน แนะนำองค์การและโครงการริเริ่มที่มีความโดดเด่นของหน่วยงานในประเทศไทย ตลอดจนหารือเรื่องความร่วมมือ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

สำหรับ ผู้เข้าร่วมงานสัมมนา ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนของไทย และสวีเดน เช่น องค์การจัดการน้ำเสีย กระทรวงมหาดไทย สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร บริษัท TEAM Consulting Engineering and Management บริษัท ส.นภา (ประเทศไทย) บริษัท EastWater บริษัท Progress Technology Consultants Business Sweden รวมถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสวีเดน ที่มีภารกิจในการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างไทย-สวีเดน อาทิ IVL (สถาบันวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมสวีเดน) Alfa Laval (หน่วยงานด้านการจัดหานวัตกรรมเพื่อลดผลกระทบจากกิจกรรมที่ส่งผลต่อระบบนิเวศน์) Nordic water (หน่วยงานด้านการบำบัดน้ำเสีย) Xylem (หน่วยงานด้านนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาและการจัดการน้ำ) และAtlas Copco (หน่วยงานที่ริเริ่มโครงการจัดการน้ำสำหรับทุกคน และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือกับชุมชน)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image