‘วิศณุ’ ย้ำบทเรียนสุดแพง ‘ท่อมุดสายไฟลงดิน เคที’ 4 ปีผ่านไปไร้คนเช่า ตั้งเป้าใหม่ปีนี้ โละสายรุงรัง 1,000 กม.

‘วิศณุ’ ย้ำ ‘เคที’ บทเรียนราคาแพง คิดให้ดีก่อนทำโครงการ วาดไว้สวยหรูแต่ไปต่อไม่ได้ ‘ท่อมุดสายไฟลงดิน’ 4 ปีผ่านไปไร้คนเช่า ตั้งเป้าร่วม กฟน.-กสทช.ลุย 236 กม.ในปี 70 ปีนี้เคลียร์ให้จบ สายรกรุงรัง 1,000 กม.

เมื่อเวลา 09.11 น. วันที่ 4 มกราคม ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. แถลงข่าวเรื่องการนำสายสื่อสารลงดินและจัดระเบียบสายสื่อสาร

อ่านข่าว : ‘วิศณุ’ ชี้ ขนาดฟรียังขึ้นแค่วันละ 400 คน ยังไม่ได้ยกเลิก ‘เรือคลองผดุงฯ’ มี 3 ทางเลือก ขอทบทวนวิ่งเรือคลองแสนแสบ – BRT

‘ชัชชาติ’ ยันไม่ได้สั่งเลิก ‘มุดสายไฟลงดิน’ แค่กลัวไปไม่รอด แนะ ‘เคที’ ดูความคุ้ม หวั่นเพิ่มภาระปชช.

นายวิศณุกล่าวว่า โครงการนำสายสื่อสารลงดิน ทาง กทม.มอบหมายให้ทาง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ดำเนินการไป เราต้องดูไปก่อน เพราะว่าความจริง กทม.ไม่ได้ให้ยกเลิก เพียงแต่ว่าข้อเท็จจริงคือโครงการนี้เกิดมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2561 มาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

Advertisement

“ตอนช่วงมีผู้บริหารใหม่ขึ้นมา ก็สอบถามข้อมูลที่ผ่านมาถึงปีที่แล้วว่าดำเนินการไปได้อย่างไรบ้าง เคทีก็ได้ดำเนินการก่อสร้างท่อสายสื่อสารลงไป 9.9 กม. โดยประมาณ ประเด็นปัญหาคือ โครงการนี้มีแต่รายจ่าย แต่ยังไม่เกิดรายได้ คอนเซปเดิมคือกรุงเทพธนาคม ‘ก่อสร้างท่อลงใต้ดิน’ และคาดหวังว่าผู้ให้บริการทั้งหลาย จะเอาสายมาเช่าท่อร้อยสายตรงนี้ จน 4 ปีที่ผ่านมา 9.9 กม.ที่ผ่านไป ก็ไม่มีผู้ดำเนินการรายไหนมาใช้บริการ แปลว่าท่อที่เราสร้างไปคือสูญเงินเปล่า ถามว่าผู้ดำเนินการไปเช่าท่อก็มีท่อของรายอื่นให้บริการอยู่ เช่น ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ NT

“ตรงนี้ก็เลยเข้ามาให้ทบทวนดูว่า ยังดำเนินการจ้างไปเรื่อยๆ มีแต่รายจ่ายนะ มีแต่หนี้ ก่อหนี้เพิ่มไปเรื่อยๆ จะทำอย่างไร ยกตัวอย่างตอนนี้ ที่เคทีทำไปแล้ว มีการจ้างค่าก่อสร้างไป 118 ล้านบาท เฉพาะค่าก่อสร้างไม่รวมค่าที่สูญเสียไปแล้ว ค่าที่ปรึกษา ค่าออกแบบ แค่ให้มีการทบทวนแค่นี้ เป็นเรื่องตรงไปตรงมาว่า ‘เราไม่ได้ยกเลิกตัวรูปแบบธุรกิจที่เคทีทำ’ มันเดินด้วยตัวเองไม่ได้ มันดำเนินการต่อไม่ได้” นายวิศณุกล่าว

Advertisement

นายวิศณุกล่าวต่อว่า ในขณะเดียวกัน เมื่อปี 2563 ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็มีการตั้งข้อสังเกต มีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันทุจริต กรณีศึกษาโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2563 ซึ่งก็มีการทักท้วงของ ป.ป.ช. ไว้หลายประเด็น ซึ่งเมื่อ กทม.มาดูก็เห็นด้วยกับที่ ป.ป.ช.ได้ตั้งข้อสังเกตท้วงติงไว้ จึงมีการทบทวนโครงการนี้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องโครงการนำสายสื่อสารลงดิน จะมีการดำเนินงานอย่างไรต่อไป ?

นายวิศณุกล่าวว่า สายสื่อสารจะมีอยู่ 2 ส่วน คือ 1.การนำสายสื่อสารลงใต้ดิน 2.การจัดระเบียบสายสื่อสาร การตัดสายตายและลดจำนวนสายที่พาดให้น้อยลง โดยอาจเพิ่มขนาดของสายแต่ลดจำนวน และตัดสายออก

“มี 2 โครงการที่เราดำเนินการ โครงการแรก การนำสายสื่อสารลงดิน ตรงนี้หลักๆ จะมี 2 หน่วยงาน คือการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จะนำสายสื่อสารลงดินได้ ก็ต้องให้การไฟฟ้าเอาสายลงใต้ดิน และโครงการเราก็จะเดินคู่ขนานไปกับโครงการ ที่การไฟฟ้านำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ซึ่ง กฟน.ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 62 กม. แล้วจะมีแผนทำไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2570 เป้าหมายทั้งหมด 236 กม. ตรงนี้ถ้า กฟน.นำสายไฟฟ้าลงดินแล้ว รื้อถอนเสาไฟฟ้าออก ก็จะนำสายสื่อสารลงใต้ดินทั้งหมด เป้าหมาย 236 กม. ในปี 2570”

 

ขณะเดียวกันเรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสาร ก็ร่วมกับทาง กสทช. และกฟน. คือ กสทช.ก็มีแผนที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 161 กม. ใน 37 เส้นทาง และปีนี้ 2566 ก็จะดำเนินการต่ออีก 422 กม. โดยเป้าหมายของเราก็จะจัดระเบียบให้ครบ 1,000 กม.” นายวิศณุระบุ

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า หากโครงการทำท่อร้อยสายของเคที ยังไม่มีใครมาใช้ และโครงการต้องระงับไว้ไม่ก่อสร้างต่อ ส่วนที่ก่อสร้างไปแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ?

นายวิศณุกล่าวว่า ก็ต้องให้เคทีเป็นคนตอบ เราตั้งคำถามเคทีเหมือนกัน ที่จริงเราก็ไม่นิ่งนอนใจและพยายามไปทบทวน ช่วยหาลูกค้าให้ แต่ลูกค้าเหล่านั้นก็มีท่อไปแล้ว เขาเดินสายไปแล้วไม่มีความจำเป็นที่ต้องมาเดินสายซ้ำอีกครั้ง

“ผมว่าเป็นบทเรียน บทเรียนราคาแพงเหมือนกัน ว่าการที่จะทำอะไรต้องดูความเป็นไปได้ คือไม่ใช่เราเอาเงินไปจ่ายก่อนอย่างเดียว แล้วรายรับก็ไม่มี เราศึกษา Feasibility study (การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ) ทั้งหลาย บางครั้งคิดไว้สวยหรู ว่ารายรับจะมีคนใช้เท่านั้นเท่านี้ พอถึงเข้าจริงรายรับไม่มา คนใช้บริการไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ แต่สิ่งก่อสร้างจ่ายไปแล้ว มันถอนไม่ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ก็ต้องบุกเบิกเองของภาครัฐ ในการที่ศึกษาความเป็นไปได้ให้รอบคอบ” นายวิศณุกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image