ส.ก.จวกก่อสร้างไม่คืบ ‘ยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง’ งบ 1.6 พันล้าน สร้างเมืองสวรรค์ได้ ตร.-เขตเป็นใบ้ ตอบอะไรไม่ได้

‘ส.ก.ลาดกระบัง’ จวก โครงการก่อสร้าง ‘ยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง’ งบ 1,600 ล้านไม่คืบ เจ้าหน้าที่-ผอ.เขต-ตำรวจท้องที่ ไม่รู้ข้อมูลโครงการ แต่งบประมาณลงที่สำนักงานเขต

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 18 มกราคม ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เข้าประชุมด้วย

อ่านข่าว : ‘ส.ก.ราชเทวี’ โวย กทม.ไปคุยกันก่อน ‘ขี้เลนลอกท่อ’ ให้ทิ้งไหน? ราชทัณฑ์ทำช้ามาก กว่าจะเสร็จผู้ว่าฯ คงหมดวาระ

ในตอนหนึ่ง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา หรือ ดร.จอห์น ส.ก.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นกระทู้สดต่อสภา กทม. เรื่อง ความคืบหน้าการดำเนินการก่อสร้างสะพานยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่ยังไม่คืบหน้า

นายสุรจิตต์กล่าวว่า โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 900 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 สิ้นสุดวันที่ 11 สิงหาคม 2566 แต่ปัจจุบันการก่อสร้างยังไม่มีความคืบหน้า มีวัสดุอุปกรณ์วางกีดขวางทางจราจร ทำให้การจราจรจติดขัดมากยิ่งขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ต้องใช้ทางสัญจร โดยระยะทางเพียง 3.3 กิโลเมตร แต่ใช้งบประมาณมากถึง 1,664,550,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งเจ้าหน้าที่เขต และผู้อำนวยการเขตต่างก็ไม่ทราบข้อมูล หรือเป็นที่ปรึกษาในโครงการนี้

Advertisement

“โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง สำนักการโยธาฯ กทม. ทำโครงการด้วยวงเงิน 1,664,550,000 ล้านบาท เวลาก่อสร้าง 900 วัน ผู้ควบคุมงาน ไม่มีเจ้าหน้าที่เขต ไม่มี ผอ.เขต เป็นที่ปรึกษาโครงการหรือส่วนรับรู้ของโครงการนี้เลย” นายสุรจิตต์กล่าว

นายสุรจิตต์กล่าวต่อว่า ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง เป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้ต้องขยายสัญญาออกไป ความคืบหน้าก็มีเท่าเดิม แต่ละวันมีช่างมาดำเนินการเพียงไม่กี่คน

Advertisement

“แผนของการก่อสร้าง สัญญาจะมีอยู่ 2 ช่วง คือ 11 ส.ค. 66 ต้องแล้วเสร็จ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด ก็ได้ขยายสัญญาออกไป เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 1 ผลงานสะสมก็อยู่เท่าเดิม แต่ละวันมีช่างมาดำเนินการไม่กี่คน สร้างปัญหารถติดมากมาย แผนที่ 1 หลังจากการได้รับผลกระทบจากโควิด คุยกันเรียบร้อย ต่อสัญญาเพิ่มเติมเป็น 16 ธ.ค. 67 เสร็จทันไหม ไม่ทัน 3.3 กม. 1600 ล้าน 1 กม. 495 ล้าน เกือบ 500 ล้านบาท เข้าใจว่าโครงการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยผู้ว่าฯ ชัชชาติ” นายสุรจิตต์กล่าว

นายสุรจิตต์กล่าวต่อว่า แม้แต่ตำรวจในเขตพื้นที่รับผิดชอบก็ยังไม่ทราบว่าต้องดำเนินการอย่างไร ในการดูแลการจราจร เมื่อถามผม ตนก็ไม่ทราบ จึงโทรสอบถามเจ้าหน้าที่เขต ก็ไม่ทราบ ต้องโทรหาสำนักโยธาฯ แทน โครงการก่อสร้างพันกว่าล้าน แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับไม่ทราบข้อมูล ไม่มีส่วนร่วม

“นี่เป็น 1 ในข้อความของตำรวจจราจรในพื้นที่รับผิดชอบ เขาไม่รู้ว่าต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เพราะการสร้างทางยกระดับปิดถนน ดำเนินการบล็อกถนน ตำรวจไม่รู้เรื่อง ผมถามเขต เขตก็ไม่รู้เรื่อง ตำรวจเขายังไม่รู้อะไรเลย เขามาถามผม ก่อสร้างโครงการพันกว่าล้าน หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้เข้าร่วม แล้วเป็นการแก้ปัญหาถูกจุดหรือไม่ คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ เพราะอะไร 1,600 ล้าน ท่านได้มีการวิจัย วิเคราะห์ โครงการต่างๆ หรือเปล่าว่าสิ่งที่ท่านทำมาแล้วจะตอบโจทย์ หรือมีการทำประชาพิจารณ์ พูดคุยกับประชาชน หรือพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือเปล่า สำนักงานเขตเป็นใบ้เลย ตอบอะไรไม่ได้ โทรไปหาผู้บริหารสำนักงานเขต ส่งข้อมูลให้ผมหน่อย ผมไม่มีอะไรเลย ผมต้องขอสำนักโยธาฯ เห็นๆ เลยว่า สำนักงานเขตและสำนักการโยธาฯ ไม่ได้ร่วมมือกัน เป็นงบประมาณมาลงที่เขต การแก้ปัญหาทุกวันนี้มองด้วยตาเปล่าก็รู้ ไม่ถูกจุด” นายสุรจิตต์ชี้

ทั้งนี้ นายสุรจิตต์ได้ตั้งคำถามต่อ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

ข้อแรก ทาง กทม.จะมีการบูรณาการการทำงานระหว่างสำนักซึ่งเป็นเจ้าของงบประมาณกับ สนง.เขตที่เป็นเจ้าของพื้นที่ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ กทม. อย่างไร ?

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงแทนว่า ในเรื่องสะพานยกระดับ จะวางแผนทำงานในพื้นที่ ร่วมกับสำนักงานเขต และตำรวจจราจรตามที่แสดงความคิดเห็นมา ขณะเดียวกัน เรื่องร้องเรียนต่างๆ ของประชาชนผู้อาศัยและผู้สัญจร เราจะนำไปแก้ไขปรับปรุงในเรื่องลดผลกระทบกับพี่น้องประชาชน และให้ความร่วมมือในการแจ้งข้อมูลรูปแบบการก่อสร้าง ความก้าวหน้า รวมถึงงานก่อสร้างจะประชาสัมพันธ์ผ่านสำนักงานเขตให้ทราบ ผู้ควบคุมงานของสำนักการโยธาฯ ก็สามารถแจ้งได้โดยตรงอยู่แล้ว หรือแจ้งผ่าน ‘ทราฟฟี่ฟองดูว์’ ก็จะรับไปดำเนินการ

ข้อ 2 ทาง กทม. มีแผนการดำเนินการที่เร่งรัดให้เร็วขึ้นอย่างไร ?

นายวิศณุชี้แจงว่า ทางกทม. ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างทางยกระดับ จากแบบเดิมที่เป็นการก่อสร้าง girder box segment ซึ่งติดตั้งแบบหล่อคอนกรีตและเทในที่ ให้เป็น precast box segment โดยหล่อจากโรงงาน และขนย้ายมาติดตั้งบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง และจะแจ้งให้ผู้รับจ้างเพิ่มแรงงาน วัสดุ และเครื่องจักรเพื่อเร่งรัดงานก่อสร้างให้เร็วขึ้น และลดผลกระทบในระหว่างการก่อสร้าง

ข้อ 3 ทาง กทม. มีแนวทางลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน และผู้สัญจรผ่านบริเวณดังกล่าวอย่างไร ?

นายวิศณุชี้แจงว่า แนวทางการลดผลกระทบมีอยู่ 3 ด้าน ด้านแรก การจราจร เราก็จะจัดให้มีการกั้นพื้นที่ก่อสร้างบริเวณเกาะกลางถนน ให้เหลือช่องจราจรอย่างน้อย 2 ช่องต่อทิศทาง รวมถึงมีป้ายแนะนำ ป้ายเตือนอุบัติเหตุ และไฟแสงสว่างตลอดทั้งโครงการ และทางข้ามทางม้าลายจะมีการตีเส้นให้ชัดเจน พร้อมติดตั้งไฟเตือน ด้านฝุ่นละออง

“เราจะกำชับให้ผู้รับจ้างเร่งขนวัสดุจากการก่อสร้างออกนอกพื้นที่โดยเร็ว ไม่กองวัสดุทิ้งไว้เป็นเวลานาน รวมถึงให้เตรียมรถบรรทุกน้ำราดพื้นที่ก่อสร้างเพื่อลดฝุ่นละออง และจัดตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 รวมทั้ง PM 10 ด้วย และตรวจวัดควันดำเครื่องจักรที่ใช้ในงานก่อสร้างไม่ให้เกินมาตรฐาน และด้านเสียงรบกวน จะงดการก่อสร้างที่ทำให้เกิดเสียงดังในช่วงเวลากลางคืน” นายวิศณุกล่าว

ด้าน นายสุรจิตต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ถึงเรื่องงบประมาณว่า

“เงิน 1,600 ล้านบาท ถ้าผมได้เป็น ส.ก.ยุคนั้น ไม่มีทางได้เข้า 1,600 ล้านบาท สามารถสร้างลาดกระบังให้เป็นเมืองสวรรค์ ตีไปถนนเส้นละ 10 ล้าน ปรับปรุงได้ 160 เส้น” นายสุรจิตต์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image