ผู้ทรงคุณวุฒิชี้รัฐต้องบอก ‘ความจริง’ ผลตรวจรังสีซีเซียม-137 แนะเฝ้าระวังสุขภาพ ปชช. 5 ปี

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม ชี้รัฐต้องบอก ‘ความจริง’ ผลตรวจรังสีซีเซียม-137 แนะเฝ้าระวังประชาชนกลุ่มเสี่ยง 5 ปี

ความเคลื่อนไหวเรื่องวัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ต้องจับตาทุกแง่มุม แม้ว่า “ปราจีนบุรี” นำโดย ผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้ง สสจ.ปราจีนบุรี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ตำรวจ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมแถลงยืนยันพบ “ซีเซียม-137” ผสมใน “ฝุ่นเหล็ก” หรือ “ฝุ่นแดง” อยู่ในระบบปิด ไม่รั่วไหลออกไปภายนอก

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ได้ระบุถึงซีเซียม-137 (Cs-137) อีกครั้ง พร้อมแนะนำรัฐบอก “ความจริง” เกี่ยวกับผลตรวจวัดรังสี และผลกระทบต่อสุขภาพให้ประชาชนทราบ รวมทั้งเฝ้าระวังสุขภาะประชาชนกลุ่มเสี่ยงในรัศมี 5 กิโลเมตรอย่างน้อย 5 ปี

นายสนธิกล่าวว่า ความจริงที่ต้องยอมรับเพื่อนำไปสู่การจัดการสำหรับ Cs-137 ที่ถูกหลอมไปแล้ว

Advertisement

1.ข้อมูลกรมโรงงานฯ แท่ง Cs-137 ถูกหลอมกับเศษเหล็กแล้วที่โรงงานเคพีพี ซึ่งเป็นโรงงานหลอมเหล็กใน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี แล้วได้นำฝุ่นแดง 12.4 ตัน ในโรงงานไปสู่กระบวนการรีไซเคิล ที่ จ.ระยอง ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2566

ฝุ่นแดง หรือฝุ่นเหล็ก จำนวน 12.4 ตัน บรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ๊ก 16 ถุง ที่โรงงานใน จ.ระยอง รับมาจากโรงหลอมเหล็ก จ.ปราจีนบุรี เพื่อรีไซเคิล

2.กระบวนการหลอมเหล็กในเตาหลอมจะนำเศษเหล็ก (ซึ่งกรณีนี้มีแท่ง Cs-137 มารวมด้วย) มาอัดกันเป็นก้อนแล้วเทเข้าสู่เตาหลอมที่มีอุณหภูมิสูงถึง 1,200 องศา ขณะที่เพิ่มความร้อนจะมีฝุ่นเหล็กละเอียดออกมาลอยผ่าน Hood ขึ้นไปสู่ถุงกรองฝุ่น หรือ Baghouse filter ซึ่งจะทำการกรองฝุ่นละเอียดไว้ได้ถึง 90% อีก 10% จะลอยออกไปที่ปลายปล่องสู่บรรยากาศ ขณะที่ก้นเตาหลอมจะมีตะกรันเหล็ก หรือ Slag ที่เผาไหม้ไม่หมดกองอยู่ด้วย

3.ดังนั้น ที่ปลายปล่องมีฝุ่นละเอียดกับ Cs-137 ระบายออกไปสู่บรรยากาศรอบๆ โรงงานหลอมเหล็ก ซึ่งอาจไปไกลมากกว่า 5 กม. ส่วนฝุ่นแดงกับ Cs-137 ในถุงกรอง หรือ Baghouse filter จะถูกบรรจุในถุงขนาดใหญ่นำไปรีไซเคิลยังโรงงานบริษัท เอ็น เอฟ เอ็ม อาร์ จำกัด หนองแฟบ ห้วยโป่ง จ.ระยอง เพื่อสกัดธาตุสังกะสีออกมา ซึ่งการสกัดต้องใช้การถลุงที่ใช้ความร้อนสูงจึงอาจมี Cs-137 ปนเปื้อนออกมาที่ปลายปล่องสู่บรรยากาศรอบๆ โรงงานนั้นใน จ.ระยอง ด้วย ส่วนตะกรันเหล็ก หรือ Slag ทราบว่าโรงงานหลอมเอาไปฝังกลบไว้รอบๆ โรงงาน ดังนั้น จึงอาจมีสาร Cs-137 ปนเปื้อนในดิน น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดินได้

Advertisement

4.สิ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตหากสาร Cs-137 ปะปนในสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ ดิน น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และอาจเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศวิทยาเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ทั้งการหายใจและทางอาหาร เช่น Cs-137 ลงในน้ำเข้าสู่ตัวปลา และมนุษย์จับปลามากิน เป็นต้น หรือหายใจเอาฝุ่นของ Cs-137 เข้าไปจะสะสมอยู่ในร่างกาย ซึ่งสาร Cs-137 จะปล่อยรังสีแกมมาและเบต้าออกมา การสลายตัวครึ่งชีวิตใช้เวลาถึง 30 ปี รังสีที่แผ่ออกมาจากฝุ่น Cs-137 จะทำให้เซลล์ในร่างกายเกิด Mutation หรือกลายเป็นเซลล์ที่ผิดปกติ บางส่วนของรังสีจะไปกระตุ้นโครโมโซมในยีนส์ให้เปลี่ยนรูป สุดท้ายประมาณ 5-10 ปีก็อาจกลายเป็นมะเร็งได้

5.ผลกระทบต่อสุขภาพในปัจจุบันอาจไม่ค่อยเห็น แต่ระยะยาวหากรับสารนี้เข้าไปไม่ว่าทางการหายใจ หรือการกินมีผลกระทบแน่ ดังนั้น ภาครัฐต้องเฝ้าระวังสุขภาพของพนักงานและประชาชน รวมทั้งในสิ่งแวดล้อมและในอาหารสัตว์น้ำ พืช ผัก ผลไม้ที่ปลูกใกล้เคียงโรงงานอย่างน้อย 1-2 ปี ให้แน่ใจว่าไม่มีสาร Cs-137 ตกค้างในห่วงโซ่อาหารแล้วจึงค่อยวางมือ

ขณะเดียวกันต้องบอกความจริงเกี่ยวกับผลของการตรวจวัดรังสี และผลกระทบต่อสุขภาพให้ประชาชนทราบ รวมทั้งเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนกลุ่มเสี่ยงในรัศมี 5 กิโลเมตรอย่างน้อย 5 ปีด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image