ส.ก.พุทธิพัชร์ ถาม ‘พระราม 3’ หรือ ‘ดาวอังคาร’ หลุม บ่อ ฝาท่อ ฝุ่น ครบจบในที่เดียว

ส.ก.พุทธิพัชร์ ถาม ‘พระราม 3’ หรือ ‘ดาวอังคาร’ หลุม บ่อ ฝาท่อ ฝุ่น ครบจบในที่เดียว

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 เมษายน ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 3) ประจำพุทธศักราช 2566 โดยมี นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.เขตมีนบุรี พรรคเพื่อไทย นั่งเป็นประธานสภา กทม. พร้อมด้วยฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร มีผู้เข้าร่วมได้แก่ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทั้ง 50 เขต คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครทั้งคณะ ทีมที่ปรึกษาฯ ตลอดจนเลขานุการผู้ว่าฯกทม. ร่วมประชุม

ในตอนหนึ่ง นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา พรรคก้าวไกล เสนอญัตติเรื่อง ขอให้กรุงเทพฯแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานบนถนนในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร เช่น การนำสายไฟฟ้าลงดิน การปรับปรุงระบบท่อประปา หรือการปรับปรุงซ่อมแซมฝาบ่อพักท่อระบายน้ำ ซึ่งหลายโครงการยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จเกิดปัญหาด้านจราจรติดขัด มีการปิดเบี่ยงช่องทางจราจร ผิวจราจรชำรุด ทำให้ประชาชนสันจรไม่สะดวก และปัญหาด้านมลพิษทางเสียงและอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

Advertisement

“สิ่งที่เสียไปคือโอกาส ตั้งแต่ด้านขวาถนนคลองเตยจนถึงวงแหวนอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่ริมแม่น้ำ ผังเมืองสีแดง พื้นที่ที่เหลือออกไปบางคอแหลมเป็นผังเมืองสีน้ำตาล สามารถเป็นเส้นทางธุรกิจ สามารถสร้างตึกสูงระฟ้าก็ได้ และยังเป็นเส้นหลักที่ขนคนจากฝั่งธนบุรีเพื่อเข้ากรุงเทพฯ หรือขนคนออกจากกรุงเทพฯข้ามไปสมุทรปราการ ไปพระประแดง ไปปู่เจ้าสมิงพราย” นายพุทธิพัชร์กล่าว

นายพุทธิพัชร์เผยว่า ปัญหาของช่องทาง BRT ส่งผลกระทบหลายด้าน 1.กินเลนถนนพระราม 3 ไปแล้ว 1 เลน ทำให้ช่องทางจราจรติดขัด และ 2.ตัวหนอนที่สร้างไม่ได้คุณภาพ หลุด เอียง บางครั้งรถก็เกยขึ้นไปเสย ตรงนี้ต้องแก้อย่างจริงจัง

Advertisement

“ผมอาจจะขอยืมท่านสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ทำเรื่องรถไฟบนคลองพระราม 3 หรือในอนาคตอาจเป็นเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีเทา สีเงิน หวังว่าในอนาคตจะดีขึ้น” นายพุทธิพัชร์กล่าว

นายพุทธิพัชร์อภิปรายต่อว่า ยังมีปัญหาถนนทรุด ซึ่งความจริงแล้ว ครั้งแรกที่สร้างถนนพระราม 3 มีการขุดท่อร้อยสายไฟไว้ แต่หลังจากนั้นไม่ได้ใช้ร้อยสายไฟ พอครั้งนี้จะนำสายไฟลงดิน มีการขุดใหม่ทำให้โพรงเดิมที่มีทรายอยู่ตัน ดังนั้น พอมีน้ำท่วม มีน้ำขึ้น ทรายที่มาแทนหลุมที่ขุดไว้แล้วก็จะเกิดโพรง ถ้าเหยียบผิดจุดรถจะหล่นไปทั้งคัน

“ปัญหานี้ไม่รู้จะแก้ยังไง ก่อนหน้านี้วิธีการแก้ก็คือเอายางแอสฟัลต์ (asphalt) มาปะ เดี๋ยวนี้ดีขึ้นเป็นคอนกรีตแห้งเร็ว ถือว่ามีการพัฒนาที่ดี แต่ว่ามันยังเป็นอันตรายอยู่ ถนนทรุดไม่พอ ฝาท่อปิดไม่สนิท มีช่องให้รถมอเตอร์ไซค์ลงไปในช่องแล้วพลิกคว่ำได้ ปัญหานี้ก็ยังแก้ไม่ได้

 

“ขนาดท่านผู้ว่าฯลงไปชี้จุดเอง ดีได้ 1-2 เดือน ก็เป็นอีก มันไม่ใช่มีแค่หลุม สองหลุม ถนนทั้งพระราม 3 เกือบ 200 หลุม แก้ไม่ได้ครับ ชี้จุดนี้จุดนู้นเป็น เราทำไรได้บ้างครับ นอกจากทำใจ ผมหวังว่าในการพิจารณาหาผู้รับเหมาขอเลือกคนที่มีคุณภาพ” นายพุทธิพัชร์แจง

นอกจากนี้ นายพุทธิพัชร์ยังกล่าวต่อว่า ยังมีเรื่องการฝังท่อของประปา แม้จะมีการส่งหนังสือให้ทำทุกอย่างคืนเหมือนเดิมแต่ก็ไม่ได้ บางที่เอาแอสฟัลต์ร้อนเท ดำพรืดเป็นแถบตลอดแถวเป็นลายมังกร จนตนนึกว่าพญานาคเลื้อย จะต้องอย่าลืมว่าเป็นพื้นที่คนอาศัยเยอะ ส่งคนเข้าไปทำงานสีลม สาทร ปทุมวัน เรื่องฝุ่นเองก็เป็นอันดับต้นๆ ของ กทม. เพราะโครงการก่อสร้าง

“ผมว่าหลายๆ เขตก็เจอเรื่องนี้ เรื่องแนวท่อประปา ของผมมีทั้งฟุตปาธ มีทั้งบนถนน อันนี้ผมเอาแค่บนฟุตปาธมาก่อน คนแก่สูงอายุเดินมาสะดุดพื้น หัวทิ่ม ไม่คุ้ม แก้ไม่ได้ เอาเขตมาแก้ก็ได้แค่ ปะ ปะ ปะ จนผมบอกว่าเปลี่ยนชื่อไหม พระราม 3 เปลี่ยนเป็นดาวอังคารก็ได้ ไม่ไหวครับแบบนี้” นายพุทธิพัชร์กล่าว

อ่านข่าว :

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image