หมอห่วง อีก 3 สัปดาห์ ‘เปิดเทอม-เข้าฝน’ เด็กติดโควิด-ไข้หวัดใหญ่ พุ่ง! แนะรับ ‘วัคซีนกระตุ้น’ อย่าห่วงพิษสะสม

หมอห่วง อีก 3 สัปดาห์ ‘เปิดเทอม-เข้าฝน’ เด็กติดโควิด-ไข้หวัดใหญ่ พุ่ง! แนะรับ ‘วัคซีนกระตุ้น’ อย่าห่วงพิษสะสม

ความคืบหน้ากรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่างๆ มีข้อกังวลโรคโควิด-19 จะกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งหลังเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากมีแนวโน้มพบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน XBB.1.16 แพร่ระบาดอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งตลอดสัปดาห์ สธ.ได้มีการเตรียมความพร้อมควบคุมโรคแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 21 เมษายน รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สธ. และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นห่วงในช่วงเปิดเทอมอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า อาจจะพบการระบาดในกลุ่มเด็กนักเรียนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะซ้อนกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ เพราะเป็นช่วงเข้าฤดูฝน ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลก่อนเทศกาลสงกรานต์พบว่าในผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบหายใจและไปพบแพทย์ประมาณ 100 รายเศษ ร้อยละ 3.6 ติดเชื้อโควิด-19 และอีกเกือบร้อยละ 15 ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ในระยะต่อจากนี้ไปจึงขอให้บุคลากรทางการแพทย์เตรียมพร้อมรับมือ เพราะขณะนี้ยังไม่ถึงรอบการฉีดวัคซีนป้องกันทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่ภูมิคุ้มกันตก โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ที่คาดว่าจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 30-40

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวถึงกรณีความกังวลกรณีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หลายเข็ม จะสะสมในร่างกายหรือไม่ ว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้น มีการพิจารณาแล้วว่า เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ที่ต้องดู 3 เรื่อง คือ ติดเชื้อหรือไม่ ป่วยหนักหรือไม่ และเสียชีวิตหรือไม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ที่เสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงของโรค แต่หากฉีดวัคซีนไปก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและป้องกันการเสียชีวิตได้ ข้อมูลยืนยันว่าการฉีดวัคซีนมากกว่า 3 เข็มขึ้นไป มีประโยชน์ชัดเจนมาก

Advertisement

“ขณะที่การป้องกันการติดเชื้อนั้น จะขึ้นอยู่กับเชื้อที่เปลี่ยนแปลงหน้าตาไป ถ้าเชื้อเปลี่ยนเร็ว แต่ภูมิคุ้มกันในร่างกายยังจำหน้าตาได้ การป้องกันติดเชื้ออาจลดลงแต่ยังลดความรุนแรงของโรคได้ดี ข้อมูลล่าสุดจากทางยุโรป ที่ฉีดวัคซีนหลายร้อยล้านโดส พบว่ามีประโยชน์ในการป้องกันการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ถึง 100 ล้านคน ส่วนไทยอยู่ประมาณ 4.9 แสนคน ยังไม่นับรวมลดจำนวนผู้ป่วยอาการเจ็บหนัก ดังนั้น มีการชั่งน้ำหนักแล้วว่า การฉีดมีประโยชน์มากกว่าโทษ ส่วนความกังวลผลข้างเคียงจากการฉีดนั้น ต้องเอาข้อมูลมาดู ซึ่งชัดเจนว่า การติดเชื้อโควิด-19 ตามธรรมชาติ มีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 1 ต่อพันคน แต่วัคซีนมีโอกาสเกิด 1 ต่อล้านคน ฉะนั้นต้องชั่งน้ำหนัก ประโยชน์ที่จะได้รับ เพื่อป้องกันชีวิต เหมือนเป็นการซื้อประกันให้ตัวเอง” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวอีกว่า ส่วนคำถามว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 หลายเข็มจะเกิดการสะสมในร่างกายหรือไม่นั้น ยืนยันว่า ยังไม่มีข้อมูลวิชาการว่าวัคซีนจะสะสมในร่างกาย มีแต่ความกังวลไปเอง เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ฉีดมากกว่า 80 ปี

“ผมเองก็ฉีดมาอย่างน้อย 15 ปีแล้ว เพราะแต่ละปีภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะลดลง ขณะที่เชื้อมีการเปลี่ยนแปลงหน้าตาเพื่อความอยู่รอดในธรรมชาติ เพื่อให้ร่างกายตรวจจับเชื้อไม่ได้ จึงต้องมีการฉีดกระตุ้นทุกปี หรือดูได้จากบุคลากรทางการแพทย์ ทำงานใกล้ชิดเชื้อรอบตัว ร้อยละ 99 ก็ฉีดวัคซีนโควิด-19 มากกว่า 4 เข็มแล้ว” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา กองวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดอบรมหัวข้อ “COVID-19 สายพันธุ์ XBB.1.16 สำคัญอย่างไร” ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มให้วัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชน และหลายคนติดเชื้อโควิด-19 ตามธรรมชาติ จนถึงขณะนี้คาดว่าคนไทยประมาณร้อยละ 94 มีภูมิคุ้มกันโควิด-19 แล้วในระดับหนึ่ง และจากนี้ไปจะเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยการฉีดวัคซีนเป็นระยะๆ ตามจังหวะที่ภูมิคุ้มกันเริ่มตก ซึ่งประเทศไทยจะเริ่มแผนให้วัคซีนโควิด-19 ประจำปี

“สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนนั้น จากการศึกษาพบว่า ลดการตายในกลุ่มผู้สูงอายุได้ 4 เท่า และลดการตายในเด็กได้ 3 เท่า ในการฉีดวัคซีนเข้มกระตุ้นในช่วงที่ภูมิคุ้มกันตกนั้น หากติดจะช่วยไม่ให้เสียชีวิต และลดอาการรุนแรง ทั้งนี้ มีงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศยืนยันว่า การฉีดวัคซีน 3 เข็ม ดีกว่าฉีด 2 เข็ม ถ้าฉีด 4 เข็ม ดีกว่าฉีด 3 เข็ม ถ้าฉีดนาน 4- 6 เดือน แล้ว ภูมิคุ้มกันจะตก เมื่อไปฉีดกระตุ้นเซลล์ในร่างกายจะจดจำได้ จะยิ่งเพิ่มภูมิคุ้มกัน ดังนั้น จึงมีคำแนะนำว่า หากใครได้รับวัคซีนนานเกิน 4-6 เดือนแล้ว ขอให้ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยจะเป็นวัคซีนยี่ห้อใด หรือจะฉีดสลับ (ไขว้) ก็ได้ และหากใครมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ก็ควรเข้ารับวัคซีนควบคู่กับยา LAAB ซึ่งจากการศึกษาพบว่าในขณะนี้ ยา LAAB ยังสามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อื่นที่มีในประเทศไทยได้ ยกเว้น XBB.1.16 อย่างไรก็ตาม จากการติดตามข้อมูลการรับวัคซีน พบว่าในกลุ่มผู้สูงอายุได้รับวัคซีน 3 เข็ม เพียงร้อยละ 44.4 เท่านั้น ขณะที่กลุ่มเด็กเล็กก็ยังได้วัคซีนน้อยมาก ทั้งๆ ที่ 2 กลุ่มนี้ หากติดเชื้อมีความเสี่ยงอาการหนักหรือเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่นๆ” ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าว

ทั้งนี้ ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวอีกว่า จากการศึกษาพบว่าในกลุ่มผู้สูงอายุหากรับวัคซีนโควิด-19 รุ่น 2 ชนิดไบวาเลนท์ หากติดเชื้อจะลดการนอนโรงพยาบาลได้ถึงร้อยละ 73

สำหรับข้อห่วงกังวลอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนนั้น ยืนยันว่าถ้าเกิดก็น้อยกว่าโอกาสติดเชื้อ และเพื่อลดอาการข้างเคียง ขอให้คนที่รับวัคซีนปฏิบัติตัวตามคำแนะของแพทย์ เช่น งดการออกกำลังกายหลังฉีด เป็นต้น และยังมีการข้อมูลว่าวัคซีนจะเพิ่มโอกาสให้เกิดโรคระบบประสาทมากขึ้น

“สำหรับหมอเอง เนื่องจากมีความเสี่ยงจากการพบผู้ป่วยจำนวนมาก จึงฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว 6 เข็ม โดยเข็มล่าสุดรับมาแล้วประมาณ 4-5 เดือน และกำลังจะเข้ารับเข็มถัดไปในเร็วๆนี้ นอกจากนั้น ยังเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แล้วด้วย” ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image