แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยัน ฉีดวัคซีนโควิด-19 ลดโอกาสเกิด “ลองโควิด” ได้จริง ชี้ พบมากในเพศหญิง

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยัน ฉีดวัคซีนโควิด-19 ลดโอกาสเกิด “ลองโควิด” ได้จริง ชี้ พบมากในเพศหญิง ขอมารับปีละเข็มพร้อมไข้หวัดใหญ่

เมื่อวันที่ 22 เมษายน รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าวถึงการเกิดภาวะลองโควิด-19 (Long Covid-19) ว่า อาการลองโควิดคือ อาการที่หลงเหลือหลังจากการหายติดเชื้อโควิด ซึ่งบางรายเกิดอาการต่อเนื่องยาวเป็นปีๆ เช่น ไอ คัดจมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ซึ่งทำลายคุณภาพชีวิตอย่างมาก ทั้งนี้ มีการศึกษาวิจัยออกมายืนยันว่าการเกิดอาการลองโควิด สัมพันธ์กับอาการที่เกิดขึ้นในขณะป่วย หรืออธิบายง่ายๆ ว่า ถ้าตอนติดเชื้อโควิดมีอาการมาก ก็จะมีโอกาสที่เกิดลองโควิดได้มากเช่นกัน แต่ถ้าอาการน้อย ก็จะเกิดอาการลองโควิดได้น้อย หรือไม่มีเลย

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีอาวุธในการต่อสู้กับอาการของโควิด คือวัคซีนโควิด ซึ่งมีความปลอดภัยสูง ทั่วโลกฉีดแล้วกว่าพันล้านโดส แต่แน่นอนว่า การฉีดวัคซีนแล้วแต่ก็ยังติดเชื้อในภายหลังได้ เพราะไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงหน้าตาไปบ้าง แต่สิ่งที่ป้องกันได้ดีคือ ป้องกันการเกิดอาการป่วย การป่วยหนัก และการเสียชีวิต

“ดังนั้น ถ้าเราฉีดวัคซีนโควิด หากติดเชื้อก็จะอาการน้อย เมื่ออาการน้อยก็จะมีโอกาสเกิดลองโควิดได้น้อย เมื่อเทียบกับคนไม่ฉีดวัคซีนก็มีโอกาสเป็นลองโควิดสูงกว่าคนที่ฉีดมาก หรือเทียบกับผู้ป่วยโควิดที่อาการน้อย จนถึงขั้นเข้าไอซียู ก็จะเกิดลองโควิดได้มากกว่าคนที่ป่วยแล้วอาการน้อยๆ” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

Advertisement

เมื่อถามถึงปัจจัยการเกิดลองโควิด รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า จะขึ้นกับ 4 ปัจจัยหลักๆ คือ 1.ความรุนแรงของอาการขณะติดเชื้อ 2.การได้รับวัคซีน 3.เพศ ซึ่งมีข้อมูลว่าเพศหญิงมีโอกาสเกิดลองโควิดมากกว่าเพศชาย และ 4.อายุ ช่วงเด็กจะเกิดลองโควิดน้อยกว่าผู้ใหญ่

“ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ศึกษาข้อมูลคนไทย พบว่า คนไทยมีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนโควิด และภูมิฯ ที่ได้จากการติดเชื้อตามธรรมชาติ ถึงร้อยละ 94 ซึ่งตัวเลขใกล้เคียงกับการศึกษาของอาจารย์ยง ภู่วรวรรณ สรุปง่ายๆ คือตอนนี้คนไทยมีภูมิฯ ต่อโควิดสูงมากแล้ว ส่วนคำถามว่า ภูมิฯ สูงแล้วจะฉีดวัคซีนทำไมอีก ก็เพราะ เชื้อมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดของไวรัส ฉะนั้น การฉีดวัคซีนก็เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายป้องกันเชื้อได้ดีขึ้น โดยโควิดก็จะเหมือนโรคประจำถิ่นที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะระบาดสูงขึ้นตอนไหน อย่างไข้หวัดใหญ่ จะระบาดช่วงหน้าฝน ทางกระทรวงสาธารณสุขก็รับมือด้วยวัคซีน วัคซีนโควิดเองก็จะปรับมาเป็นวัคซีนประจำปี ฉีดปีละ 1 เข็ม ฉะนั้น จากนี้ช่วงหน้าฝนเราก็จะเจอทั้งโควิดและไข้หวัดใหญ่ ก็ต้องให้กลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนทั้ง 2 โรคเพื่อป้องกันการเสียชีวิต” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image