ปลัด สธ.ยอมรับ ‘ค่าตอบแทน-ภาระงาน’ มีผลให้แห่ลาออก ถ้าได้งบและคนเพิ่ม จัดการดีขึ้น

‘ปลัด สธ.’ เผย ‘ค่าตอบแทน-ภาระงาน’ มีผลบุคลากรแห่ลาออก ยัน สธ.ดูแลดีที่สุด สางปมปัญหา รพ.ศูนย์-รพ.ทั่วไปงานโหลด เร่งปรับระบบแก้ไข

เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 6 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากทยอยลาออกจากราชการ ว่าวันเดียวกันนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายบริหาร จะมีการเสนอข้อมูลภาพรวมและเหตุการณ์ที่ประชาชนสนใจ

ผู้สื่อข่าวถามถึงจำนวนหมอที่ลาออกในขณะนี้ นพ.โอภาสกล่าวว่า ให้รอฟังจากการแถลง เนื่องจากมีรายละเอียดเยอะ

เมื่อถามถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนโยบายที่ไม่รับหมอจบใหม่และบุคลากรเพิ่ม นพ.โอกาสกล่าวย้อนว่า มีด้วยหรือนโยบายที่จะไม่รับหมอ มีแต่อยากจะรับเยอะๆ อยากรับเพิ่ม แต่คนที่จะอนุมัติให้รับเพิ่มคือสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และรัฐบาล ต้องยอมรับว่าความต้องการรับบริการของประชาชนมีสูง โดยเฉพาะช่วงหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่พยายามจะยกระดับทำงาน แต่มีข้อจำกัดเรื่องบุคลากร

Advertisement

ปลัด สธ.กล่าวว่า ขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่อนุมัติบุคลากรการแพทย์หลังโควิด 45,000 อัตรา ทำให้ความกดดันเรื่องบุคลากรลดลงแต่ยังไม่หมด เนื่องจากความต้องการรับบริการของประชาชนมีมาก นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณที่ได้รับจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เหมาจ่ายรายหัว ซึ่งเราหวังว่าจะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นให้เท่ากับที่ต้องบริการประชาชน

เมื่อถามว่าเรื่องงบประมาณเป็นปัญหาหลักที่ทำให้บุคลากรลาออกหรือไม่ ปลัด สธ.กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่ง มีทั้งเรื่องบุคลากร และหากสังเกตทุกอย่างอยู่นอกการควบคุมของกระทรวง สธ. เราใช้ทรัพยากรทั้งคนและเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดมาบริการประชาชนให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อไม่ให้เดือดร้อน

“ต้องขอบคุณหมอ พยาบาล และบุคลากรทุกคนที่เสียสละ ทุ่มเท ทำงานให้ประเทศและกระทรวงเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างดีที่สุด เราจะดูแลจัดการเรื่องนี้ให้มีประสิทธิภาพ ได้กำชับเรื่องสวัสดิการและภาระงานไม่ให้เกินไป ดูจากตัวเลขภาระงานค่อยๆ ลดลงและดีขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าหมดไป ส่วนที่มีบางจุดที่เป็นปัญหาก็ค่อยๆ แก้เป็นจุดๆ ไป” นพ.โอภาสกล่าว

Advertisement

นพ.โอภาสกล่าวด้วยว่า ในสังคมปัจจุบันประชาชนที่อยู่ในชนบทตอนนี้มาอยู่ในเมืองเยอะกว่า ทำให้ภาระงานในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปมีมากกว่าโรงพยาบาลอำเภอ กระทรวงพยายามปรับเปลี่ยนตรงนี้เพื่อให้เกิดความสมดุล โดยยึดถือนโยบายว่าจังหวัดหนึ่งให้เป็นโรงพยาบาลเดียวกันก็จะอยู่โรงพยาบาลไหนสามารถเคลื่อนย้ายบุคลากรกันได้ ไม่ให้เกิดภาระงานของที่ใดหนักเกินไป

เมื่อถามว่าจะทำให้เกิด “สมองไหล” ในวงการแพทย์หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า เราต้องใช้มาตรการหลายส่วน และการที่บุคลากรจะอยู่ได้ หนึ่งคือเรื่องค่าตอบแทน ต้องเปรียบเทียบกับภาคเอกชนที่เป็นการดึงดูดใจ และเรื่องสวัสดิการที่กระทรวงเพิ่มค่าตอบแทนและโอทีเพิ่มเข้าไป รวมถึงดูแลเรื่องบ้านพัก กำชับให้สร้างบ้านพักสำหรับหมอและพยาบาลให้เพียงพอ ตลอดจนความก้าวหน้าในวิชาชีพ

นพ.โอภาสกล่าวว่า ตอนนี้หมอได้ซี 9 ทุกคน ส่วนพยาบาลพยายามที่จะให้ซี 8 ซี 9 ทุกคน ถ้าทำได้ ทั้งนี้ ต้องดูระเบียบของ ก.พ. เรื่องภาระงานยอมรับว่าเป็นเรื่องที่แก้ยาก เนื่องจากความต้องการของประชาชนมีเยอะ แต่ถ้ามีบุคลากรและงบประมาณเพิ่มขึ้นก็จะจัดการได้ดีขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะแก้ไขเบื้องต้นกรณีบุคลากรลาออกได้อย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า ภาพรวมของบุคลากรที่รับเหมาต่อปีประมาณ 2,000 คน ที่ลาจะออกส่วนหนึ่งคือแพทย์เพิ่มพูนทักษะ เมื่อจบแล้วบางคนอยากไปเรียนต่อสามารถเกิดได้เป็นปกติปีละประมาณ 10% และที่กลับเข้ามาใหม่ในระบบตัวเลขถือว่าเป็นบวก ดังนั้น จำนวนบุคลากรที่ขาดแคลนยังมีอยู่ แต่ไม่ถึงกับกดดันมากนัก และอาจมีบางจุดที่เป็นปัญหาเหมือนโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปกำลังจะมีการปรับเปลี่ยนระบบไม่ให้ภาระงานเยอะจนเกินไป

เมื่อถามย้ำว่าอีกสาเหตุคือบุคลากรไม่ได้รับการบรรจุหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า เราบรรจุเกือบทุกคนที่อยากอยู่กับเรา แต่บางครั้งแพทย์ที่ไม่ได้ใช้ทุน อยู่ในมหาวิทยาลัยเอกชน หรือแพทย์ที่จบจากต่างประเทศที่ไม่มีสัญญาใช้ทุน แต่ถ้าต้องการอยู่กับเราก็จะหาตำแหน่งทางราชการให้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image