8 มิ.ย.วันทะเลโลก ดร.ธรณ์ชี้ น้ำทะเลอุณหภูมิสูง เป็นห่วงปะการังฟอกขาว

8 มิ.ย.วันทะเลโลก ดร.ธรณ์ชี้ น้ำทะเลอุณหภูมิสูง เป็นห่วงปะการังฟอกขาว

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) โพสต์ข้อความ เนื่องในวันทะเลโลก ว่า วันทะเลโลก หรือวันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day) ตรงกับวันที่ 8 มิถุนายนของทุกปี
ซึ่งในปีนี้ทช.ได้จัดกิจกรรมภายใต้คำขวัญ “เปลี่ยน พลิกฟื้น คืนโลกสีคราม” “Planet Ocean: Tides are changing” ที่ลานหินขาว จังหวัดระยอง และยังจัดกิจกรรมในพื้นที่ 9 จังหวัด ฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันอีกด้วย

วันทะเลโลกเป็นวันสำคัญของโลกวันหนึ่ง โดยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2535 จากความร่วมมือของกลุ่มประชาคมโลก (The Earth Summit) ณ เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

จุดประสงค์ของการจัดตั้งวันทะเลโลกขึ้นมาก็เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการดูแลและอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งมหาสมุทรไปยังประชาชนทั่วโลก ผ่านเครือข่ายความร่วมมือต่าง ๆ ที่มีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก พร้อมกันนั้นก็ยังได้จัดกิจกรรมรณรงค์และมีกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกับองค์กรต่าง ๆ เช่น พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ สวนสัตว์ โรงเรียน มหาวิทยาลัย และองค์กรอนุรักษ์ในเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมมือกันใส่ใจดูแล และอนุรักษ์ท้องทะเลให้ยังคงอุดมสมบูรณ์และสวยงามตราบจนชั่วลูกชั่วหลานสืบไป

Advertisement

วันเดียวกันนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านทะเล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ความว่า

นับตั้งแต่โลกร้อนทำให้น้ำทะเลไทยอุณหภูมิสูงผิดปรกติเมื่อ 3-4 ปีก่อน คณะประมง/ปตท.สผ. ทำโครงการติดตามผลกระทบกับปะการังระยะยาว

Advertisement

นี่คือผลจากการออกฟิลด์ในวันนี้ ครบ 26 เดือนพอดี ผมนำมาให้เพื่อนธรณ์ดูพร้อมคำอธิบายว่า โลกร้อนทำทะเลไทยแย่แล้ว
ฟอกขาว – ปลายเมษายน 2564 น้ำร้อนจัดเกิน 32 องศา ปะการังน้ำตื้นหลายหมื่นก้อนที่เกาะมันในฟอกขาวรุนแรง

ปะการังเหล่านี้เคยสมบูรณ์ทั้งก้อน เมื่อเกิดการฟอกขาว จึงกลายเป็นสีขาวทั้งก้อน
6 เดือน – น้ำเย็นลง ปะการังด้านข้างไม่โดนแสงแดดโดยตรง ยังแช่น้ำอยู่บ้างตอนน้ำลงต่ำ ทำให้ฟื้นบ้าง

แต่หัวปะการังตาย มีสาหร่ายสีเขียวปกคลุม เนื่องจากช่วงนั้นเป็นหน้าฝน ธาตุอาหารไหลลงทะเลเยอะ สาหร่ายโตเร็ว (ภาพกลาง)
26 เดือน – น้ำร้อนมากช่วง 2 เดือนก่อน ทำให้ปะการังฟอกขาวอีกครั้ง แต่จะเห็นว่าฟอกเฉพาะด้านข้าง ด้านบนตายหมดแล้ว (ภาพล่าง)
เราแบ่งพื้นที่ติดตามเป็น 6 โซน แต่ละโซนมีปะการัง 150-250 ก้อน สิ่งที่เราพบคือปะการังเป็นเช่นนั้นทั้งหมด
สิ่งที่เราเจอคือน้ำทะเลร้อนจัดช่วงเมษายน-พฤษภาคม ต่อเนื่องกัน 4 ปี ทำให้ปะการังบางพื้นที่ในอ่าวไทย ฟอกขาวปีเว้นปี ต่างจากอดีตที่ฟอกขาวแล้วเว้นไป 6-10 ปีแบบสมัยก่อน

การฟอกขาวถี่ยิบทำให้เป็นเรื่องยากที่ปะการังจะฟื้นตัวได้
ในอดีตเกาะมันในเคยมีปรากฏการณ์ปะการังออกไข่ครั้งใหญ่แทบทุกปี แต่เมื่อถึงปี 2564 เรื่อยมา ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่มีอีกแล้ว
เหตุผลตอบง่าย ปะการังในเขตน้ำตื้นตายไปเยอะ ที่เหลืออยู่ก็ฟอกขาวและอ่อนแอ
โลกร้อนจึงไม่ได้ทำลายเฉพาะปะการังในปัจจุบัน แต่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
จากที่สำรวจมา ผมกล้ากล่าวว่า โลกร้อนและน้ำร้อนผิดปรกติคือสาเหตุสำคัญสุดที่ทำให้ปะการังบ้านเราตายในรอบ 3-4 ปีมานี้ มากกว่าสาเหตุอื่นใดรวมกัน

ปัญหาคือเราหาทางแก้จริงจังไม่ได้ ก๊าซเรือนกระจกในโลกยังเพิ่มจนสร้างสถิติใหม่ทุกปี
เรากำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทางออก 3 ทาง ลด/รับมือ/ปรับตัว เป็นเรื่องที่รู้กันดีในภาคทฤษฎี แต่ในความเป็นจริง เราพร้อมแค่ไหน ?

ข้อเสนอของผมในวันทะเลโลก สั้นๆ ง่ายๆ เราต้องเอาจริงกับเรื่องผลกระทบจากโลกร้อนต่อทะเลไทยให้มากกว่านี้มากๆๆ
เพราะที่เห็นมาวันนี้มันสาหัสมากครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image