เอลนีโญ ลากยาว ทำทะเลร้อน อ.ธรณ์ ห่วง ปะการังเกาะเต่า อาการแย่ สามวันดีสี่วันไข้

เอลนีโญ ลากยาว ทำทะเลร้อน อ.ธรณ์ ห่วง ปะการังเกาะเต่า อาการแย่ สามวันดีสี่วันไข้

วันที่ 14 มิถุนายน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้สัมภาษณ์ มติชนออนไลน์ ถึงการลงพื้นที่เพื่อตรวจสุขภาพปะการัง ในทะเล เขต จ.ระยอง ว่า ถ้าเทียบกับคนไข้ก็อยู่ในอาการโคม่า เพราะเวลานี้เกิดเป็นปะการังฟอกขาว และออกอาการเสื่อมโทรมหลายแห่งหลายจุด แม้กระทั่งในพื้นที่อนุรักษ์ ที่ไม่มีการท่องเที่ยว ไม่มีการประมง ปะการังก็เสื่อมโทรม และตายลงเป็นหย่อมๆ เห็นแล้วอยากจะร้องไห้มาก สาเหตุหลักมาจากอากาศร้อนจัดที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ภายหลังจากกลับมาจาก จ.ระยอง ทีมนักวิชาการคณะประมงก็ได้เดินทางต่อไปยังเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อสำรวจ และตรวจสุขภาพปะการังในพื้นที่ดังกล่าวต่อ โดย อ.ธรณ์ ได้โพสเฟซบุ๊ก ภายหลังจากลงพื้นที่ มีข้อความต่อไปนี้

#ตรวจสุขภาพปะการังเกาะเต่า

Advertisement

หลังจากทีมคณะประมงไปตรวจสุขภาพปะการังบางแห่งที่ระยอง เจอโลกร้อนเข้าไปปะการังย่ำแย่ คนตรวจแทบร้องไห้ เรามาดูที่เกาะเต่ากันบ้างครับ

เกาะเต่าอยู่ห่างฝั่งแผ่นดินใหญ่โดยวัดแบบตัดตรง 70+ กม. น้ำใส รอบๆ เป็นเขตทะเลลึก 30-40 เมตร สภาพแวดล้อมต่างจากแนวปะการังน้ำตื้นแถวระยอง

ปัญหาคือทะเลร้อนเพราะโลกร้อน แม้สถานการณ์ดีกว่าเกาะน้ำตื้น แต่เราพบปะการังสีซีดบ้าง เปลี่ยนสีบ้าง บางกอที่เป็นปะการังเขากวางปลูกใหม่ก็เริ่มมีอาการ แม้จะอยู่ในที่ลึกร่วม 10 เมตร

Advertisement

แต่ตอนนี้หน้าฝนเริ่มมาบ้างแล้ว อุณหภูมิน้ำทะเลลดลงบ้าง คาดว่าส่วนใหญ่คงฟื้นได้

เมื่อปีก่อนเราก็มาตรวจแล้วครั้งหนึ่ง ปะการังซีดแต่ฟื้นภายหลัง จะมีตายจริงคือพวกที่อยู่ติดฝั่งน้ำตื้นมาก

แต่ฟื้นในที่นี้ ผมเป็นกังวลเหมือนกันครับ ซีดๆ ฟื้นๆ ต่อเนื่องกันหลายปี คงบอกไม่ได้ว่าสุขภาพดี
นอกจากฟอกขาว อีกประเด็นที่ต้องตามคือเมื่อปะการังอ่อนแอ โอกาสเกิดโรคจะมีง่ายขึ้น เช่น โรค tissue loss ที่เคยเกิดแถวภาคตะวันออก (SCTLD)

มองไปข้างหน้า เอลนีโญกำลังเริ่มจริงจัง ลากยาวไปถึงต้นปีหน้า หวังเพียงว่าจะไม่ยาวไปไกลกว่านั้นมาก และจะไม่ส่งผลต่อน้ำร้อนในเดือนเมษายน/พฤษภาคม 2567 มากเกินไปนัก

ผลการตรวจสุขภาพจึงเป็นปานกลาง สามวันดีสี่วันไข้ ไม่เข้าไอซียูแต่ต้องแอดมิตเพื่อเฝ้าระวัง และยังเตรียมการรับมือไว้ด้วย

เตรียมยังไง ? นอกจากติดตามเรื่องอุณหภูมิน้ำและปะการังฟอกขาว/ฟื้นตัว เราต้องลดผลกระทบจากมนุษย์ให้มากสุด

ตะกอนจากกิจการบนเกาะ/เปิดหน้าดิน เคยเป็นปัญหายาวนาน ตรงนี้ต้องช่วยกันระวัง ไม่งั้นเข้าหน้าฝนจริงจัง ตะกอนไหลลงทะเล ซ้ำเติมปะการังแน่นอน

ยังรวมถึงการท่องเที่ยวสายกรีนแบบเขียวปี๋ บนเกาะเต่ามีเครือข่ายอนุรักษ์เข้มแข็ง ตรงนี้ผมพอวางใจได้
ยังมีเรื่องการเตรียมการรับแรงกระแทก หากปะการังย่ำแย่จากน้ำร้อน เราต้องลดคนในพื้นที่ธรรมชาติ แหล่งดำน้ำที่มนุษย์สร้างจะช่วยได้

เดี๋ยวพรุ่งนี้จะทยอยลงจุดต่างๆ ที่จะไปสำรวจ เพื่อนธรณ์จะได้พอเห็นภาพว่าเป็นอย่างไร
ผลกระทบจากโลกร้อนเป็นปัญหารุ่นใหม่ การแก้ไขมันต้องหาทางเรียนรู้กันไป ไม่มีตำราไหนบอกไว้เป๊ะๆ เพราะโลกไม่เคยร้อนแบบนี้ในยุคมนุษย์

คณะประมงจะพยายามศึกษาเรียนรู้ให้มากที่สุด เพราะเรามั่นใจว่าความรู้ที่ได้ จะมีประโยชน์ในอนาคตแสนใกล้

ถ้าถามผม ตอบแบบตรงใจ อนาคตนั้นอาจเริ่มตั้งแต่ปีหน้า

เพราะฉะนั้น ปีนี้จะทำงานเต็มที่ ไม่มีเวลารีรออีกแล้วครับ
เพื่อทะเลไทย ไฟท์โตะ !!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image