เครือข่ายลดอุบัติเหตุประนามให้ลูกดื่มเบียร์-พ่อขี่รถ-แม่ถ่ายคลิป ชี้ไม่สำนึกความปลอดภัย

เครือข่ายลดอุบัติเหตุประนามให้ลูกดื่มเบียร์-พ่อขี่รถ-แม่ถ่ายคลิป ชี้ไม่สำนึกความปลอดภัย

จากกรณีที่สื่อโซเชียลมีการนำเสนอข่าวพ่อแม่ปล่อยให้ลูกชายดื่มเบียร์ ขณะที่พ่อขับขี่รถจักรยานยนต์ ส่วนแม่เป็นผู้ถ่ายคลิป โดยไม่ห่วงเรื่องของอุบัติเหตุและความไม่เหมาะสมที่ปล่อยให้เด็กเล็กดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น

วันนี้ (16 มิถุนายน 2566) นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) เปิดเผยว่า ภาพในคลิปที่เห็น คือ พ่อกำลังขับมอเตอไซค์พ่วงข้าง มีลูกชายนั่งข้างๆในมือมีเบียร์กระป๋องยาวพร้อมกับขนม ที่เด็กยกดื่ม และผู้เป็นพ่อได้หยิบกระป๋องเดียวกับลูกยกขึ้นมาดื่มพร้อมกับขับรถไปด้วย คลิปนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสังคม ทั้งไม่เหมาะสม ทั้งผิดกฎหมาย

“ได้เห็นภาพดังกล่าวแล้ว รู้สึกว่าการกระทำของพ่อแม่เป็นการกระทำที่ไม่ห่วงความปลอดภัยของลูกเลย เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี และสงสัยว่าครอบครัวนี้ไปอยู่ไหนมาถึงไม่รับรู้ความถึงเสี่ยง พอมีลูกก็ไม่มีวิธีการเลี้ยงลูกให้ปลอดภัย ที่สำคัญการกระทำนี้ เข้าข่ายความผิดกฎหมายถึง 3 ฉบับ คือ 1.ผิด พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 25 (10) ที่ บิดา มารดา มีหน้าที่ดูแล อำนวยความสะดวก ให้เด็กหรือผู้เยาว์ ได้รับความปลอดภัย 2.ผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ระบุว่า ห้ามผู้ขับขี่รถและผู้ที่นั่งโดยสารมาด้วย ดื่มเหล้าหรือเบียร์บนรถขณะที่รถวิ่งอยู่ และ 3.ผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และ พ.ศ.2563 คือ ไม่สวมหมวกกันน็อกขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้เกี่ยวข้อง ควรต้องเรียกมาตักเตือนหรือลงโทษตามกฎหมายเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม” นายพรหมมินทร์ กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบ ควรดำเนินคดีกับบุคคลที่ชักจูง ส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือบุคคลที่จำหน่ายหรือให้สุราแก่เด็ก ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 เพราะพ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกหลาน รวมทั้งให้ชีวิตและความปลอดภัย แต่การกระทำครั้งนี้ถือว่าผิดกฎหมาย เป็นการสนับสนุนให้ลูกดื่มเครื่องดื่มมแอลกอฮอล์ทั้งที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ พ่อแม่จะมาอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้กฎหมาย ไม่ได้เด็ดขาด เคสแบบนี้มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในสังคมปัจจุบัน

“หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ก็คาดได้ว่าเด็กต้องบาดเจ็บหนักแน่นอน เพราะไม่มีอุปกรณ์นิรภัยช่วยเลย และหาก 1 ใน 3 คนนี้ เกิดพิการหรือเสียชีวิต ภาระก็จะตกไปที่คนรอบข้าง ญาติพี่น้องที่ต้องมาดูแล ซึ่งไม่คุ้มค่า หากจะแลกด้วยชีวิตของคนในครอบครัว และอนาคตพติกรรมที่ไม่ดีเหล่านี้จะติดตัวเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นความเสี่ยงติดตัวไปตลอดชีวิต จะคาดหวังให้เค้าเป็นคนรักความปลอดภับ รักชีวิต ก็คงจะยาก อยากจะให้เป็นอุทธาหรณ์กับทุกครอบครัว ไม่ควรเลียนแบบ” นายพรหมมินทร์ กล่าวและว่า การทำดังกล่าว ถือเป็นความผิดตาม ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ระบุไว้ว่า ห้ามผู้ขับขี่รถและผู้ที่นั่งโดยสารมาด้วย ดื่มเหล้าหรือเบียร์บนรถขณะที่รถวิ่งอยู่ ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และ พ.ศ.2563 ไม่สวมหมวกกันน็อกขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ มีโทษปรับ 400 บาท และขับขี่รถจักรยานยนต์ ในขณะที่คนโดยสารฯมิได้สวมหมวกกันน็อก ปรับ 800 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image