‘เฮียล้าน’ ยกกฎหมายแม่ ฟาด ส.ก.ก้าวไกล – เข้าใจอยากเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่แย้ง พ.ร.บ.ไม่ได้

‘เฮียล้าน’ ยกกฎหมายแม่ ฟาด ส.ก.ก้าวไกล-เข้าใจอยากเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ออกกฎหมายท้องถิ่น แย้ง พ.ร.บ.ไม่ได้

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ การประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 ประจำปีพุทธศักราช 2566

โดยในระเบียบวาระที่ 5 มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ร่วมอภิปรายเรื่องที่ค้างพิจารณา ซึ่ง นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา พรรคก้าวไกล เสนอญัตติ ร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่องกำหนดลักษณะของอาคารและพื้นที่ว่างนอกอาคารเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

Advertisement

ทั้งนี้ นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนไม่ขัดข้องกับการเพิ่มพื้นที่ว่างให้เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งเชื่อว่าเจ้าของญัตติคงเห็นว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เพิ่มพื้นที่ได้มากที่สุด ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ว่าเรามี พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และ พ.ร.บ.ผังเมือง ซึ่งกฎกระทรวงที่ใช้บังคับในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครปี 2565 มีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว เป็นกฎหมายแม่

“พ.ร.บ.ควบคุมอาคารเป็นกฎหมายใหญ่ พ.ร.บ.ผังเมืองรวมก็เป็นกฎหมายใหญ่ แต่ขณะนี้เรากำลังจะออกเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร บางมาตราที่ผมอ่านในรายละเอียดแล้ว ยังมีข้อขัดแย้ง ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ หรือขัดแย้งกับกฎหมายใหญ่ไหม” นายสุทธิชัยกล่าว

นายสุทธิชัยอธิบายว่า กฎกระทรวงมีกำหนดเอาไว้ ให้ใช้บังคับผ่านผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 และแนวการจัดการให้มีมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ด้วย ปัจจุบัน ผังเมืองรวมกำหนดว่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียวมีพื้นที่โล่ง 6 ประเภท, Biotope Area Factor และพื้นที่รับน้ำตาม FAR Bonus

Advertisement

นายสุทธิชัยเสริมว่า ที่โล่ง 6 ประเภทคือ ล.1 ที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม, ล.2 ที่โล่งบริเวณริมถนน เขากำหนด 2 เมตร ที่ต้องเป็นพื้นที่สีเขียวริมถนน ตนจำได้ว่าข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเขากำหนดว่าคุณจะสร้าง คุณต้องมีพื้นที่สีเขียว 2 เมตร จากพื้นที่โล่งริมถนนใหญ่เข้าไป, ล.3 ที่โล่งริมแม่น้ำและลำคลอง คือ 3-6 เมตร 30 คลองต้องปลูกต้นไม้, ล.4 ที่โล่งเพื่อการสงวนรักษาสภาพการระบายน้ำตามธรรมชาติ, ล.5 ที่โล่งพักน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม และ ล.6 ที่โล่งเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเล นั่นคือพื้นที่สีเขียวที่เขาอนุรักษ์กันอยู่แล้ว นี่คือผังเมืองโดยรวมของกรุงเทพมหานคร

“ถ้าอาคารสูงจะมี Biotope Area Factor เขายังมีกำหนดอัตราส่วนของที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม (OSR) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3-100 และให้มีพื้นที่น้ำซึมผ่านได้เพื่อปลูกต้นไม้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ว่าง เป็นสิ่งที่ผมบอกว่ากฎหมายผังเมืองรวมเขามีอยู่แล้ว ตัว พ.ร.บ.ควบคุมอาคารก็กำหนดไว้ตั้งแต่ 2522

“ที่สำคัญที่สุด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร จะกำหนดว่าต้องมีรถดับเพลิงวิ่งเวลาเพลิงไหม้ตามที่ว่าง ตามรอบอาคาร ผมเป็นห่วงว่า เจ้าของญัตติคิดจะเอาพื้นที่ตรงนี้ไปทำหรือไม่ ถ้าทำแล้วเกิดเพลิงไหม้จะทำอย่างไร หรือมีการเว้นช่องให้กลับรถ ตรงนี้ก็ไม่แน่ใจว่าทางคณะกรรมการมีความคิดเช่นนี้ไหม ไม่ต้องมีที่กลับรถใช่ไหม” นายสุทธิชัยกล่าว

นายสุทธิชัยชี้ว่า ในข้อที่ 8 กรณีที่มีเหตุหรือใช้ให้เหมาะกับสภาพของพื้นที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อาจกำหนดให้อาคารบางแห่ง บางพื้นที่ บางประเภท ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร หรือให้มีขนาดของพื้นที่สีเขียว น้อยกว่าที่กำหนดตามข้อบัญญัตินี้ได้

“แล้วจะออกกฎหมายไปทำไม มันไม่เป็นระเบียบ นี่เป็นข้อบัญญัติ กทม. ที่จะต้องบังคับใช้กับประชาชน แต่ให้อำนาจผู้ว่าฯยกเว้น ต่อไปผมก็ไปหาผู้ว่าฯ ข้อยกเว้นตรงนี้ได้หรือไม่ แล้วจะทำอย่างไร ผู้ว่าฯเกรงใจก็ทำออกมา มันจะเป็น 2 มาตรฐานในการกำหนดการใช้ข้อบัญญัตินี้ และบางข้อมันขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และ พ.ร.บ.ผังเมืองรวม

“ผมเข้าใจว่าอยากได้พื้นที่สีเขียว แต่จะฝากคิดนิดหนึ่งว่าเราเป็นข้อบัญญัติกฎหมายท้องถิ่นเพื่อบังคับใช้กับคน กทม.ส่วนพระราชบัญญัติเป็นกฎหมายใหญ่ เขาบังคับใช้ทั่วประเทศ เราจะออกข้อบัญญัติไปขัดแย้งตรงนี้ไม่ได้” นายสุทธิชัยทิ้งท้าย

ด้าน นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเสริมว่า ตนเล็งเห็นถึงเจตนาดีของผู้เสนอญัตติ แต่มีหลายส่วนที่ทำให้ผู้ใช้อาคารมีความลำบากมากขึ้น ในส่วนของนิยามยังไม่ครอบคลุม และหลายข้อยังต้องมีการตีความ อาจส่งผลในทางปฏิบัติ จึงอยากให้ข้อบัญญัติไม่ขัดต่อกฎหมายหลัก สอดคล้องกับกฎหมายที่มีอยู่ ขอฝากคณะกรรมการพิจารณาให้พิจารณาให้รอบคอบ

ขณะที่ นายพุทธิพัชร์ ผู้เสนอญัตติดังกล่าว ยืนยันต่อที่ประชุมว่า ข้อบัญญัติฉบับนี้ไม่ขัดกฎหมายใหญ่ทั้งหมด เป็นการยกมาจาก พ.ร.บ.ใหญ่ทั้งหมด ที่เสนอในวันนี้เป็นเพียงร่างเท่านั้น หลังตั้งคณะกรรมการพิจารณาจะมีการปรับปรุงรายละเอียด โดยหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อนำเข้าสู่ สภา กทม.ในวาระต่อไป

ทั้งนี้ สภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบในหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดลักษณะอาคารและพื้นที่ว่างนอกอาคารเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. … และให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ ดังกล่าว จำนวน 17 ท่าน

อ่านข่าว :

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image