ส.ก.ทวีวัฒนา วอนเพิ่มป้ายรถเมล์ 14 จุด ฝากชัชชาติ เร่งจัด ‘รถฟีดเดอร์’ ช่วยชาวบ้าน

ส.ก.ทวีวัฒนา วอนเพิ่มป้ายรถเมล์ อีก 14 จุด ฝากชัชชาติ เร่งจัด ‘รถฟีดเดอร์’ ช่วยชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 ครั้งที่ 1 ประจำปีพุทธศักราช 2566โดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมรายงานผลการดำเนินงานตามญัตติของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ยังมีญัตติที่ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เสนอต่อที่ประชุมสภาฯ

ในตอนหนึ่ง นายยิ่งยงค์ จิตเพียรธรรม ส.ก.เขตทวีวัฒนา พรรคก้าวไกล เสนอนี้ญัตติเรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครสำรวจเพื่อติดตั้งป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางและศาลาที่พักผู้โดยสารให้ครอบคลุม

นายยิ่งยงค์กล่าวว่า เขตทวีวัฒนามีถนนที่สวยที่สุดในกรุงเทพมหานคร ซึ่งตอนนี้หงส์ได้หายไปหมดแล้ว หงส์ร้อยกว่าตัวบินหนีไปหมดแล้ว

Advertisement

“แล้วก็น้ำตก น้ำพุก็ยังเสียอยู่ อยากจะให้ทางท่านประธานเรียนท่านผู้ว่าตอนที่ไปเยือน ฝากท่านผู้ว่าด้วย” นายยิ่งยงค์กล่าว

นายยิ่งยงค์กล่าวต่อว่า ภาพรวมของการคมนาคมและขนส่งสาธารณะ ในเขตทวีวัฒนา เส้นสีแดงด้านบน คือรถไฟฟ้าสายสีแดงที่จะส่งจากฝั่งธนบุรี เข้ากรุงเทพฯ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ อยู่แค่ตลิ่งชัน กำลังจะทำมาถึงทวีวัฒนาแล้วไปออกศาลาแดง ส่วนด้านล่างฝั่งขวาเส้นสีน้ำเงิน คือรถไฟฟ้า MRT ที่จะส่งคนจากใจกลางเมืองไปอีกด้านของกรุงเทพฯ ส่วนตรงกลางเส้นสีเขียวคือ ถนนบรมราชชนนีที่จะเป็นถนนเส้นหลัก ที่ขับเข้า-ออกในกรุงเทพมหานคร ด้านล่างเส้นสีเหลือง คือถนนเพชรเกษม ที่จะส่งคนเข้ากรุงเทพฯ ชั้นในอีกเส้นหนึ่ง ส่วนจุดสีน้ำเงิน คือตำแหน่งโรงพยาบาลในเขตทวีวัฒนา ทั้งของรัฐและเอกชน จุดสีส้มคือสถานศึกษาทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัย จุดสีดำ คือห้างสรรพสินค้าในพื้นที่

Advertisement

นายยิ่งยงค์กล่าวต่อว่า เส้นทางเดินรถสาย 65 มีเส้นทางเดินรถตั้งแต่พุทธมณฑลสาย 2 ผ่านเข้าถนนศาลาธรรมสพน์ ผ่านไปทางพุทธมณฑลสาย 3 ไปจบที่บางแค แต่ปัญหามีอยู่ว่า ที่ศาลาธรรมสพน์ รถเมล์ไม่จอดรับผู้โดยสารเพราะไม่มีป้ายรถเมล์ อำนาจในการกำหนดเส้นทางเดินรถเป็นของ กรมการขนส่งทางบก ส่วนอำนาจในการกำหนดป้ายรถเมล์เป็นของ กรุงเทพมหานคร

“ได้เข้าไปพูดคุยกับอู่รถเมล์สาย 165 ได้คำตอบจากคนขับว่า เคยจอดรับรถผู้โดยสารระหว่างทาง ทั้งๆ ที่ไม่มีป้าย เพราะผู้โดยสารโบก แต่เป็นปัญหาเพราะว่าจะโดนร้องเรียนว่าไม่จอดที่ป้ายรถเมล์แล้ววนรถไปตามเวลาที่กำหนด เป็นปัญหางูกินหาง อยากรับผู้โดยสารแต่ทำไม่ได้ ผู้โดยสารอยากขึ้นแต่คนขับไม่จอด วนไปวนมาอยู่อย่างนี้” นายยิ่งยงค์ชี้

นายยิ่งยงค์กล่าวต่อว่า สำหรับผังกำหนดจุดติดตั้งป้ายรถเมล์ ตนและทีมงานได้ศึกษาเพื่อกำหนดจุดเพิ่มป้ายรถเมล์ ทั้งหมดจำนวน 14 จุด โดยคำนึงถึงการใช้งานทั้ง 2 ฝั่งของถนน ซึ่งยังเป็นจุดที่เชื่อมต่อกับชุมชนต่างๆ และได้นำทฤษฎี Last Mile มาใช้ ด้วยโจทย์ที่ว่าจะทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนเดินทางในระยะทางสุดท้ายให้สะดวกสบายที่สุด เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ และเสนอให้เพิ่มเติมทุกจุดรอรับรถประจำทางและท่ารถที่อยู่ในชุมชนให้มีจุดจอดรถจักรยาน เพื่อให้ประชาชนสามารถขับออกจากบ้านมาจอดและใช้รถประจำทางต่อได้

นายยิ่งยงค์กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอระยะยาว ให้รถโดยสารขนาดเล็กเข้ามาเสริมในพื้นที่ เพื่อให้พี่น้องประชาชนใช้รถโดยสารที่สะอาดปลอดภัย และสะดวกสบาย

จากนั้น นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย กล่าวขอบคุณเพื่อนสมาชิก ส.ก.ที่ได้เสนอญัตติเกี่ยวกับรถโดยสารและที่พัก ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

“เพราะป้ายเขียนว่ารถออก 6 โมงเช้า แต่รถไม่มีจอดสักคันที่หน้าจอดรถสวน 60 พรรษา เข้าและออกไม่เป็นเวลา อยากจะออก ก็ออก จุดจอดรถปัจจุบันก็ไม่มี โครงการดี แต่ติดปัญหาตรงนี้ จึงอยากจะฝากประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพราะเป็นเสียงเรียกร้องจากประชาชน” นายสุรจิตต์กล่าว

ขณะที่ นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.คลองสาน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอสนับสนุนญัตติของ นายยิ่งยงค์ ที่ได้ยื่นต่อกรุงเทพมหานครในวันนี้ เพราะเป็นประโยชน์กับพี่น้อยประชาชนชาวกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขตอย่างแท้จริง

โดยในตอนหนึ่ง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จริงๆ แล้ววันนี้เป็นวันที่ดีมาก ที่ได้มีการคุยกันในประเด็น

“เรื่องที่มีการอภิปรายก่อนหน้านี้ คือปัญหาจริงๆ ของพี่น้องประชาชน ทั้ง ฟีดเดอร์และป้ายรถเมล์ ก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่ต้องทำ เพราะป้ายรถเมล์จะต้องมีอีก 2,000 ป้ายที่ต้องทำให้ดีขึ้น ก็คงจะเริ่มดำเนินการในปีนี้ และวางแผนในระยะยาว”

ด้าน นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวชี้แจงว่า ในเรื่องของรูปแบบป้าย ทางสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร หรือ สจส. ก็ได้มีการออกแบบมาก็เป็นตามขนาดแบบเสาเดียว

“คือที่ถ้าเราไม่มีพื้นที่ทำศาลาพักผู้โดยสาร และศาลาขนาด S M L ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ ศาลาก็จะมีไฟแสงสว่าง และข้อมูลของรถเมล์ที่วิ่งผ่านครบถ้วน โดยแต่ละที่เราต้องดูในข้อจำกัด หลักๆ ก็จะมีในเรื่องของทางเท้าที่แคบ ต้องไม่บดบังร้านค้าหรือ การติดระบบสาธารณูปโภค การเลือกจุดก็จะขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการกำหนดจุดป้ายรับผู้โดยสาร ขอขอบคุณท่าน ส.ก. ที่ได้ให้ข้อมูลและความต้องการของแต่ละพื้นที่” นายวิศณุกล่าว

จากนั้น นายยิ่งยงค์ กล่าวสรุปและทิ้งท้ายว่า เรื่องปัญหาของป้ายรถเมล์และในกรุงเทพมหานคร ยังมีอีกเยอะมาก

“อย่างพื้นที่เขตทวีวัฒนา 50 เมตร รถเมล์วิ่งแค่สองทาง ข้างในไม่มีรถวิ่งเลย รถที่เป็นสัมปทานก็ไม่กล้าวิ่ง เพราะว่าเมื่อ 20 ปี ที่แล้ว บอกว่าทำแล้วขาดทุน ตอนนี้ความเดือดร้อนของชาวบ้านที่หมู่บ้านในเขตนี้ เยอะมาก

ฟีดเดอร์จะช่วยชาวบ้านที่ไม่มีรถและอยู่ในหมู่บ้าน คนชราที่อยู่บ้านตามลำพัง ไม่มีรถออกมา มาใช้รถประจำทางไปโรงบาล ไปตลาด ไปศูนย์ราชการต่างๆ ได้ จึงได้ขอกราบเรียนท่านประธานถึงท่านผู้ว่า อยากให้ท่านผู้ว่าเร่งพิจารณาตรงนี้ เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้อย่างมีสะดวกสบายทำให้ธุรกิจต่างๆ อย่างห้างสรรพสินค้า ให้คนได้เข้าไปใช้จ่าย คนที่เกษียณแล้วอยากจะไปที่ไหนตอนกลางวัน ลูกหลานไปทำงานก็จะได้ออกมาเดินเล่น ออกกำลัง กาย ก็ฝากท่านผู้ว่าด้วยตรงนี้สำคัญมาก” นายยิ่งยงค์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image