กรมวิทยาศาสตร์ฯ พัฒนาชุดทดสอบ “พาราควอต” ในผัก-ผลไม้ เล็งเอกชนผลิตเชิงพาณิชย์

กรมวิทยาศาสตร์ฯ พัฒนาชุดทดสอบ “พาราควอต” ในผัก-ผลไม้ เล็งเอกชนผลิตเชิงพาณิชย์

วันนี้ (3 สิงหาคม 2566) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า พาราควอต (Paraquat) เป็นสารเคมี กำจัดวัชพืชหรือยาฆ่าหญ้าที่เกษตรกรนิยมใช้ เนื่องจากมีราคาถูกและได้ผลดี โดยออกฤทธิ์เผาไหม้เร็ว ทำให้วัชพืชแห้งเหี่ยวและตายได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง ดังนั้นหากเกษตรกรที่ใช้สารนี้โดยไม่มีการป้องกันหรือบริโภคอาหารที่มีการตกค้าง อาจเกิดภาวะความเป็นพิษ โดยจากข้อมูลการวิเคราะห์ทางพิษวิทยา องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า พาราควอต เป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง หากได้รับโดยตรงจากการบริโภค ทำให้เกิดอาการแสบร้อน เกิดแผลในหลอดลม และระบบทางเดินอาหาร สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัส สูดดมจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง ทำให้เกิดพังผืดในปอด ปนเปื้อนในอาหาร และยังก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น ก่อโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม เป็นต้น และที่สำคัญ เป็นสารก่อมะเร็ง

“นอกจากนี้ ยังตกค้างในสิ่งแวดล้อม ดิน แหล่งน้ำธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์การเกษตร จากรายงานการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2562 ประเทศไทยได้นำเข้าพาราควอต เพื่อใช้ในทางการเกษตรกว่า 9,900 ตัน แม้ว่าสารนี้จะถูกแบนไปแล้วตั้งแต่ปี 2563 แต่อาจมีการตกค้างของสารดังกล่าว อยู่ในผักและผลไม้สดในปริมาณสูง และทำให้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจากสารปนเปื้อนได้เช่นกัน” นพ.ศุภกิจ กล่าว

Advertisement

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า พาราควอต จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม อาจเกิดอันตรายต่อประชาชนได้ และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 419 (พ.ศ. 2563) เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ระบุว่า อาหารที่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยต้องตรวจไม่พบพาราควอต ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน โดยได้พัฒนาชุดทดสอบพาราควอตตกค้างในผักและผลไม้สด ซึ่งเป็นการตรวจสอบอย่างง่าย ที่มีความแม่นยำ และตรวจสอบเบื้องต้น ได้อย่างรวดเร็ว

“ชุดทดสอบนี้ สามารถใช้ได้กับผักและผลไม้สดที่มีจำหน่ายในประเทศไทย เป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์ฯ เป็นชุดทดสอบที่มีคุณสมบัติเป็นการตรวจเบื้องต้นที่คนไทยคุ้นเคยต่อการใช้งานคล้ายชุดตรวจ ATK (Antigen Test Kit) โดยใช้เทคนิคอิมมูโนโครมาโทกราฟี (Immunochromatography) หรือ IC ซึ่งอาศัยหลักการจับกันระหว่างแอนติบอดี และแอนติเจนแบบแข่งขัน (Competitive immunoassay) เป็นวิธีที่สะดวก มีประสิทธิภาพ มีความไวในการตรวจสอบ ทราบผลใน 15-30 นาที ไม่ต้องมีเครื่องมือพิเศษแต่อย่างใด เกณฑ์การวัดขั้นต่ำสุดที่ชุดทดสอบนี้สามารถตรวจพบได้ที่ 0.005 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (mg/kg) ซึ่งตรงตามที่กฎหมายกำหนด” นพ.ศุภกิจ กล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ชุดทดสอบนี้ได้ผ่านการทดสอบในภาคสนาม และจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ขณะนี้ทางกรมวิทยาศาสตร์ฯ เตรียมเปิดให้ผู้สนใจทั้งภาครัฐภาคเอกชนมารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ เพื่อนำไป ผลิตจำหน่ายให้กับประชาชน ตลอดจนหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เข้าถึงชุดทดสอบนี้ได้ง่ายขึ้น สำหรับนำไปใช้ในการตรวจสอบความปลอดภัยผักผลไม้เบื้องต้นได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image