‘เฮียล้าน’ ขอบคุณเพื่อน ส.ก.ช่วยกันตัด ‘งบรายจ่าย กทม.ปี’67 สรุปผ่าน ‘9 หมื่นล้าน’

‘เฮียล้าน’ ขอบคุณเพื่อน ส.ก. 41 วัน ช่วยกันตัดงบ สรุปยอด ‘9 หมื่นล้าน’ ผ่านงบรายจ่าย กทม.ปี’67

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 กันยายน ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนาศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยฝ่ายบริหาร ส.ก.ทั้ง 50 เขต เข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566

บรรยากาศเวลา 10.30 น. นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร หรือเฮียล้าน ส.ก.เขตจอมทอง พรรคเพื่อไทย รายงานความคืบหน้าการพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ในวาระที่สองและวาระที่สาม

นายสุทธิชัยกล่าวว่า ขอรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งสภากรุงเทพมหานครมีมติตั้งขึ้นในคราวประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญสมัยที่ 3 ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ.2566 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2566 ประกอบด้วยกรรมการ จำนวน 45 ท่าน คณะกรรมการวิสามัญได้ประชุมครั้งแรกเมื่อวันพุธ ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2566 ที่ประชุมมีมติเลือก นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร (สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง) เป็นประธานกรรรมการ นายยิ่งยงค์ จิตเพียรธรรม (สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตทวีวัฒนา) เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 นายนภาพล จีระกุล (สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย) เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2 นายสุชัย พงษ์เพียรชอบ (สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคลองเตย) เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 3 นายต่อศักดิ์ โชติมงคล (ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 4 นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา (สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง) เป็นกรรมการและเลขานุการ

Advertisement

รวมทั้งมีมติตั้ง นางกนกนุช กลิ่นสังข์ (สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง) เป็นโฆษกประจำกรรมการวิสามัญ นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย (สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางซื่อ) รองโฆษกประจำกรรมการวิสามัญคนที่ 1 นางสาวรัตติกาล แก้วเกิดมี (สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสายไหม) รองโฆษกประจำกรรมการวิสามัญคนที่ 2 ในการประชุมใช้เวลาทั้งสิ้น 24 ครั้ง

โดย นายชัชชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขอแปรญัตติเพิ่มงบประมาณรายจ่ายในวงเงินที่คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาปรับลดคณะกรรมการวิสามัญ ได้พิจารณาร่างขอบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เรียงตามลำดับหัวข้อ โดยเริ่มจากประเมินการรายรับแล้วจึงพิจารณางบประมาณรายจ่ายจำนวนรวมทั้งสิ้น 90,819,477,630 บาท (เก้าหมื่นแปดร้อยสิบเก้าล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นเจ็ดพันหกร้อยสามสิบบาท) จำแนกเป็นงบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานคร จำนวน 90,000,000,000 บาท (เก้าหมื่นล้านบาท) และงบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์กรุงเทพมหานคร จำนวน 819,477,630 บาท (แปดร้อยสิบเก้าล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นเจ็ดพันหกร้อยสามสิบบาท) ซึ่งพิจารณาตามลำดับหน่วยงานทุกหมวดทุกรายการจนจบ โดยตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาของหน่วยงานจำนวน 21 คณะ และมารายงานผลการพิจารณาพร้อมทั้งฟังเหตุผลความจำเป็นในการขอตั้งงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผลการพิจารณาคณะกรรมการวิสามัญรวดเร็วได้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญได้พิจารณาโดยยึดหลักของกฎหมายที่เกี่ยวข้องของนโยบายของรัฐ และ ของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร แผนปฏิบัติราชการประจำของกรุงเทพมหานคร และพิจารณาโดยยึดหลักความคุ้มค่า ของสภาวะเศรษฐกิจของสังคมในปัจจุบัน และการเกิดประโยชน์สูงสุดของพี่น้องชาวกรุงเทพมหานครและประชาชน

สรุปผลการพิจารณา ของคณะกรรมการวิสามัญ ได้ปรับลดงบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานคร จำนวน 7,957,081,640 บาท (เจ็ดพันเก้าร้อยห้าสิบเจ็ดล้านแปดหมื่นหนึ่งพันหกร้อยสี่สิบบาท) และเห็นชอบรายการงบประมาณรายจ่ายของผู้บริหาร ที่ได้เสนอแปรญัตติเพิ่มงบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานคร จำนวน 7,957,081,640 บาท (เจ็ดพันเก้าร้อยห้าสิบเจ็ดล้านแปดหมื่นหนึ่งพันหกร้อยสี่สิบบาท) เท่ากับจำนวนที่ปรับลด

Advertisement

ส่วนงบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์กรุงเทพมหานคร คณะกรรมการวิสามัญได้ปรับลดไปจำนวน 30,000,000 บาท (สามสิบล้านบาท) และได้ให้ผ่านวงเงินงบประมาณรายจ่ายการพาณิชย์กรุงเทพมหานครจำนวน 789,477,630 บาท (เจ็ดร้อยแปดสิบเก้าล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นเจ็ดพันหกร้อยสามสิบบาท) รวมงบประมาณรายจ่ายที่คณะกรรมการวิสามัญได้ผ่าน ทั้งสิ้น 90,789,477,630 บาท (เก้าหมื่นเจ็ดร้อยแปดสิบเก้าล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นเจ็ดพันหกร้อยสามสิบบาท) โดยมีคณะกรรมการเสียงข้างน้อยขอสงวนความเห็น ขอให้สภากรุงเทพมหานครวินิจฉัย จำนวน 6 ท่านมีดังนี้

1.นางกนกนุช กลิ่นสังข์
2.นายพีรพล กนกวลัย
3.นางสาวรัตติกาล แก้วเกิดมี
4.นายวิรัช คงคาเขตร
5.นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา
6.นางอนงค์ เพชรทัต

นายสุทธิชัยกล่าวต่อว่า ขอขอบคุณประธานอนุกรรมการและอนุกรรมการ ที่ช่วยกันกลั่นกรองงบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานคร ตามที่หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

“ขอขอบคุณคณะกรรมการวิสามัญทุกท่านที่ได้ร่วมประชุมพิจารณาจนเสร็จเรียบร้อยในเวลาที่กำหนด ขอขอบคุณหัวหน้าทุกหน่วยงานที่ได้มาร่วมประชุม ชี้แจงต่อคณะกรรมการวิสามัญรวมทั้งฝ่ายเลขานุการ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสำนักงบประมาณที่เป็นกำลังสำคัญในการทำงานตลอดระยะเวลา 41 วัน จนทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

นอกจากนี้ คณะกรรมการวิสามัญมีข้องสังเกตที่ผู้ว่าฯควรทราบหรือควรปฏิบัติ สำหรับรายงานผลการพิจารณาและข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการให้เลขาอนุกรรมการสภากรุงเทพมหานครรายงานต่อสภาเพื่อพิจารณาต่อไป” นายสุทธิชัยกล่าว

ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.ประจำปี 2567 ของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 90,789,477,630 บาท เรียงลำดับหน่วยงาน/เขตที่ได้รับงบประมาณสูงสุดและน้อยสุด

สำหรับหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สำนักการโยธา จำนวน 10,199,547,439 บาท สำนักการระบายน้ำ จำนวน 7,860,495,076 บาท และสำนักสิ่งแวดล้อม จำนวน 7,673,180,800 บาท

หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด 3 ลำดับคือ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 71,184,800 บาท สำนักงบประมาณ จำนวน 85,596,510 บาท สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 189,471,700 บาท

สำนักงานเขตที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สำนักงานเขตลาดกระบัง จำนวน 774,356,920 บาท สำนักงานเขตหนองจอก จำนวน 754,150,533 บาท และสำนักงานเจตจตุจักร จำนวน 701,898,570 บาท

สำนักงานเขตที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ จำนวน 237,412,410 บาท สำนักงานเขตบางรัก จำนวน 251,616,775 บาท และสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 275,383,900 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image