ไข้หวัดใหญ่พุ่ง! ปลัด สธ.ย้ำหน้าฝน “สวมหน้ากาก-ล้างมือ” ป้องกันโรคติดต่อ

ไข้หวัดใหญ่พุ่ง! ปลัด สธ.ย้ำหน้าฝน “สวมหน้ากาก-ล้างมือ” ป้องกันโรคติดต่อ

วันที่ 25 กันยายน 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า หลังจากประเทศไทยประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ประชาชนเลือกสวมหน้ากากอนามัยได้ตามความสมัครใจ พบว่าแนวโน้มของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ เพิ่มสูงขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนว่า การสวมหน้ากากอนามัยสามารถช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้อย่างดี ทั้งนี้ แม้สถานการณ์โรคโควิด-19 ขณะนี้จะพบผู้ป่วยลดลงต่อเนื่อง แต่สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-วันที่ 16 กันยายน 2566 มีผู้ป่วย 185,216 ราย อัตราป่วย 279.9 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 4 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.002 เฉพาะสัปดาห์ช่วง วันที่ 10-16 กันยายน 2566 มีผู้ป่วยเพิ่มมากกว่า 12,000 ราย ซึ่งสูงกว่าจำนวนผู้ป่วยในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 และค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ซึ่งได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมทีมสอบสวนควบคุมโรคเพื่อรองรับการระบาดแล้ว ตามนโยบายของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ซึ่งโรคหลักๆ ที่ยังต้องเฝ้าระวัง คือ โรคโควิด-19 อาการมักมีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย อาจมีหายใจลำบาก, โรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ ไอแห้ง น้ำมูกใส เบื่ออาหาร และโรคอาร์เอสวี (RSV) จะมีไข้ ไอจาม มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ซึ่งการติดต่อของทั้ง 3 โรคเหมือนกัน คือ การไอ จาม สัมผัสละอองฝอยน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ เมื่อมีอาการป่วยของโรคทางเดินหายใจ หรือเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด ต้องสวมหน้ากากอนามัย ปิดปากและจมูกให้มิดชิดเมื่อไอหรือจาม หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก รวมถึงล้างมือบ่อยๆ เพื่อช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงการติดเชื้อโรคติดต่อทางเดินหายใจเหล่านี้

“นอกจากนี้ ขอความร่วมมือผู้ปกครองดูแลสังเกตอาการบุตรหลานที่เป็นเด็กนักเรียน หากเด็กป่วยมีอาการทางเดินหายใจแนะนำให้หยุดพักอยู่บ้านเพื่อดูแลรักษา ติดตามอาการ และไม่ไปแพร่เชื้อต่อที่โรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก ส่วนโรงเรียน ขอให้จัดระบบการคัดกรองอาการทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก เพื่อแยกเด็กไม่ปะปนกับเด็กอื่นๆ และพิจารณาปิดห้องเรียนเมื่อพบเด็กป่วยหลายๆ ราย ติดต่อกัน” นพ.โอภาสกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image