ง่ายเหมือนตัดใจไหม? ชัชชาติ มุงดู ‘ตัดสายสื่อสารรุงรัง’ แซว จนท.ระวังผิดเส้น เดี๋ยวไฟดับทั้งบ้าน

ง่ายเหมือนตัดใจไหม? ชัชชาติ มุงดูผู้ว่าฯ MEA ‘ตัดสายสื่อสารรุงรัง’ ย่านถนนเพชรบุรี แซวเจ้าหน้าที่ระวังผิดเส้น เดี๋ยวไฟดับทั้งบ้าน

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ร่วมสังเกตการณ์ MEA พร้อมภาคีเครือข่าย จัดระเบียบสายสื่อสารย่านถนนเพชรบุรี ตัดขาดสายเก่าไม่ได้ใช้งาน ติดคอนยึดสายบนเสาไฟฟ้า พร้อมวางระบบบริหารจัดการ Smart CCM

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ที่ซอยเพชรบุรี 5 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมสังเกตการณ์งานรื้อสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า บริเวณเอเชียอพาร์ทเม้นท์ โดยมี นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง พร้อมด้วยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ผู้แทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และภาคีเครือข่าย ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานจัดระเบียบสายสื่อสารย่านถนนเพชรบุรี

Advertisement

นายวิลาศ ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA ดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ซึ่งการดำเนินการกับสายสื่อสารจะมี 2 รูปแบบ คือ การจัดระเบียบสายไฟฟ้าบนอากาศ และถ้าตรงไหนที่มีการจัดระเบียบสายไฟฟ้าลงดิน เราก็จะนำสายไฟฟ้าลงดินไปพร้อมๆ กัน

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เราไม่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องมีการประชุมร่วมกันจากหลายฝ่าย ทั้ง กสทช. ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เราจะทำอย่างไรให้เมืองของเราเป็นเมืองที่มีภาพลักษณ์ดี การไฟฟ้านครหลวงไม่ได้ขายไฟฟ้าอย่างเดียว แต่เราดูแลภาพลักษณ์ของเมืองด้วย โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 2 ปี คือปี 2567-2568 จะดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารให้ได้ระยะทาง 1,300 กิโลเมตร โดยจะทำเป็น cluster เมื่อทำเสร็จในบริเวณนี้แล้ว เราก็จะขยับไปใน cluster อื่นๆ ซึ่งในถนนสายหลักเป็นแผนที่เราได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาทาง กสทช. อยากให้ทำเข้ามาในซอยด้วย ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ถ้ามีการปรับปรุงทางเท้า เราก็สามารถทำควบคู่กันไปได้เลย เป็นการบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้การจัดระเบียบสายสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Advertisement

ในตอนหนึ่ง นายชัชชาติกล่าวแซว นายวิลาศ ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง ที่กำลังขึ้นกระเช้าขึ้นไปตัดสายสื่อสารว่า น้ำหนักเกิน 136 กิโลกรัมหรือไม่ โดยผู้ว่าฯ ตอบกลับด้วยอารมณ์ขันว่า ‘ไม่เกิน’ ก่อนที่ นายชัชชาติจะตอบกลับว่า ตนคนเดียวก็น้ำหนักเกิน 100 แล้ว จึงไม่ขึ้นไปบนกระเช้าด้วย

ระหว่างตัดสายสื่อสาร นายชัชชาติสอบถามเจ้าหน้าที่ถึงกระบวนการตัดสาย พร้อมกล่าวแซวเจ้าหน้าที่ขณะทำการตัดว่า ระวังตัดผิดเส้น “เดี๋ยวไฟดับทั้งบ้านเขา” พร้อมกล่าวชมว่า เมื่อตัดแล้วดูดีขึ้นมาก ต้องไปหาที่ทิ้งให้ถูกต้องเพราะนำมาใช้ต่อไม่ได้

ในตอนหนึ่งแอดมินหมูหันไปสอบถาม นายวิศณุ รองผู้ว่าฯ และ นายวิลาศ ผู้ว่าการ MEA ว่า “ตัดสายสื่อสารง่ายเหมือนตัดใจไหม”

โดย นายวิลาศกล่าวว่า ไม่มีอะไรต้องตัดใจ ขณะที่นายวิศณุ กล่าวว่า ของตนคิดว่าตัดสายสื่อสารยากกว่า
“ตัดสายสื่อสารต้องร่วมมือกันหลายคน ตัดใจจากเธอใช้แค่คนเดียว” นายวิศณุกล่าว

นายวิศณุ รองผู้ว่าฯ กล่าวด้วยว่า ขอบคุณการไฟฟ้านครหลวง กสทช. และที่สำคัญ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่ให้ความร่วมมือในการจัดระเบียบสายสื่อสาร

 

“ที่ผ่านมาเราก็ดำเนินการในเรื่องนี้อยู่ ซึ่งอาจไม่ทันใจพี่น้องประชาชนมากนัก แต่จากนี้ไปเรามีการพูดคุยแผนงาน มีการบูรณาการร่วมกันแล้ว ก็จะเดินหน้าด้วยอัตราเร่งที่มากขึ้น ในโครงการที่เราดำเนินการอยู่ การจัดระเบียบสายสื่อสาร การนำสายไฟฟ้าลงดิน จะมีการเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นโครงการสำคัญ ต้องมีการบูรณาการร่วมกัน เราทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องมีการประสานงานกันตลอด” นายวิศณุกล่าว

สำหรับ MEA ในฐานะหน่วยงานผู้ดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ได้สนับสนุนการจัดระเบียบสายสื่อสารตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมอำนวยความสะดวกในด้านความปลอดภัยจากการทำงานบนเสาไฟฟ้าให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบสายสื่อสาร เพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านความปลอดภัย สร้างทัศนียภาพที่ดี ตลอดจนความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้า ลดอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ MEA ยังได้ดำเนินการติดตั้งคอนสายสื่อสาร เพื่อใช้สำหรับการยึดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ควบคุมให้ติดตั้งสายสื่อสารตามมาตรฐาน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของ MEA รวมถึงการจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูลสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง Smart CCM (Smart Communication Cable Management) เพื่อให้บริการขออนุญาตติดตั้งสายสื่อสารแบบออนไลน์ (Online) บันทึกข้อมูลของสายสื่อสาร และแผนผังเส้นทางที่ติดตั้งสายสื่อสารในแผนที่ภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) ของ MEA ช่วยบริหารจัดการข้อมูลสายสื่อสารที่ติดตั้งขึ้นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ปี 2566 MEA มีแผนบูรณาการจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่ซอยเพชรบุรีฝั่งเลขคี่ ตั้งแต่ซอยเพชรบุรี 5, 7, 9, 11, 13, 15, 17, 19 รวมระยะทาง 4 กิโลเมตร ที่ผ่านมา MEA ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วภายในซอยสุขุมวิทฝั่งเลขคู่ ตั้งแต่ซอยสุขุมวิท 2-42 และฝั่งเลขคี่ ตั้งแต่ซอยสุขุมวิท 11-19 รวมถึงพื้นที่ซอยต่างๆ บริเวณใกล้เคียงรวมระยะทาง 55.844 กิโลเมตร ขณะเดียวกันภายในปี 2567 ยังมีโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่จะดำเนินการควบคู่ไปกับโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน จำนวน 6 ถนน รวมระยะทาง 35.2 กิโลเมตร ประกอบด้วย ถนนหลังสวน (เพลินจิต-สารสิน) ระยะทาง 2 กิโลเมตร ถนนสารสิน (ราชดำริ-ถนนวิทยุ) ระยะทาง 0.8 กิโลเมตร ถนนวิทยุ (พระรามที่ 4-เพลินจิต) ระยะทาง 4 กิโลเมตร ถนนพระรามที่ 4 (หัวลำโพง-สุขุมวิท) ระยะทาง 18 กิโลเมตร ถนนรัชดาภิเษก (พระรามที่ 4-เพชรบุรี) ระยะทาง 6.8 กิโลเมตร ถนนอังรีดูนังต์ (พระรามที่ 1-พระรามที่ 4) ระยะทาง 3.6 กิโลเมตร

สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ MEA จะดำเนินการตามแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารปี 2567-2568 ซึ่ง MEA และสำนักงาน กสทช. มีแผนดำเนินงานระยะทางรวม 1,300 กิโลเมตร โดยความสำเร็จเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของทุกหน่วยงาน

ทั้งนี้ ประชาชนที่พบเห็นปัญหาสายสื่อสารรกรุงรัง สายสื่อสารหลุดห้อยไม่ปลอดภัย เสาสื่อสารชำรุด สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน กสทช. โทร. 1200 หรือ LINE@ : @nbtc1200 หรือคลิก https://liff.line.me/1645278921-kWRPP32q/?accountId=nbtc1200 หรือพบว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าของ MEA ชำรุด อยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งเหตุได้ที่ MEA Smart Life Application ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟน ใช้งานได้ทั้งผ่านระบบ iOS และ Android ดาวน์โหลดฟรี คลิก https://onelink.to/measmartlife หรือสอบถามผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้แก่ Facebook : การไฟฟ้านครหลวง MEA, Line : MEA Connect, Twitter : @mea_news และศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image