จับตาปี67 อากาศวิปริต ดับเบิลเอลนีโญ-แล้ง

จับตาปี67 อากาศวิปริต ดับเบิลเอลนีโญ-แล้ง

ความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ในโลกหนักหน่วงขึ้นทุกวัน

ประเทศไทยก็ย่อมหนีไม่พ้น ความเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเกิดขึ้น

แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอย่างแน่นอน

Advertisement

ในส่วนของสภาวะอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งใกล้ตัวอย่างมาก มีหลายองค์กร หลายสถาบันต่างทำนายไปในทิศทางเดียวกันว่า แย่ อย่างมาก

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า ครึ่งปีแรกของปี 2567 ประเทศไทยจะมีอากาศร้อน แบบร้อนอย่างมหากาฬทีเดียว

เขาบอกด้วยว่า สภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นจะอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า อากาศสุดขั้ว ด้วย โดยปีที่ผ่านมาจะเป็นแค่ปีเปลี่ยนผ่านจากปรากฏการณ์ลานีญา เป็นปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่ปี 2567 จะเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญแบบเต็มตัว

Advertisement

โดยปรากฏการณ์เอลนีโญไม่ใช่เพียงแค่ร้อนและแล้งเท่านั้น แต่จะเป็นแล้งกระจุก ท่วมกระจาย ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมากคือ การเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ต้นปี

นอกจากปรากฏการณ์เอลนีโญแล้ว ยังมีปรากฏการณ์ อินเดียนโอเชียนไดโพล เป็นปรากฏการณ์ที่คล้ายกับเอลนีโญและลานีญา ที่เกิดในมหาสมุทรอินเดีย เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้สภาวะอากาศแกว่งไปมา และทำนายยากมาก แต่พื้นฐานที่จะต้องเกิดในปี 2567 คือ ร้อนและแล้ง ซึ่งร้อนที่ว่านี้คือ ร้อนแบบมหากาฬ ธาราระบุ

ผู้อำนวยการกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยว่า ปีที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยอุณหภูมิของผิวโลกแบบรายวันทุบสถิติโลกมาแล้ว โดยสูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยรายวันประมาณ 2 องศาเซลเซียส

ย้อนกลับไปดูสถิติ อุณหภูมิสูงสุดในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2494-2565 ในช่วงฤดูร้อน 5 อันดับแรกที่ได้บันทึกเอาไว้ พบว่า 1.วันที่ 28 เมษายน 2559 อุณหภูมิ 44.6 องศาเซลเซียส จ.แม่ฮ่องสอน 2.วันที่ 11 พฤษภาคม 2559 อุณหภูมิ 44.5 องศาเซลเซียส จ.สุโขทัย 3.วันที่ 28 เมษายน 2503 อุณหภูมิ 43.9 องศาเซลเซียส จ.อุดรธานี 4.วันที่ 1 พฤษภาคม 2559 อุณหภูมิ 43.7 องศาเซลเซียส จ.นครสวรรค์ 5.วันที่ 29 เมษายน 2501, 14 เมษายน 2526, 14 เมษายน 2535, 20 เมษายน 2535 และ 11 เมษายน 2559 อุณหภูมิ 43.5 องศา
เซลเซียส จ.กาญจนบุรี

สำนักอุตุนิยมวิทยาของประเทศญี่ปุ่น องค์การนาซา องค์กรอวกาศแห่งยุโรป รวมไปถึงหน่วยงานอิสระด้านภูมิอากาศแห่งสหรัฐอเมริกา ต่างมีข้อสรุปเรื่องสภาวะอากาศที่ไปในทิศทางเดียวกันคือ ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ร้อนที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยปีที่ร้อนที่สุดคือ ปี 2516 และปี 2519 และดูเหมือนว่าประเทศไทยนั้น บางพื้นที่อุณหภูมิก็ทุบสถิติเกือบทุกปีเหมือนกันที่สำคัญนักวิทยาศาสตร์จากหลายสำนักก็ทำนายเอาไว้ว่า ปี 2567 จะเป็นปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนมากกว่าปีที่ผ่านมา จากปรากฏการณ์เอลนีโญที่มาแบบเต็มพิกัด

ธาราสรุปทิ้งท้ายว่า เมื่อย้อนไปดูนโยบายรัฐบาลด้านภูมิอากาศที่ประกาศเอาไว้ การนำพาประเทศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม2.5 นั้น ย้อนแย้งกับงบประมาณที่จะนำไปแก้ปัญหาอย่างยิ่ง และหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อแก้ปัญหาด้านภูมิอากาศโดยเฉพาะ คือ กรมการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ก็ได้งบประมาณที่ไม่ได้แตกต่างจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเดิม จึงไม่ได้หวังอะไรมากกับการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ด้านสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประเมินและคาดการณ์ฝนของประเทศไทยจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเล บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก (ONI หรือ ENSO) มหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ (PDO) และมหาสมุทรอินเดีย (DMI) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาพอากาศและฝนในประเทศไทย พบว่าแนวโน้มของฝนที่ตกค่อนข้างสอดคล้องกับปริมาณฝนของปีที่คาดการณ์ได้จากทั้งสามดัชนีดังกล่าว เช่นปี 2554 และ 2560 ที่เป็นปีน้ำมาก และปี 2558 ที่เป็นปีน้ำน้อย ทำให้นำไปใช้ในการวางแผนรับมือและบริหารจัดการน้ำให้กับหน่วยงานต่างๆ ต่อเนื่องมาทุกปี

สสน.ระบุว่า ในปี 2567 ความแปรปรวนของสภาพอากาศเนื่องจากภาวะโลกเดือดยังเป็นอีกปัจจัยที่ท้าทายสำหรับการประเมินและคาดการณ์สถานการณ์น้ำในปีนี้ ซึ่งอาจเป็นปีที่มีฝนแปรปรวนอีกครั้ง เพราะเราจะเจอกับสภาวะอุณหภูมิผิวน้ำทะเลพลิกกลับอย่างรวดเร็ว จากร้อนกลับเป็นเย็น ภาวะเอลนีโญจะสิ้นสุดกลับมาเป็นปกติในเดือนมิถุนายน และอาจจะทะลุลงไปเป็นลานีญาในช่วงปลายปีได้

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่ากรณีที่แย่ที่สุดคือ นับจากนี้ไปจนถึงปี 2568 ประเทศไทยจะเจอกับปรากฏการณ์ดับเบิลเอลนีโญ หากเกิดดับเบิลเอลนีโญ ทะเลเดือดร้อนหนักแน่ๆ การเยียวยาจากภาครัฐอาจมีบ้าง แต่ผลกระทบจากเอลนีโญคือเหนือจรดใต้ไปถึงทะเล จะเยียวยาไหวหรือไม่ เพราะสิ่งที่เรากำลังจะเจอไม่เหมือนที่เคยเกิดมา เพราะเรามีโลกร้อนมาหนุน เรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า Double Whammy เป็นสิ่งที่เราจะเผชิญต่อไป ทั้งเอลนีโญและลานีญา ในภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น

เอลนีโญเริ่มเข้ามาส่งผลกับประเทศไทยแล้ว จะรุนแรงขึ้น ที่เห็นได้ชัดในเวลานี้คือ กระแสน้ำร้อนที่เข้ามาประชิดอ่าวไทย ทำให้น้ำในทะเลอ่าวไทยร้อนขึ้นเรื่อยๆ

ผลที่จะตามมาคือ ปะการังฟอกขาว น้ำทะเลเปลี่ยนสี สัตว์น้ำหนีหายไปที่อื่นหมด อากาศแห้งแล้ง ร้อน ฝนมาๆ หายๆ หากมีพายุก็จะเป็นพายุที่มีความรุนแรง เป็นทั้งดีเปรสชั่นและพายุไต้ฝุ่น เพราะอุณหภูมิน้ำทะเลยิ่งร้อนจะมีความสัมพันธ์ทำให้พายุมีความรุนแรงมากขึ้น

ปกติแล้วอุณหภูมิของน้ำทะเล หากเป็นช่วงฤดูฝนจะอยู่ที่ 28-29 องศาเซลเซียส แต่ในปัจจุบันอยู่ที่ 31 องศาเซลเซียส และคาดว่าเมื่อถึงช่วงที่พีคที่สุดจะอยู่ที่ 32 หรืออาจจะถึงขั้น 32.5 องศาเซลเซียส ในเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งยอมรับว่าเกิดมายังไม่เคยเจอน้ำทะเลอุณหภูมิสูงขนาดนี้มาก่อน ไม่ต้องถามว่าผลกระทบอย่างไรบ้าง เพราะจะบอกว่าผลกระทบเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า บอกง่ายๆ เลย คนในเมือง เมื่อร้อน ค่าไฟก็เพิ่มขึ้น เวลานี้ธุรกิจต่างๆ มีต้นทุนเป็นค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 12% ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ชาวบ้านทั่วไปทำมาหากินลำบาก ชาวสวน ชาวนาหาน้ำมาทำการเกษตรยากขึ้น ต่อไปเรื่องน้ำนี่จะลำบากมาก รัฐบาลจะต้องจัดสรรให้ดี โดยสรุปคือ คนไทยจะเจออากาศวิปริตอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ซึ่งรัฐบาลทั่วโลกเตรียมพร้อมรับมือกันแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มีรัฐบาลตัวจริงเข้ามาทำงานเลย ผศ.ดร.ธรณ์กล่าว

นั่นคือบทสรุปและเสียงเตือนจากผู้เชี่ยวชาญที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ควรมองข้าม!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image