ชัชชาติ ชี้ 1 ปี กทม.ออกมาตรการลดฝุ่นกว่า 30 เรื่อง เล็ง ใช้แรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ ลด PM 2.5

ชัชชาติ เล็ง ใช้แรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ ลด PM 2.5 มองบวก นายกฯถกกัมพูชาร่วมลดฝุ่น

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2567

นายชัชชาติ กล่าวว่า รัฐบาลมีวาระแห่งชาติในการลดฝุ่น PM 2.5 โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามแผน ซึ่งฝุ่นที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ มาจากรถยนต์ดีเซล 57% จากการก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม 16% การเผาในที่โล่ง 15% รถยนต์เบนซิน 8% ส่วนฝุ่นที่กระทบกับกรุงเทพฯ ฝุ่นเกิดนอกพื้นที่กรุงเทพฯ 42% การจราจร 22% เผาในที่โล่ง 16% โรงงานอุตสาหกรรม 15%

นายชัชชาติ กล่าวว่า จากข้อมูลจุดเผา หรือ Hot Spot ตั้งแต่วันที่ 1-31 ม.ค. เมื่อเทียบปีนี้กับปีที่แล้ว พบว่าในประเทศเพื่อนบ้านมี 49,983 จุด เพิ่มขึ้น 93% จุดเผาในประเทศ พื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก 3,252 จุด ลดลง 46% ส่วนพื้นที่กรุงเทพมีเพียง 1 จุด ลดลง 83% จะเห็นว่าในประเทศไทยมีการลดการเผาได้มาก อย่างไรก็ตามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการส่งหนังสือแจ้งไปยังเลขาธิการอาเซียนจำนวน 2 ครั้ง ในต้นเดือน ม.ค. และ ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อแจ้งเตือนให้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการลดจุดเผา

Advertisement

นายชัชชาติ กล่าวว่า ใน 1 ปีที่ผ่านมา กทม.ได้ออกมาตรการลดฝุ่นแล้วกว่า 30 เรื่อง อย่างการตรวจรถยนต์ควันดำ 297,935 คัน สั่งแก้ไข 3,079 คัน ตรวจไซต์ก่อสร้าง 5,111 ครั้ง สั่งแก้ไข 34 แห่ง ร่วมตรวจสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) 118 แห่ง พบข้อบกพร่อง 17 แห่ง พร้อมสั่งให้แก้ไขภายใน 7 วัน การรณรงค์ให้รถยนต์เปลี่ยนไส้กรองอากาศ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ร่วมภาคเอกชน มีรถยนต์เปลี่ยนไปแล้ว 168,442 คัน คาดว่าภายในสิ้นเดือน ก.พ.นี้จะเปลี่ยนได้ครบตามเป้าหมาย 300,000 คัน การจัดซื้อรถเครื่องอัดฟาง เพื่อให้เกษตรกรยืมใช้ จำนวน 3 คัน หารใช้จุรินทรีย์ย่อยสลายตอซังข้าว ใน 7 วัน ทดแทนการเผาในที่โล่ง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ลักลอบทิ้งขยะ

ส่วนแผนบริหารจัดการฝุ่นในระยะวิกฤต อย่างการออกมาตรการ Work from home โดยร่วมมือกับเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชนกว่า 136 แห่ง พนักงาน 53,545 คน โดยมีเกณฑ์จากคาดการณ์ค่าฝุ่นในระดับสีแดง หรือมากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 วัน ใน 15 เขต หรือพื้นที่กรุงเทพฯ ด้านตะวันออกซึ่งเป็นต้นลมจำนวน 7 เขต ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้ใช้มาตรการนี้

Advertisement

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.ใช้อำนาจตามกฎหมาย ในการประกาศเหตุเดือดร้อนรำคาญ โดยให้อำนาจ ผอ.เขตเป็นผู้ประกาศ ซึ่งสามารถเข้าไปกำจัดต้นต่อของการเกิดฝุ่น มีการเปิดคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัด กทม. การขยายห้องเรียนปลอดฝุ่นในชั้นเรียนอนุบาล 61 โรงเรียน ในสังกัด กทม.

“นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือต่างๆจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน วิชาการ สื่อมวลชน แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคน ถ้าคนไม่เปลี่ยนพฤติกรรมก็ไม่สามารถลดฝุ่นได้ โดยมี 2 รูปแบบ คือ ใช้แรงจูง และใช้แรงบังคับ ต้องเป็นระดับเชิงนโยบายที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นขึ้น” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติ กล่าวถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะมีการหารือบูรณาการแก้ปัญหา PM 2.5 ร่วมกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในวันพรุ่งนี้ (7 ก.พ.67) เชื่อว่ารัฐบาลมีข้อมูลฝุ่นอยู่แล้ว ส่วนตัวได้พูดคุยกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ท่านเข้าใจสถานการณ์ กรุงเทพฯ ไม่ได้รับผลกระทบเพียงจังหวัดเดียว แต่มีอีก 40 จังหวัดที่ค่าฝุ่นสูง ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้บูรณาการร่วมกัน

“ผมไม่โทษใคร เพราะเราก็สร้างฝุ่นเอง ขอให้เอาความจริงมาพูดกัน ผมว่าการพูดคุยในวันพรุ่งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนช่วยเหลือกัน มองในทางบวก เราไม่ได้โทษว่ากัมพูชาเป็นต้นเหตุ แต่การแก้ปัญหาต้องทำทุกอย่างไปพร้อมกัน” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติ ยังกล่าวว่าฝุ่นไม่ใช่แค่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านเศรษฐศาสตร์ และต้นทุนการผลิต จึงต้องอาศัยมาตรการทางกฎหมายเข้ามาบังคับด้วย นอกจากนี้ยังมีวาระแห่งชาติ อย่างการย้ายท่าเรือคลองเตย เนื่องจากมีตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาปีละประมาณ 1 ล้านตู้ ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการจราจรติดขัด หากมีการย้ายไปที่ท่าเรือแหลมฉบังได้ แล้วมาทำพื้นที่สีเขียว ใช้ระบบขนส่งทางรางมากขึ้น ก็จะช่วยลดฝุ่นได้

“แคมเปญเปลี่ยนไส้กรองเปลี่ยนน้ำมันเครื่องรถยนต์ โดยอาศัยภาคเอกชนร่วมมือในการลดราคาลง ก็เพื่อให้แรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์มากพอที่เปลี่ยนที่เข้าไปเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเพื่อลดฝุ่น ส่วนการให้ชาวนายืมรถเครื่องอัดฟางฟรี ก็เพื่อให้มีแรงจูงใจในการลดต้นทุนให้ถูกลง หรืออย่างประเทศสิงคโปร์มีการออกมาตรการไม่ซื้อผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่ยังใช้การเผา” นายชัชชาติกล่าว

ด้านนายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง ในฐานะผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงการการหารือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาว่า เป็นความคิดของรัฐอยู่แล้วที่จะร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ผ่านมาจึงได้มีการทำยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR SKY Strategy) ที่มีความร่วมมือจากประเทศไทย เมียนมา และลาว ซึ่งยังไม่มีกัมพูชาเข้าร่วม แต่ได้มีความคิดที่จะตั้งคณะกรรมการร่วมของทั้ง 2 ฝ่ายขึ้น และจะนำกัมพูชาเข้ามาร่วมกับยุทธศาสตร์ฟ้าใสต่อไปในอนาคต คิดว่าจะสามารถเริ่มได้ทันที หลังจากการประชุมในวันที่ 7 ก.พ.นี้

นายพันศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนประเทศลาวและเมียนมา ยังเป็นพื้นเฝ้าระวัง เพราะอยู่ในช่วงฤดูเผาทางฝั่งเหนือ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ ก.พ. – มี.ค. ที่จะเป็นช่วงที่เกิดปัญหาหนักที่สุด จึงต้องใช้ความร่วมมือร่วมกันต่อไป ซึ่งยุทธศาสตร์ฟ้าใส ได้เดินหน้าปฏิบัติการไปแล้ว มีการวางแผนปฏิบัติการร่วม จัดแผนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเกษตรในพื้นที่สูง ประเทศไทยเองมีประสบการณ์มากกว่า และจะแชร์ประสบการณ์นี้ให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้ทำตามต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image