ส.ก.ตามทวงสะพาน ‘ข้ามแยกลำกะโหลก’ ค้านเพิ่มไฟจราจร ทำติดหนึบกว่าเดิม

ส.ก.คลองสามวา ตามทวงสะพาน ‘ข้ามแยกลำกะโหลก’ ค้านเพิ่มไฟจราจร ลองแล้วติดหนึบกว่าเดิม

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม สภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 6) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้บริหาร กทม. และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทั้ง 50 เขต เข้าร่วมการประชุม

สำหรับการประชุมครั้งนี้มีระเบียบวาระที่สำคัญ โดย นายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. รายงานผลการดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นอกจากนี้ นายชัชชาติ ยังยื่นญัตติ เสนอขอความเห็นชอบเพิ่มวงเงินผูกพันงบประมาณกรุงเทพมหานครโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 3 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนคร จากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแยกสะพานแดง อีกด้วย

ในตอนหนึ่ง น.ส.นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ ส.ก.เขตคลองสามวา พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นกระทู้ถามสด เรื่อง ขอสอบถามแผนงานการก่อสร้างสะพานยกระดับข้ามแยกลำกะโหลก ถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง (กีบหมู) เขตคลองสามวา

Advertisement

น.ส.นฤนันมนต์กล่าวว่า หนึ่งในประเด็นร้องเรียนที่มากที่สุดของของเขตคลองสามวา ใน Traffy Fondue คือ เรื่องของสภาพถนน ซึ่งคลองสามวามีประชากรอันดับ 1 ในกรุงเทพมหานคร จำนวนเกือบ 2.5 – 3 แสนคน โดยจุดสำคัญที่มีปัญหารถติดอย่างมาก คือ บริเวณถนนกีบหมู/สุเหร่าคลองหนึ่ง และแยกลำกะโหลก ซึ่งทางดิฉันและฝ่ายบริหารได้มีการลงพื้นที่เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2565

ต่อมา ได้มีหนังสือชี้แจงข้อคำถามจากสำนักการโยธาถึงแนวทางแก้ไข เมื่อเดือนกันยายน 2565 ว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้ข้อสังเกตและวางแผนแนวทางในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น คือ 1. ก่อสร้างสะพานข้ามแยกบริเวณห้าแยกลำกะโหลกและขยายถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง จาก 2 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจร 2. ก่อสร้างและปรับปรุงถนนเป็นวงเวียน และ 3. ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร โดยในขณะนั้นยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมของรูปแบบทางเลือกดังกล่าว หลังจากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2566 ตนได้ทำหนังสือสอบถามแผนการก่อสร้างสะพานข้ามแยกลำกะโหลกอีกครั้ง แต่เรื่องยังเงียบอยู่ ดังนั้น วันนี้จึงขอสอบถามกับฝ่ายบริหารอีกครั้ง

Advertisement

“เขตคลองสามวา ในทราฟฟี่ฟองดูว์ มีเรื่องร้องเรียนหลักๆ คือ 1.รถติด 2.สภาพถนน 3.ขยะ 4.ทางเท้า หลายท่านอาจจะมองว่าเขตเราอยู่ห่างไกลกรุงเทพฯ ชั้นใน ไม่น่ามีเหตุผลให้รถติด แต่ความจริงประชากรสูงสุดอับดับ 1 ใน กทม. การจราจรคือหนักไม่แพ้กรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งทราฟฟี่ฯ สรุปแล้วว่ามี 5 จุดสำคัญที่ทำให้รถติดคือ เลียบทางด่วน ถนนไทรามัญ เลียบคลองสอง กีบหมู และแยกลำกะโหลก ซึ่งโซนนี้ถนนเชื่อมติดกัน ทำให้เกิดรถติด

เราเคยส่งเรื่องเทียบเชิญ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ไปลงพื้นที่เขตคลองสามวา 6 ส.ค.2565 ท่านชัชชาติ ได้ลงไปดูพื้นที่จราจรติดขัด โดยเฉพาะบริเวณแยกกีบหมู ก็พูดคุยกันว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้าง จึงทำจดหมายส่งไป ผู้ว่าฯ ตอบกลับครั้งแรก 26 ก.ย.2565 เรื่องรถติด ซึ่งจุดที่เรากำลังพูดถึงคือ แยกลำกะโหลก ซึ่งผู้ว่าฯ วางแผนแก้เบื้องต้น 3 ข้อด้วยกัน” น.ส.นฤนันมนต์ชี้

น.ส.นฤนันมนต์กล่าวต่อว่า โดยส่วนตัวมองว่าความเห็นข้อที่ 3 (ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร) ในฐานะคนคลองสามวา ตนขอโหวตออก เพราะเคยทดลองแล้วว่า การมีไฟจราจรหัว-ท้าย จะส่งผลให้ติดขัดหนักกว่าเดิม

ส่วนความเห็นข้อ 1 (ก่อสร้างสะพานข้ามแยกบริเวณห้าแยกลำกะโหลกและขยายถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง จาก 2 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจร) คนคลองสามวาก็เห็นด้วยเหมือนกัน ดิฉันเฝ้ารอการอัพเดต จนกระทั่งทำหนังสือสอบถามรอบ 2 ถามถึงแผนงานก่อสร้างสะพานข้ามแยก ซึ่งมีคนของแขวงบางชันเข้าชื่อ มี 20 รายชื่อที่ต้องการติดตามสอบถามถึงการสร้าง หลังจากนั้นเรื่องราวก็ยังเงียบไป จึงขอสอบถามทีมบริหารและผู้ว่าฯ ถึงข้อมูลในการสร้างสะพานข้ามแยกลำกะโหลกว่า 1. ปัจจุบันมีการดีไซน์ ออกแบบสะพานข้ามแยกชุดนี้หรือยัง” น.ส.นฤนันมนต์กล่าว

ด้าน นายชัชชาติกล่าวชี้แจงว่า จุดนี้มีปัญหาการจราจรจริง จากที่ตนลงพื้นที่ตั้งแต่ก่อนเป็นผู้ว่าฯ และขณะเป็นผู้ว่าฯ ซึ่งพบว่าขณะนี้มีความคืบหน้าพอสมควร ขอให้รองผู้ว่าฯในด้านที่เกี่ยวข้อง ช่วยชี้แจงต่อไป

ด้าน นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า ขณะนี้สำนักการโยธาได้ออกแบบสะพานข้ามแยกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นสะพานขนาด 2 ช่องจราจร ความยาว 600 เมตร และได้มีการลงพื้นที่รางวัดเพื่อออกแบบก่อสร้างแล้ว และจะดำเนินการของบประมาณปี 2568 เพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป

น.ส.นฤนันมนต์กล่าวต่อว่า ชาวคลองสามวาเชื่อว่าสะพานนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรได้ไม่มากก็น้อย

“พื้นที่คลองสามวาเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ สะพานแห่งนี้จะเป็นสะพานข้ามแยกแรกของเขตคลองสามวา ดังนั้น จึงขอฝากให้ฝ่ายบริหารดำเนินการให้เรียบร้อยเพื่อให้คนคลองสามวาได้เดินทางสะดวกมากขึ้น” น.ส.นฤนันมนต์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image