สสส.เผยภาษีความหวานเห็นผล ตลาดเครื่องดื่มแห่ปรับสูตร เวิลด์แบงก์ชมไทยมีประสิทธิภาพ

สสส.เผยภาษีความหวานเห็นผล ตลาดเครื่องดื่มแห่ปรับสูตร เวิลด์แบงก์ชมไทยมีประสิทธิภาพ

วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2567) นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ในการประชุมหัวข้อ ปัจจัยการค้ากำหนดสุขภาพ (commercial determinants of health) ประสบการณ์ของไทยเรื่องภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล (Sugar-sweetened Beverages Tax) เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567 PMAC 2024 ภายใต้ธีม “ภูมิศาสตร์การเมืองและความเท่าเทียมทางสุขภาพในยุคแห่งวิกฤตที่ซ้ำซ้อน” (Geopolitics and Health Equity in an Era of Polycrises) ได้มีโอกาสถ่ายทอดประสบการณ์ของประเทศไทยกรณีมีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ซึ่งไทยพบประมาณ 400,000 รายต่อปี คิดเป็นร้อยละ 77 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ในจำนวนนี้ เสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึงร้อยละ 14

นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า จากข้อมูลภาระโรคในประเทศไทยปี 2562 พบการบริโภคอาหารไม่เพียงพอหรือมากเกินไป เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมอง มะเร็ง และเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคน้ำตาลที่มากเกินความจำเป็นของร่างกาย ซึ่งมาจากเครื่องดื่มมากที่สุด รองลงมาคือ อาหาร และขนม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการผลักดันให้ผู้ประกอบการปรับปรุงสูตรเครื่องดื่มที่ลดปริมาณน้ำตาล เพื่อสุขภาพของประชาชนผู้บริโภค

Advertisement

“สสส.เดินหน้าลดการบริโภคน้ำตาล ร่วมกับ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข ผลักดันมาตรการทางภาษีความหวาน ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สรรพสามิต พ.ศ.2560 ได้จัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคสินค้าเสี่ยงต่อสุขภาพ สนับสนุนให้ผู้ผลิตปรับสูตรเครื่องดื่มที่หวานน้อย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือ ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มปรับสูตรลดน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 ขณะที่ข้อมูลจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล พบการบริโภคน้ำตาลลดลงจากปี 2560 ที่ 27 ช้อนชาต่อวัน เหลือ 23 ช้อนชาต่อวัน ในปี 2564 โดยช่วงอายุ 15-29 ไป มีแนวโน้มการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลลดลง แม้ว่าแนวโน้มจะลดลง แต่ยังสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานไม่เกิน 6 ช้อนชา ต่อวัน จึงเป็นเรื่องท้าทายที่ สสส. และภาคีเครือข่ายต้องเร่งปรับการทำงานให้เข้มข้นขึ้น ควบคู่กับการสื่อสารรณรงค์สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง” นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ด้าน เคท แมนเดวิล ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอาวุโสจากธนาคารโลก (World Bank) กล่าวในเวทีเดียวกันว่า แม้ว่าจะมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า มาตรการทางภาษีความหวาน สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค และลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานได้ เช่น เม็กซิโก ภาษีเครื่องดื่มที่มีความหวานส่งผลให้การบริโภคน้ำตาลลดลงถึงร้อยละ 7.5 ตอกย้ำถึงประสิทธิภาพของการเก็บภาษีความหวาน โดยออกแบบโครงสร้างภาษีตามบริบทของประเทศนั้นๆ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับมาตรการติดฉลากอาหาร เครื่องดื่ม และส่วนผสมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งนี้ จากการดำเนินงานของประเทศไทย ถือเป็นการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งมิติของกฎหมาย มาตรการ นโยบาย รวมถึงไปถึงการสร้างความตระหนักรู้ผ่านสื่อรณรงค์ต่างๆ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image