“น.รินี เรืองหนู” จากมติชน นั่ง ‘นายกสมาคมนักข่าว’ คนใหม่ ประกาศดูแลสิทธิเสรีภาพสื่อ

“น.รินี” หัวข่าวนสพ.มติชน นั่ง ‘นายกสมาคมนักข่าว’ คนใหม่ ประกาศดูแลสิทธิเสรีภาพสื่อ

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ อาคารบางซื่อจังชั่น ที่ทำการชั่วคราวสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีวาระการประชุมเพื่อพิจารณารับสมัครสมาชิกใหม่ รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ พิจารณารับรองงบดุลประจำปี 2566 และ เลือกตั้งนายกสมาคมนักข่าวฯ พร้อมคณะกรรมการบริหารชุดใหม่

ที่ประชุมมีมติเลือก นางสาวน.รินี เรืองหนู หัวหน้าข่าว กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคม ขณะที่กรรมการบริหารสมาคมฯ 14 คนประกอบด้วย 1.นายวัฒนะชัย ยะนินทร (ผู้จัดการ) 2.นางสาวธนิตา อิสรา (ผู้จัดการ) 3.นายสมศักดิ์ ศรีกำเหนิด (บ้านเมืองออนไลน์) 4.นายชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม (บางกอกโพสต์) 5.นายอนุชา เจริญโพธิ์ (บางกอกโพสต์) 6.นายชำนาญ ไชยศร (ไทยรัฐ) 7.นายวีรพจน์ อินทรพันธ์  (ไทยรัฐ) 8.นางอุษา มีชารี (เดลินิวส์) 9.นายวรพล เพชรสุทธิ์ (เดลินิวส์) 10.นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง (ฐานเศรษฐกิจ) 11.นางหทัยรัตน์  ดีประเสริฐ (กรุงเทพธุรกิจ) 12.นางสาวณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า (ประชาชาติธุรกิจ) 13.นายวิษณุ นุ่นทอง (The better ) และ 14.นายธนพล บางยี่ขัน (The Active)

ด้าน กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ 4 คนประกอบด้วย 1.ดร.สุรศักดิ์ จิรวัสตร์มงคล 2.นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง 3.นางผุสดี คีตวรนาฏ และ 4.นายสมาน สุดโต

Advertisement

นางสาว น.รินี กล่าวภายหลังจากที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ว่า ขอขอบคุณสมาชิกที่ไว้วางใจให้คณะกรรมการชุดใหม่ได้เริ่มทำงานบริหารสมาคมฯ โดยจะมีในวาระในการทำงาน 2 ปี และขอยืนยันให้ความมั่นใจว่าจะทำตามพันธกิจของสมาคม ที่มีอยู่ 3 เรื่องหลักคือ เรื่องที่ 1 การส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของเพื่อนสมาชิกในวงวิชาชีพสื่อสารมวลชน เรื่องที่ 2 ดูแลสวัสดิการสมาชิกที่จะต้องสร้างความมั่นคงและให้ความช่วยเหลือเพื่อนสมาชิก และเรื่องที่ 3 คือการพัฒนาส่งเสริมเพื่อนสมาชิกในด้านของการทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพและส่งเสริมองค์ความรู้ใหม่ ทั้งสามส่วนนี้ก็จะเป็นงานหลักของพวกเราทั้งทีมที่จะช่วยกันผลักดัน

“ที่สำคัญที่สุดก็คือจะให้มีช่องทางการสื่อสาร กรณีที่เพื่อนสมาชิกมีเรื่องไม่สบายใจหรือข้อกังวลใดใดที่ต้องการให้ทางสมาคมดูแลหรือช่วยเหลือ ก็พร้อมที่จะเปิดให้ได้มีโอกาสพูดคุยกันแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน เนื่องจากต้องการให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและขับเคลื่อนงานทางด้านสื่อสารมวลชนไปด้วยกัน” นางสาว น.รินีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 5 มีนาคม สมาคมนักข่าวฯ มีกำหนดจัดกิจกรรม “วันนักข่าว” หรือวันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ในประเทศไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 5 มีนาคมของทุกปี โดย นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมนักข่าวฯ ได้จัดประกวดข่าวและภาพข่าว ชิงรางวัล “อิศรา อมันตกุล” ของมูลนิธิอิศรา อมันตกุล โดยเป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2515 โดยรางวัลอิศรา อมันตกุล เป็นการรำลึกถึงนายอิศรา อมันตกุล นักหนังสือพิมพ์ผู้ล่วงลับและอดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการริเริ่มและบุกเบิกงานข่าวเชิงสืบสวนในประเทศไทย และเพื่อประกาศเกียรติคุณให้แก่หนังสือพิมพ์และผู้เป็นเจ้าของผลงาน อันจะเป็นแรงกระตุ้นในการพัฒนาให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพและสร้างเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม

Advertisement

ในปี 2566 ได้จัดการประกวดข่าวและภาพข่าวรวม 4 ประเภท คือ
1.ข่าวยอดเยี่ยมรางวัลอิศรา อมันตกุลสำหรับสื่อหนังสือพิมพ์
2.ข่าวยอดเยี่ยมรางวัลอิศรา อมันตกุลสำหรับสื่อออนไลน์
3.ภาพข่าวยอดเยี่ยมรางวัลอิศรา อมันตกุลสำหรับสื่อหนังสือพิมพ์
4.ภาพข่าวยอดเยี่ยมรางวัลอิศรา อมันตกุลสำหรับสื่อออนไลน์

คณะกรรมการตัดสินการประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวยอดเยี่ยมสำหรับสื่อหนังสือพิมพ์ ได้พิจารณาคัดเลือกผลงานที่ส่งเข้าประกวด จำนวน 5 ข่าว จากหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ ดังนี้
1.บุกรุกถมฮุบคลองสาธารณะ (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)
2.อวสานกาแฟ สัปดน ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)
3.เปิดยุทธการสกัด ไอกรน ช่วยเด็กเกิดรอดแม่ปลอดภัย (หนังสือพิมพ์มติชน)
4.ชำแหละ…หมูเถื่อน สาวไส้’เชือด’ทั้งขบวนการ (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์)
5.ตีแผ่แก๊งมอดไม้ ‘ พะยูง-ประดู่’โยงใยจนท.รัฐ เอื้อใบสั่ง…นายทุนจีน (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์)
ในปี 2566 ไม่มีผลงานข่าวใดได้รับรางวัลยอดเยี่ยม แต่มีรางวัลชมเชย 2 รางวัล

ประเภทข่าวยอดเยี่ยมสำหรับสื่อออนไลน์ คณะกรรมการตัดสินการประกวด ได้พิจารณาคัดเลือกผลงานที่ส่งเข้าประกวด จำนวน 31 ข่าว จาก 9 องค์กรสื่อ มีผลงานข่าวเข้ารอบสุดท้าย 4 ผลงาน ได้แก่
1.ทวงคืน “พลายศักดิ์สุรินทร์” ช้างไทยในศรีลังกา (ไทยรัฐออนไลน์)
2.ตีแผ่ตัดไม้พะยูง โยงหน่วยงานรัฐ ผลาญทรัพยากรในที่ราชพัสดุ (เดลินิวส์ออนไลน์)
3.เจนปรียา จําปี หอม ในความขื่นขมของเบอร์รี (The Isaan Record)
4.สางปม E-biding บริษัทกำนันนก ส่อทุจริตฮั้วประมูลโครงการรัฐ (ThaiPBS)
ในปี 2566 ไม่มีผลงานข่าวใดได้รับรางวัลยอดเยี่ยม แต่มีรางวัลชมเชย 2 รางวัล

สำหรับผลงานภาพข่าวที่ส่งเข้าประกวดประเภทภาพข่าวยอดเยี่ยมรางวัลอิศรา อมันตกุลสำหรับสื่อหนังสือพิมพ์ มีจำนวน 44 ภาพ จากหนังสือพิมพ์ 4 ฉบับ มีผลงานภาพข่าวเข้ารอบสุดท้าย 6 ภาพ ได้แก่
1.บ๊ายบาย…ปู้นปู้นนนน ถ่ายโดยนายสมชาย ภูมิลาด (หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์)
2.สยบคลั่ง ถ่ายโดยนางสาว ขนิษฐา ปานรักษ์ (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)
3.หวาดเสียว ถ่ายโดยนายสุรชัย ส้มฉุน (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)
4.ช่วยทัน ถ่ายโดยนางสาวอาภาพร เทศทองดี (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์)
5.หนีตาย ถ่ายโดยนายจุมพล นพทิพย์ (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์)
6.โผกอด ถ่ายโดยนายกอบภัค พรหมเลขา (หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ)
ในปี 2566 มีผลงานภาพข่าวจากสื่อหนังสือพิมพ์ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัลและรางวัลชมเชย 2 รางวัล

ส่วนผลงานภาพข่าวที่ส่งเข้าประกวดภาพข่าวยอดเยี่ยมรางวัลอิศรา อมันตกุลสำหรับสื่อออนไลน์ มีจำนวน 156 ภาพจาก 10 องค์กรสื่อ คณะกรรมการตัดสินการประกวด ได้พิจารณาคัดเลือกผลงานภาพข่าวที่เข้ารอบสุดท้ายจำนวน 5 ภาพ ดังนี้
1.เก่ากำลังไป ใหม่มาแล้ว ถ่ายโดย นายสุภณัฐ รัตนธนาประสาน (www.ThaiPBS)
2. ใจสลาย ถ่ายโดย นายอดิศร ฉาบสูงเนิน (www.ThaiPBS)
3. ก้าวแรกสู่สมรสเท่าเทียม ถ่ายโดย นายธนาชัย ประมาณพาณิชย์ (TNN online)
4. rhythm ถ่ายโดย นายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ (SPACEBAR)
5. อรุณสวัสดิ์ เช้าวันใหม่ที่ถนนข้าวสาร ถ่ายโดย นายสมศักดิ์ เนตรทอง (PPTV Online)
ในปี 2566 มีผลงานภาพข่าวจากสื่อออนไลน์ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัลและรางวัลชมเชย 2 รางวัล

ทั้งนี้ จะประกาศผลและมีพิธีมอบรางวัลในวันอังคารที่ 5 มีนาคม 2567 เวลา 17.00–20.00 น ณ ห้อง Phayathai Grand Ballroom ชั้น 6 โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image