‘ฉันทำได้’ มาตรฐานใหม่โลก เชื่อมั่นคนพิการ ‘ทำได้ทุกอย่าง’

‘ฉันทำได้’ มาตรฐานใหม่โลก เชื่อมั่นคนพิการ ‘ทำได้ทุกอย่าง’

ในการปลุกศักยภาพบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและคนพิการในสังคมไทยและทั่วโลก โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมทั้งในและต่างประเทศได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่าย และศึกษาวัฒนธรรมการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเผยแพร่องค์ความรู้ในการอยู่ร่วมและดูแลคุณภาพชีวิตของพวกเขา
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับเครือข่ายก้าวไปด้วยกัน

จัดแถลงข่าวโครงการประชุมนานาชาติการประชุมสภาคนพิเศษแห่งเอเชีย “ฉันทำได้” The Asian Congress for People with Special Needs “I am able.” ณ ห้องประชุมอำไพ สุจริตกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

“โทมัส เคราส์” นักสังคมบำบัดชาวเยอรมัน ผู้ริเริ่มการประชุมสภาคนพิเศษนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี เมื่อปี 2541 และได้ขยายการประชุมสภาคนพิเศษไปยังนานาประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกาใต้ และเอเชีย สำหรับประเทศไทย การประชุมนี้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2555 ภายใต้ชื่อ “ก้าวไปด้วยกัน” หลังจากนั้น มีการจัดประชุมสภาคนพิเศษในประเทศไทยขึ้นทุก 2 ปี

Advertisement

โดยในปี 2567 การประชุมครั้งนี้จะขยายขอบเขตจากประเทศไทยไปเป็นการประชุมสภาคนพิเศษแห่งเอเชีย ครั้งที่ 1 และขยายกลุ่มเป้าหมายสู่ผู้พิการทุกประเภทและผู้ต้องการการสนับสนุนทางจิตใจ เพื่อเข้าสู่สุขภาวะองค์รวมเช่นกัน

โทมัส เคราส์ กล่าวว่า การประชุมสภาคนพิเศษแห่งเอเชียในประเทศไทย ปีนี้นับเป็นครั้งที่ 5 ซึ่งในปัจจุบันมีผู้เข้าร่วม 8 ประเทศ ถือว่าเป็นการจัดงานที่ประสบความสำเร็จ และผมอยากจะดูว่าการจัดงานนี้มันมีความหมาย และสร้างผลกระทบอย่างไรต่อสังคม โดยการจัดงานครั้งนี้มีการวางแผนมานานกว่า 5 ปี ซึ่งมีอุปสรรคมากมาย และเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่การที่ผู้คนสามารถมาอยู่ตรงนี้ได้ก็ถือว่า ‘เราทำได้ ทุกคนทำได้’

Advertisement

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่ามีการพบปะกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ผมหวังว่างานครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ
ในเรื่องความเคลื่อนไหวในการสร้างคุณภาพชีวิต และการงานอาชีพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและคนพิการ

ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การเข้าสู่กระบวนการเป็นผู้ใหญ่ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในเรื่องของการงาน เพื่อที่จะทำให้คนพิเศษเข้าสู่กระบวนการทำงานได้ ซึ่งในปัจจุบันมีภาครัฐและภาคเอกชนที่ทำงานร่วมกันในส่วนนี้เยอะมากขึ้น ปัจจุบันสถานประกอบการมีการเปิดใจและเปิดกว้างในการรับบุคคลเหล่านี้ เข้าสู่กระบวนการทำงานในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี การบริการต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นมิติที่ใหม่มาก และไม่ใช่แค่การเปิดรับสมัคร

แต่จะมีกระบวนการตั้งแต่อบรมครู พี่เลี้ยง ที่จะเข้าใจบุคคลเหล่านี้ว่าถ้าทำงานแล้วจะมีข้อจำกัดอะไรบ้าง และที่สำคัญจากที่ได้ร่วมมือกับ global business และบริษัทหลายๆ ที่ ทำให้รู้สึกว่าเขามองที่ศักยภาพในการทำงาน มากกว่าการมองว่าเป็นบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและคนพิการ

“ต้องชื่นชมภาคเอกชน ที่เป็นบริษัทใหญ่ๆ ในการมีนโยบายรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและคนพิการ เนื่องด้วยประเทศไทยมีกฎหมายพิเศษ โดยกำหนดให้บริษัทใหญ่ๆ ที่มีพนักงาน 100 คน ต้องจ้างคนพิการ 1 คน แต่ถ้าบริษัทหาคนพิการไม่ได้ ก็จะนำเงินที่เท่ากับจ้างคนพิการไปมอบให้กองทุน ซึ่งช่วยให้กองทุนสำหรับคนพิการเติบโตขึ้น แต่บุคคลเหล่านี้ก็จะยังคงว่างงานอยู่ ซึ่งกองทุนนี้จะต้องสร้างสิ่งที่เป็นแรงกระเพื่อม เช่น การทำให้บริษัทต่างๆ ได้รับรู้ว่าพวกเขาอยู่ตรงนี้ หรือมีที่ให้กับพวกเขาสำหรับการสำเร็จการศึกษา”

ผศ.ดร.ชนิศา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันต้องชี้ว่าข้อมูลจากสถิติที่จดทะเบียนของคนพิการยังน้อยกว่าความเป็นจริง ทำให้สวัสดิการที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ทัศนคติของคนในสังคมยังต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้รับรู้ว่าบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและคนพิการมีจำนวนมากและควรที่จะเตรียมสวัสดิการให้พร้อมสำหรับบุคคลเหล่านี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นสังคมผู้พิการมานานมากแล้ว แต่ว่าบุคคลเหล่านี้ยังไม่กล้าแสดงตัวออกมา เพราะมีการตีตราทางสังคม ซึ่งสังคมต้องร่วมกันเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้

ขณะที่เทรนด์ในโลกปัจจุบันนี้ คือ การที่บริษัท หรือองค์กรระดับโลกให้ความสำคัญกับความหลากหลายในการทำงาน โดยรวมถึงบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและคนพิการ โดยไม่เลือกปฏิบัติและใช้คำว่า “ความหลากหลาย” แทนคำว่า “คนพิการ” ซึ่งเป็นการอัพเกรดบริษัทและสามารถทำได้ดี

“โดยศักยภาพและการจ้างงานบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและคนพิการ นำมาสู่คำว่า ‘ฉันทำได้’ สิ่งหนึ่งที่เน้นย้ำเลยคือ คำว่า ‘ฉัน’ ต้องมาจากเขา พอมาจากเขา ในแววตา ในสิ่งที่เขามั่นใจ ซึ่งจะทำให้เขาบอกโลกว่า ‘ฉันทำงานได้นะ ฉันทำได้ทุกอย่างเหมือนที่คนอื่นๆ ทำได้ และไม่เหมือนกับคนอื่นๆ ที่คิดว่าฉันทำงานไม่ได้’ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนความคิดและทัศนคติใหม่ การจัดงานนี้ขึ้นมา คือ การให้สังคมได้เห็นว่ามีผู้คนที่สามารถทำได้เยอะมาก และไม่ว่าจะหน่วยงานไหนๆ ก็สามารถจ้างงานคนพิการได้ นี่คือมาตรฐานใหม่ของโลกเรา” ผศ.ดร.ชนิศา กล่าว

ปรับมายด์เซ็ทใหม่ คนพิการทำได้ทุกอย่าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image