‘ริโก้’ แห่งแรกในไทย เปิดห้องพยาบาลในโรงงานใช้ ‘งบบัตรทอง’ ดูแลสุขภาพผู้ประกันตน

‘ริโก้’ แห่งแรกในไทย เปิดห้องพยาบาลในโรงงานใช้ ‘งบบัตรทอง’ ดูแลสุขภาพผู้ประกันตน

วันนี้ (18 เมษายน 2567) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ร่วมกับ นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่ บริษัทริโก้ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด จ.ระยอง เพื่อเยี่ยมชมต้นแบบห้องพยาบาลในโรงงานแห่งแรกของประเทศไทย ที่ขึ้นทะเบียนเป็น หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท เพื่อให้บริการเสริมสุขภาพฯ กับพนักงานในโรงงานกว่า 4,200 คน

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า สปสช.นอกจากจะดูแลด้านการรักษาพยาบาลแก่ผู้มีสิทธิบัตรทองแล้ว ยังจัดงบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพฯ แก่คนไทยทุกคนทุกสิทธิ ซึ่งรวมถึงกลุ่มพนักงานโรงงานที่เป็นผู้ประกันตนด้วย อย่างไรก็ดี เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีเวลาการทำงานที่แน่นอน จึงไม่สะดวกไปรับบริการตามสิทธิประโยชน์ที่ สปสช. เตรียมไว้ให้ ทำให้ที่ผ่านมา อัตราเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ มีจำนวนไม่ถึงร้อยละ 40-45 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด

Advertisement

“ดังนั้น เพื่อให้กลุ่มพนักงานในโรงงานได้เข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ สปสช. จึงได้เชิญชวนสถานประกอบการที่มีห้องพยาบาลและมีแพทย์หรือพยาบาลคอยให้บริการ ตามกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ.2548 สมัครร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทอง ประเภท หน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อให้บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ในระบบบัตรทองกับกลุ่มพนักงานในโรงงานได้ โดยเบิกค่าบริการตามหลักเกณฑ์การจ่ายกับ สปสช. นับเป็นประโยชน์ในการช่วยให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการได้โดยสะดวกและไม่เสียเวลาทำงาน หากตรวจพบอาการเจ็บป่วยยังสามารถใช้สิทธิประกันสังคมเข้ารับการรักษาได้ตามปกติ” ทพ.อรรถพร กล่าว

Advertisement

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า บริษัท ริโก้ แมนูแฟคเจอริ่งฯ ได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงาน และเป็นบริษัทแรกของประเทศไทย ที่ได้ขึ้นทะเบียนห้องพยาบาลของโรงงานเป็นหน่วยบริการฯ กับ สปสช. โดยจะให้บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ตั้งแต่การประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพกาย/สุขภาพจิต ประเมินภาวะเครียด-ซึมเศร้าและให้คำปรึกษา การแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคล บริการตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV) ด้วยชุดตรวจด้วยตนเองพร้อมให้คำปรึกษา บริการตรวจการตั้งครรภ์ (ตรวจปัสสาวะ,ชุดทดสอบ) บริการวางแผนครอบครัวและการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ได้แก่ บริการถุงยางอนามัยพร้อมให้คำปรึกษา ยาเม็ดคุมกำเนิด ชนิดฮอร์โมนรวมสำหรับหญิงปกติทั่วไป บริการยาเสริมธาตุเหล็ก บริการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี และซี บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (HPV DNA test)

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า นอกจากในโรงงานเอกชนแล้ว หน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจก็สามารถขึ้นทะเบียนห้องพยาบาลของหน่วยงานเป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านสร้างเสริมสุขภาพฯ กับ สปสช. ได้เช่นกัน ดังนั้น สปสช.จึงขอเชิญชวนทั้งโรงงาน หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ มาร่วมยกระดับห้องพยาบาลเพื่อร่วมให้บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ กับบุคลากรกับ สปสช. โดยสอบถามเพิ่มเติมผ่านสายด่วน สปสช.1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อที่ สปสช. เขต สำหรับขั้นตอนการขึ้นทะเบียนนั้นไม่ยุ่งยาก เพียงขึ้นทะเบียนกิจการสถานพยาบาล (สพ.อ.2) การประกอบกิจการสถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน เพื่อเป็นสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ พนักงานลูกจ้างหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง และนำมาขอยื่นขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับ สปสช.

“หลังจากนี้ สปสช.หวังว่าจะมีอีกหลายๆ โรงงาน หลายๆ หน่วยงานที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบกับ สปสช. เพื่อสุขภาพดีของพนักงานทุกคน” ทพ.อรรถพร กล่าว

นายณัฐพล นิมิตรัตนวงศ์ ผู้จัดการทั่วไป ส่วนทรัพยากรบุคคลและบริหารงานทั่วไป บริษัท ริโก้ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทริโก้ฯ ประกอบกิจการผลิตเครื่องพิมพ์ เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องโทรสาร ชิ้นส่วนอุปกรณ์และชิ้นส่วนรถยนต์ พนักงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและอยู่ในช่วงอายุ 18-25 ปี ขณะที่ MR.JUNICHI SUGIYAMA ประธานบริษัทฯ ก็ให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงาน จึงสนับสนุนให้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. และจัดบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ตรงต่อปัญหาสุขภาพของพนักงาน

“เรามีพยาบาลประจำของเราเอง รวมทั้งมีแพทย์และพยาบาลพาร์ท ไทม์ (part time) เข้ามาดูแล การทำงานส่วนแรกจะเป็นเรื่องการตั้งรับ ป่วยก็ให้การรักษา และอีกส่วนคือ การให้บริการเชิงรุก มีบริการวัคซีนวัณโรคและวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกคนปีละ 1 ครั้ง และปีนี้เป็นปีแรกที่ให้วัคซีน HPV นับเป็นเรื่องของความตั้งใจของบริษัทที่มีเป้าหมายให้พนักงานทุกคนของเรามีสุขภาพดี” นายณัฐพล กล่าวและว่า ส่วนการสนับสนุนจาก สปสช. เพื่อดูแลพนักงานก่อนป่วยนั้น เป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ อย่างยิ่งในระยะยาว ที่มีผลลัพธ์คือ พนักงานมีสุขภาพที่แข็งแรง และในอนาคตอยากให้โรงงานอื่นๆ มีเป้าหมายเดียวกัน คือทำอย่างไรให้พนักงานไม่ป่วย เพราะสิ่งที่บริษัทต้องการคือประสิทธิภาพ ดังนั้น บุคลากรเป็นหัวใจสำคัญของการผลิต ถ้าสามารถดูแลให้พนักงานมีสุขภาพที่ดี ก็เป็นเรื่องที่ดีทั้งต่อตัวพนักงานแและต่อโรงงานเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image