‘หมอรุ่งเรือง’ แนะวิธีรับมือสารแอมโมเนีย ผู้ได้รับผลกระทบต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

“หมอรุ่งเรือง” อธิบดี วศ. แนะวิธีรับมือสารแอมโมเนีย ผู้ได้รับผลกระทบต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด อาจอันตรายเสียชีวิต พบอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์

จากกรณีเกิดการรั่วไหลของ “สารแอมโมเนีย” อย่างรุนแรง มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 160 คน เหตุเกิดภายในโรงงานน้ำแข็งราชา เลขที่ 54 ถนนชัยพรวิถี (ซอยหนองปรือ) หมู่ 12 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งในที่เกิดเหตุพบว่ามีกลุ่มควันสีขาวลอยพวยพุ่งอยู่ในชั้นอากาศสูงจากพื้นดินประมาณ 3-4 เมตรในปริมาณมาก ซึ่งมีกลิ่นคล้ายสารแอมโมเนียใช้ในการผลิตน้ำแข็ง เมื่อสูดเข้าไปจะมีอาการแสบคอ หายใจไม่ออก และแสบตาอย่างมาก

วันที่ 18 เมษายน นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ข้อมูลว่า “แอมโมเนีย” ชื่อทางเคมี คือ แอมโมเนีย แอนไฮดรัส (Ammonia Anhydrous) สูตรเคมี คือ NH₃ มวลโมเลกุล 17.03 จุดเดือด -33.35 องศาเซลเซียส จุดหลอมเหลว -77.7 องศาเซลเซียส มีสถานะทั้งที่เป็นของเหลวและก๊าซ ตามที่เป็นข่าวนั้นคือ แอมโมเนียในสถานะก๊าซเป็นก๊าซที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนรุนแรง สามารถละลายน้ำได้ดี จัดเป็นสารเคมีอันตรายประเภท ก๊าซพิษและกัดกร่อน (Gases-Corrosive) เนื่องจากมีจุดเดือดต่ำ ราคาถูก ไม่ทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศเมื่อเทียบกับสารทำความเย็นคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) ชนิดอื่นๆ และมีประสิทธิภาพสูงในการทำความเย็นจึงนิยมนำมาเป็นสารนำความเย็นในระบบทำความเย็นโดยเฉพาะโรงงานทำน้ำแข็งและอุตสาหกรรมห้องเย็น เมื่อเกิดการรั่วไหลก๊าซแอมโมเนียจะรวมตัวกับความชื้นในอากาศทําให้เกิดเป็นหมอกควันสีขาวของแอมโมเนียมไฮดรอกไซด์

Advertisement

นายแพทย์รุ่งเรืองกล่าวว่า ก๊าซแอมโมเนียมีความเป็นพิษและอันตรายต่อมนุษย์ในลักษณะความเป็นพิษเฉียบพลัน (Acute toxic) ถ้าได้รับปริมาณน้อยๆ อยู่เป็นประจำจะมีอาการพิษเรื้อรัง ถ้าได้รับปริมาณสูงทำให้เสียชีวิตได้ในทันที โดยมีอันตรายต่อร่างกาย ประกอบด้วย

1.สัมผัสทางการหายใจ: การหายใจเข้าในปริมาณมากกว่า 25 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ทำให้ระคายเคืองจมูกและคอ ถ้าได้รับในปริมาณมากจะหายใจติดขัด เจ็บหน้าอก หลอดลมบีบเกร็ง มีเสมหะและปอดบวม มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง อาเจียน ความดันโลหิตเพิ่ม
2.สัมผัสทางผิวหนัง: ถ้าได้รับปริมาณมากในระยะสั้นๆ ทำให้เกิดอาการคันที่ผิวหนัง เป็นผื่นแดง บวม เป็นแผล ถ้าได้รับปริมาณมากๆ และมีความเข้มข้นสูงทำให้ผิวหนังไหม้แสบ บวม เป็นน้ำเหลืองจากความเย็น
3.สัมผัสถูกตา: ทำให้เจ็บตา ตาบวม น้ำตาไหล คันที่ดวงตา ถ้าได้รับซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง ในระยะยาวทำให้เกิดอาการระคายเคืองเรื้อรังต่อตาอย่างถาวร
4.การกินเข้าไป: ทำให้เกิดอาการแสบไหม้บริเวณปาก คอ หลอดอาหารและกระเพาะอาหาร
5.ทำลาย ไต ตับ ปอด ในกรณีที่ได้รับสารแอมโมเนียจำนวนมาก

Advertisement

 

ทั้งนี้ หากพบอาการผิดปกติจากก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลและมีอาการตาอักเสบ น้ำตาไหล หายใจหอบถี่ แสบคอ จมูก หรือผิวหนังอักเสบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและพบแพทย์โดยทันที นอกจากนี้หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่วางไว้ในบ้านและไม่มีการป้องกันช่วงเกิดเหตุ เพราะอาจได้รับก๊าซแอมโมเนียเข้าสู่ร่างกายได้ ในด้านป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหมั่นสังเกตความผิดปกติ ถ้าได้กลิ่นก๊าซแอมโมเนียให้รีบอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ไปยังจุดที่ปลอดภัยไม่ได้รับกลิ่นก๊าซดังกล่าว ซึ่งถ้าไม่สามารถอพยพได้ให้อยู่ในบ้านรีบปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด พร้อมสวมใส่หน้ากากป้องกันสารเคมีตลอดเวลาเพื่อไม่ให้รับสัมผัสสูดดมก๊าซพิษเข้าสู่ร่างกาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image