รับสมัครเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์อุทยานฯ ร่วมสอดส่องไฟป่า ค่าตอบแทนเดือนละ 9,000

เครือข่าย อส.อส.กับการมีส่วนร่วม ช่วยลดไฟป่าให้เหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์ งานกลับใจ ที่ต้องช่วยกัน ในทุกภาคส่วน

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการจัดตั้งเครือข่ายการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อดำเนินการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในทุกพื้นที่ของประเทศ

นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กล่าวว่า เรามีเครือข่ายกว่า 1,600 เครือข่ายทั่วประเทศ เป็นอาสาสมัครที่จะเข้ามาช่วยในงานแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือ อส.อส. เกิดขึ้นเพื่อสร้างจิตสำนึก และให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับภัยอันตรายที่เกิดจากไฟป่า อีกทั้งยังป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาไฟป่าฝุ่นพิษ PM2.5 ในพื้นที่อนุรักษ์และป่าสำคัญอื่นๆ

ผอ.สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กล่าวว่า กรมอุทยานฯจะจ้างประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่ามาประจำจุดเฝ้าระวังไฟป่า และให้ค่าตอบแทนเดือนละ 9,000 บาท มีกรอบการว่าจ้าง 2 เดือนครึ่ง ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม-31 พฤษภาคมนี้ เฉลี่ยวันละ 300 บาท ตั้งไว้ 1,582 จุดในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จุดละ 3 คน ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertisement

โดยเฝ้าระวังไม่ให้เกิดไฟ หากมีอุณหภูมิที่ร้อนและสูงขึ้นอาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในพื้นที่ดับไฟป่าได้ รวมทั้งความอ่อนล้าของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานมาตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ และเบื้องต้นกรมอุทยานฯจัดเวลาและแบ่งกำลังพลออกไปทำงานและพักผ่อน 2-3 วัน สับเปลี่ยนกำลังลดความเหนื่อยล้าให้ได้มากที่สุดและป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพร่างกายระหว่างเข้าดับไฟป่าในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จึงเกิดเครือข่ายดังกล่าวเข้ามาช่วยกันแบ่งเบาเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน

นายนฤพนธ์กล่าวว่า เครือข่าย อส.อส.ตั้งไว้กว่า 1,600 หมู่บ้าน ประชาชนทั่วไปเป็นสมาชิกได้หมด ปีนี้ชาวบ้านช่วยกันเต็มที่ สถานการณ์ไฟป่ามีความรุนแรงในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอนกับเชียงใหม่ แต่ที่ผ่านมาถ้าเปรียบเทียบปีนี้กับปีที่แล้วไฟป่าลดลงถึง 38% และคนจุดไฟจำนวนมาก ที่กลับมาเข้าร่วมเครือข่ายนี้และกลับใจมาช่วยกันดับไฟ

Advertisement

สำหรับการทำงานของเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯจะคอยประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนในชุมชน ทำหน้าที่หลัก คือการช่วยประชาสัมพันธ์

“เราจะมีเจ้าหน้าที่ออกสำรวจว่าชาวบ้านในหมู่บ้านไหนสนใจเป็นเครือข่ายนี้ สามารถยื่นใบสมัครได้เลย รัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนให้กลุ่มละ 50,000 บาท เพื่อให้เครือข่ายไปซื้ออุปกรณ์ดับไฟ ทั้งการจัดซื้อเครื่องเป่าลม ค่าประกอบเลี้ยง อุดหนุนกิจกรรมในหมู่บ้านในการป้องกันไฟป่า และอื่นๆ เชื่อว่างบประมาณส่วนนี้จะช่วยควบคุมและลดไฟป่าให้มีประสิทธิภาพขึ้น

ที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับดีมากและยังมีแนวโน้มที่จำนวนสมาชิกจะมีเพิ่มขึ้นทุกภาคส่วนเพราะทุกคนอยากมาช่วยกันดับไฟ ทั้งจังหวัด ทั้งทหารมาช่วยกันหมด และชาวบ้านเริ่มเห็นโทษของ PM2.5 มีชาวบ้านกลับใจจากการคนเคยจุดไฟเผาป่ามาเข้าร่วมจำนวนมากขึ้น” นายนฤพนธ์กล่าว

สำหรับการทำงานของสมาชิกเครือข่าย อส.อส. จะมีเจ้าหน้าที่สถานีไฟป่าคอยแนะนำ ติดตามและไปอยู่ด้วย เราไม่ได้เน้นให้เขาดับไฟ แต่เราเน้นให้เขาแจ้งเหตุ แจ้งเตือน เพราะการจะเข้าไปดับไฟป่ามีอันตราย ไม่ปลอดภัย เครือข่าย อส.อส.จึงทำหน้าที่ในการช่วยประชาสัมพันธ์ เป็นหูเป็นตาให้กับหมู่บ้านของตนเอง ช่วยแจ้งเหตุไม่ให้เพื่อนบ้านไปจุดไฟ แจ้งหตุในการป้องกันการเกิดไฟ เพื่อให้สามารถดับได้รวดเร็วทันที ไม่เกิดการลุกลาม

การจัดตั้งเครือข่าย อส.อส.จึงเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรภาครัฐอย่างยั่งยืนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image