บุหรี่ไฟฟ้ารุกคืบเด็ก-เยาวชน 5.3 เท่า สสส.สานพลัง 1,794 อปท.ทั่วไทย คิกออฟชุมชนปลอดควัน

บุหรี่ไฟฟ้ารุกคืบเด็ก-เยาวชน 5.3 เท่า สสส.สานพลัง 1,794 อปท.ทั่วไทย คิกออฟชุมชนปลอดควัน

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ จัดงาน Kick Off ชุมชนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ สร้างสังคม ลด ละ เลิกบุหรี่ ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพในระดับชุมชน

 

Advertisement

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากผลการสำรวจของการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey: GYTS) ปี 2565 พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็ก และเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นก้าวกระโดดจากร้อยละ 3.3 ในปี 2558 เพิ่มเป็นร้อยละ 17.6 ในปี 2565 เพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็ก และเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ จะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ เพราะเด็กที่ติดบุหรี่ไฟฟ้า โอกาสจะเลิกสูบได้ยาก เนื่องด้วยบุหรี่ไฟฟ้าเสพติดหนักกว่าติดบุหรี่ธรรมดา อีกทั้งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายไม่น้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา โดยเฉพาะหลักฐานที่บ่งว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เป็นมะเร็งได้

“อัตราการสูบบุหรี่ของไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2534-2564 กลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป มีอัตราการสูบบุหรี่ในเขตเทศบาลมากถึงร้อยละ 15.6 และนอกเขตเทศบาล ร้อยละ 19 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จึงมีส่วนสำคัญในการเข้ามามีบทบาทดำเนินงานควบคุมบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดี สำหรับเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นอย่างมีสุขภาพดี ห่างไกลจากบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และยาเสพติด” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

Advertisement

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลรุนแรง ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสูงภาพสูง โดยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 2-4 เท่า เพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งปอด 25 เท่า ข้อมูลจากรายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทยปี 2562 โดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ พบว่า บุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญต่อการเสียชีวิตในประชากรไทยร้อยละ 15.6 โดยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากที่สุด 22,561 คน คิดเป็นร้อยละ 26.1

นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า จุดเน้นในการดำเนินงานควบคุมยาสูบของ สสส. คือ การพัฒนาศักยภาพเครือข่าย ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชน ครอบครัว ในการดำเนินงานควบคุมยาสูบ โดยในระยะที่ผ่านมา สสส. ได้สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นดำเนินงานดูแลสุขภาพชุมชน ควบคุมยาสูบ สารเสพติด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน และได้สนับสนุนมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ดำเนินโครงการพัฒนาสมรรถนะนักขับเคลื่อนนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบระดับท้องถิ่น

“อปท.ถือเป็นองค์กรหลักที่ดูแลประชาชนในชุมชนท้องถิ่นในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการลดอัตราการสูบบุหรี่ให้สำเร็จ ต้องอาศัยศักยภาพ และพลังของเครือข่ายนักรณรงค์ในระดับท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ส่งเสริม และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับทราบสถานการณ์ และร่วมกันแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมพื้นที่ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ทั้งด้านการพัฒนากำลังคน การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ การสร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ การบังคับใช้กฎหมาย และการบำบัดรักษาผู้ติดบุหรี่ ทั้งนี้ กิจกรรม Kick Off ชุมชนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสานพลัง และการสร้างความร่วมมือกับท้องถิ่นในการร่วมขับเคลื่อนการทำงานเพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ นำไปสู่การลดอัตราการสูบบุหรี่ในระดับพื้นที่ในอนาคต” นพ.ไพโรจน์ กล่าว

นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ กรรมการกองทุน สสส. และ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 กล่าวว่า สสส. ดำเนินงานขับเคลื่อนงานตำบลสุขภาวะในประเด็นการควบคุมการบริโภคยาสูบตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันมี อปท. สะสมเป็นจำนวน 1,794 แห่งทั่วประเทศ โดยแผนสุขภาวะชุมชนมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นกับการควบคุมการบริโภคยาสูบ ใน 7 แนวทาง คือ 1.รณรงค์ทุกระดับ สร้างบุคคลต้นแบบจากผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ หรือผู้ที่เลิกบุหรี่ ต้นแบบครอบครัว ลด ละ เลิก สร้างอาสาสมัคร เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ 2.จัดสภาพแวดล้อม เช่น ร้านค้าปลอดบุหรี่ สร้างเครือข่ายสถานบริการปลอดบุหรี่ 3.สร้างกติกาหรือมาตรการทางสังคม 4.สร้างมาตรการขององค์กร กลุ่มทางสังคม หน่วยงาน เช่น ที่ทำงานปลอดบุหรี่ อปท.ปลอดบุหรี่ ครัวเรือนปลอดบุหรี่ 5.บังคับใช้กฎหมายการควบคุมยาสูบ 6.เสริมทักษะบุคคลครอบครัว พัฒนาหลักสูตร ศูนย์ฝึกอาชีพ ให้ห่างไกลจากบุหรี่ และ 7.จัดตั้งศูนย์บำบัด และฟื้นฟูในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) พัฒนาหมอพื้นบ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มสมุนไพร นวดกดจุด สู่การลด ละ เลิก สร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่ตั้งแต่ระดับชุมชน

นายภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม กล่าวว่า สสส.สนับสนุนองค์ความรู้ และแนวทางการทำงานชุมชนปลอดบุหรี่ โดยเทศบาลเมืองมหาสารคาม ได้ดำเนินงานชุมชนปลอดบุหรี่ 5 มาตรการ 1.นโยบายในการควบคุมบริโภคยาสูบ 2.จัดสถานที่เขตปลอดบุหรี่ ติดสัญลักษณ์พื้นที่ห้ามสูบ เฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจ เตือน 3.จัดกิจกรรมให้ความรู้และรณรงค์ 4.จัดทำแผนการดำเนินงาน กำหนดบทบาทการทำงาน และผู้รับผิดชอบ 5.สนับสนุนให้เกิดการเลิกบุหรี่ เกิดระบบส่งต่อไปยังสถานบริการฟื้นฟู หรือคลินิกปลอดบุหรี่ จากมาตรการทั้งหมดทำให้ปัจจุบันเกิดบุคคลต้นแบบกว่า 60 คน บ้านปลอดบุหรี่ 2,307 หลัง ชุมชนต้นแบบ 4 ชุมชน ร้านค้าปลอดบุหรี่ 305 ร้าน มีตาสับปะรด คอยสอดส่องดูแล 775 คน มี อสม. และ อพปร. ที่คอยเฝ้าระวัง ป้องกันปัญหาบุหรี่ และยาสูบอื่นๆ กว่า 850 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image