กรมพัฒน์ฯ จับมืออาชีวะอัพสกิลเยาวชนพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้

กรมพัฒน์ฯ จับมืออาชีวะอัพสกิลเยาวชนพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม น.ส.บุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน            มอบหมาย น.ส.อาภากร ว่องเขตกร ผู้ตรวจราชการกรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ทางวิชาการ ระหว่าง กพร. กับ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 3 โดยมี นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธาน ณ หอประชุมวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เตรียมอัพสกิล (Up-Skill) นักเรียนอาชีวะภาคใต้ 5 จังหวัด สร้างแรงงานคุณภาพได้มาตรฐานป้อนตลาดแรงงาน

น.ส.บุปผา เปิดเผยว่า นักเรียน นักศึกษา เป็นกลุ่มแรงงานเป้าหมายที่กรมเร่งดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อให้มีความพร้อมในการทำงานหลังจากจบการศึกษา โดยเน้นนักเรียน นักศึกษาในชั้นปีสุดท้าย ซึ่งนักเรียนอาชีวะได้รับการศึกษาในด้านอาชีพ ตลาดแรงงานมีความต้องการรับเข้าทำงานเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ทำความร่วมมือส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำให้แก่นักเรียน นักศึกษา มาตั้งแต่ปี 2565 เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานและยกระดับทักษะฝีมือให้ได้มาตรฐาน และเพื่อเน้นย้ำความร่วมมือ จึงมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกรม ร่วมลงนามความร่วมมือกับสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 3 เพื่อร่วมกันฝึกอบรมให้นักเรียนอาชีวะใน 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยจะร่วมกันให้การสนับสนุนการฝึกอบรม และทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมินความรู้ความสามารถ และการจัดตั้งศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามความต้องการของตลาดแรงงาน โดยทั้งสองหน่วยงานจะประสานรายละเอียดการดำเนินงานร่วมกันในระดับพื้นที่ต่อไป

Advertisement

ด้าน น.ส.อาภากร กล่าวภายหลังลงนามว่า ความร่วมมือส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำให้แก่นักเรียน นักศึกษา มีวัตถุประสงค์ในการบูรณาการการพัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษา ให้มีความรู้ความสามารถและทักษะฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อส่งเสริมการมีงานทำ แรงงานมีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต และการพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมให้สอดคล้องกับหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 193 หลักสูตร และสอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และเพื่อนำไปสู่การเข้าระบบสะสมในธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ในระดับ ปวช./ปวส.โดยเชื่อมโยงหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาช่างไฟฟ้ากำลัง กับมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาอาชีพช่างไฟฟ้า ระดับ 1 จำนวน 10 สาขาอาชีพ รวมทั้งสิ้น 149 รายวิชา

“ผู้สนใจฝึกอบรม/ทดสอบมาตรฐานฝีมือ สามารถสมัครได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทุกจังหวัด หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” น.ส.อาภากร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image