กทม.เรียกถกแก้ปัญหา ‘ฝาท่อ’ จ่อปรับเป็นซีเมนต์หมด กฟน.เริ่มแล้ว ใช้ AI เตือนจุดทรุดตัว

กทม.เรียกถกหน่วยงานสาธารณูปโภค แก้ปัญหาฝาท่อหาย เข้มมาตรการก่อสร้างใต้ดิน นำ AI แจ้งเตือนดินทรุด นำร่องถนนพระรามที่ 3

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 6 อาคารสำนักการโยธา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุม หน่วยงานสาธารณูปโภคภายนอก และหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับฝาท่อของ กทม.ทั้งหมดเพื่อหารือมาตรการความปลอดภัยเรื่องฝาท่อ ประกอบด้วย สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การประปานครหลวง (กปน.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT และ กรมทางหลวง

นายณรงค์กล่าวว่า มาตรการป้องกันและแก้ปัญหาเบื้องต้น กฟน.จะมีการตรวจสอบ เช่น สภาพของบ่อพัก หรืองานก่อสร้างส่วนใดที่ไม่เรียบร้อยและไม่ปลอดภัยต้องตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบฝาบ่อพักให้มีลักษณะเป็นวัสดุที่คงทนแข็งแรง มีความสามารถในการรับน้ำหนักและปลอดภัย

Advertisement

ส่วนการรับเรื่องร้องเรียนผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์ที่ กทม.แจ้งไปทาง กฟน.จะมีการตรวจสอบแก้ไขภายใน 24 ชม. รวมถึงกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่ก่อนการก่อสร้าง เริ่มการก่อสร้าง และหลังการก่อสร้าง ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย

“กทม.ตระหนักและให้ความสำคัญการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ซึ่งจุดนี้ต้องมีการสื่อสารเพิ่มเติม หรือรายงานติดตามกับหน่วยงานที่ดำเนินการว่าสิ่งที่แก้ไขไปแล้วเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยหรือไม่ ซึ่งเป็นมาตรการที่ต้องกำชับต่อไป” นายณรงค์กล่าว

นายณรงค์กล่าวด้วยว่า ส่วนเหตุการณ์ผู้ขี่รถจักรยานยนต์เสียหลักล้มในอุโมงค์แยกมไหสวรรย์ ทำให้ผู้ขับขี่พลัดตกลงไปในร่องระบายน้ำเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2567 เป็นพื้นที่ของ กทม.รับผิดชอบ โดยอุโมงค์ทางลอดแห่งนี้ไม่อนุญาตให้รถจักรยานยนต์สัญจรผ่าน เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่าฝาตระแกรงเหล็กถูกขโมยหายไป ได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องมีมาตรการตรวจสอบและติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ระหว่างการหาแนวทางร่วมกัน หาเทคนิควิธีการป้องกันการขโมยตระแกรงเหล็ก (อ่านข่าว : สลดอีก หนุ่มขี่จยย.กลับที่พัก รถเสียหลักพลัดตกท่อ ในอุโมงค์มไหสวรรย์ สุดยื้อเสียชีวิตที่รพ.)

Advertisement

“สำหรับฝาท่อในอุโมงค์ทางลอดมีความกว้างประมาณ 1 เมตร เพื่อเป็นทางเดินในการเข้าไปซ่อมบำรุงรักษาระบบสูบน้ำ และระบบระบายน้ำภายในอุโมงค์ รวมถึงมีการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบว่าบริเวณนี้มีบ่อพัก เพื่อหลีกเลี่ยงพร้อมกับกำชับเจ้าหน้าที่หากเกิดปัญหาจะต้องแก้ไขภายใน 24 ชั่วโมง” นายณรงค์กล่าว

ขณะที่ นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีอุบัติเหตุในอุโมงค์มไหสวรรย์ ในระยะสั้น กทม.จะตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงกรณีฝาท่อที่ถูกขโมยและไม่ได้มีการแก้ไขถึงแม้จะมีการแจ้งความแล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันนี้ได้มีการนำฝาท่อซีเมนต์มาปิดครบแล้ว

“ในระยะยาวตะแกรงเหล็กที่ถูกขโมย กทม.จะปรับเป็นฝาท่อซีเมนต์ ขณะเดียวกันจะมีการประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ตรวจตราร้านค้าที่รับซื้อของเก่าจากทางราชการ รวมไปถึงฝาท่อรวมไปถึงสายไฟและอื่นๆ” นายธวัชชัยกล่าว

ด้าน นายสถิตย์ พงศธรวิบูลย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟน.มีบ่อพักในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 1,877 บ่อ มีทั้งบ่อที่ก่อสร้างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จากการตรวจสอบจุดฝาบ่อทั้งหมดรวมถึงในพื้นที่ จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ พบว่าฝาบ่อเหล็กที่เหลือทั้งหมดอยู่ในสภาพดี ส่วนฝาบ่อชั่วคราวก็เป็นไปตามมาตรการที่ได้เสนอเจ้าของพื้นที่ไว้แล้ว

“กฟน.ได้นำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในการตรวจสอบ มอนิเตอร์แบบเรียลไทม์ เมื่อสถานที่ก่อสร้างมีการทรุดตัว เสี่ยงก่อให้เกิดอุบัติเหตุ AI จะมีการแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบให้รีบดำเนินการแก้ไข ซึ่งมีการทดลองติดตั้งแล้วบริเวณถนนพระรามที่ 3 เขตยานนาวา อยู่ระหว่างการศึกษาและติดตามผลการทำงาน” นายสถิตย์กล่าว

นายสถิตย์กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการรายงานการตรวจสอบฝาบ่อพักชั่วคราวทั้งหมด จะมีทั้งการตรวจสอบรายวันในช่วงเช้าและบ่าย การสุ่มตรวจโดยผู้บริหาร กรณีพบปัญหาจะมีทีมแก้ปัญหาเร่งด่วน นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบโดยวิธีสแกน GPR ในช่วงกลางคืนด้วย โดยมีการรายงานสถานะของบ่อพักผ่าน Google Maps

ทั้งนี้ ลักษณะการปิดฝาบ่อที่ประชาชนตกลงในบ่อเมื่อวันที่ 3 พ.ค.67 คืนสภาพฝาบ่อถาวรแล้ว ไม่มีการปิดฝาแผ่นเหล็กตามมาตรฐาน และวัสดุปิดฝาบ่อชั่วคราวไม่มั่นคงแข็งแรง หลังเกิดเหตุ กฟน.ได้เข้าไปดูแลครอบครัวทันที และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามมาตรการเยียวยาของ กฟน.

นายสถิตย์กล่าวด้วยว่า ในอนาคต กฟน.จะนำฝากลมคอนกรีต UHPC ปิดบ่อพักไฟฟ้าใต้ดิน (UHPC Manhole cover) มาใช้เพื่อลดปัญหาปัญหาฝาเหล็กถูกขโมย ลดปัญหาฝามีเสียงดังเมื่อรถวิ่งผ่าน โดยจะมีส่วนผสมของคอนกรีตและไฟเบอร์ สามารถนำไปแทนที่ฝากเหล็กเดิมได้ทันที จากการทดสอบความคงทนพบว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่าฝาเหล็ก ทดลองติดตั้งถนนชัยพฤกษ์แล้ว ยังไม่พบปัญหาแต่อย่างใด และหากต้องการย้ายจะต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์เฉพาะเพื่อช่วยทุ่นแรงและเกิดความปลอดภัยสำหรับคนทำงาน

นายสถิตย์กล่าวว่า กฟน.ได้รายงานข้อร้องเรียนในระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.67 พบมีเรื่องร้องเรียน 537 เรื่อง แบ่งเป็น เรื่องเกี่ยวกับงานในพื้นที่ทางเท้าและผิวจราจร มลภาวะจากการทำงาน และความปลอดภัย ซึ่งแนวทางแก้ไขได้กำชับให้ผู้รับจ้างปฏิบัติตามคู่มือก่อสร้างงานสาธารณูปโภค พ.ศ.2551 และควบคุมการคืนสภาพผิวจราจรชั่วคราว-ถาวรอย่างเคร่งครัด รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงทราบก่อนดำเนินการก่อสร้างทุกครั้ง ทั้งนี้หากได้รับแจ้งปัญหา กฟน.จะพยายามเข้าพื้นที่เพื่อแก้ไขภายใน 24 ชม.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image